xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: รวันดารำลึกเหยื่อ 800,000 คนที่ถูกสังหารหมู่สุดโหดเมื่อ 25 ปีที่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>(จากซ้าย) ประธานสหภาพแอฟริกา มุสซา ฟาคี, ประธานาธิบดีรวันดา พอล คากามา, ฌอนเนตต์ ภรรยาของเขา, และประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ร่วมกันจุดเปลวเพลิงเตือนย้ำความทรงจำ ในวาระรำลึกครบรอบ 25 ปีเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 1994 ณ อนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คิกาลี ในกรุงคิกาลี ประเทศรวันดา เมื่อวันอาทิตย์ (7 เม.ย.) </i>
รวันดาเริ่มต้นระยะเวลา 100 วันแห่งการไว้อาลัยทั่วประเทศในวันอาทิตย์ (7 เม.ย.) เพื่อรำลึกวาระครบรอบ 25 ปีของเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งผู้คน 800,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 10 ของประชากรทั้งชาติ ถูกปลิดชีพภายในช่วง 100 วันของการสังหารหมู่สุดหฤโหด

พอล คากาเม ประธานาธิบดีของประเทศแอฟริกาตะวันออกเล็กๆ ที่ไร้ทางออกทางทะเลแห่งนี้ เริ่มต้นห้วง 1 สัปดาห์ของกิจกรรมรำลึกต่างๆ ด้วยการจุดเปลวเพลิงเตือนย้ำความทรงจำ ณ อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กรุงคิกาลี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ฝังเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมากกว่า 250,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนชนเผ่าทุตซี่ (Tutsi)

พวกเขาเหล่านี้ยังเป็นเพียงบางส่วนของชาวทุตซี่ และชาวชนเผ่าฮูตู (Hutu) ฝ่ายซึ่งมีแนวคิดสายกลาง ที่ถูกสังหารฆ่าโหดโดยกองกำลังอาวุธชาวฮูตูหัวรุนแรงสุดโต่ง ซึ่งมีทั้งทหารในกองทัพรวันดา และสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครท้องถิ่นที่เรียกขานกันว่า “อินเตราฮัมเว” (Interahamwe) การเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเหี้ยมเกรียมนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 1994 หนึ่งวันภายหลังการลอบสังหารประธานาธิบดีจูเวนัล ฮับยาริมานา ซึ่งเป็นชาวฮูตู

บางคนถูกยิง ส่วนใหญ่ถูกทุบตี หรือถูกฟันด้วยมีดใหญ่

การเข่นฆ่าดำเนินอย่างต่อเนื่องจวบจนกระทั่ง คากาเม ซึ่งเวลานั้นอายุ 36 ปี นำกองกำลังแนวร่วมรักชาติชาวรวันดา (อาร์พีเอฟ) ที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวทุตซี่ เดินทัพเข้าสู่กรุงคิกาลี ในวันที่ 4 กรกฎาคม เพื่อยุติการเข่นฆ่าสังหาร และเข้าควบคุมประเทศที่อยู่ในสภาพวิบัติย่อยยับ

คากาเม ซึ่งปัจจุบันอายุ 61 ปี และเป็นผู้ครองอำนาจในรวันดาโดยตลอดนับตั้งแต่นั้น เป็นผู้นำในการรำลึกไว้อาลัยผู้เสียชีวิตคราวนี้

ต่อไปนี้คือข้อเท็จจริงบางประการของบทตอนที่มืดมิดดำทมิฬที่สุดบทหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ:

-ประธานาธิบดีถูกสังหาร-

คืนวันที่ 6 เมษายน 1994 ประธานาธิบดี จูเวนัล ฮับยาริมานา แห่งรวันดา ซึ่งเป็นชาวฮูตู ที่เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ พร้อมกับประธานาธิบดีไวเปรียน เอ็นตาร์ยามิรา แห่ง บูรุนดี ซึ่งก็เป็นชาวฮูตูเช่นกัน เสียชีวิตเมื่อเครื่องบินที่พวกเขานั่งมาถูกยิงตกเหนือกรุงคิกาลี และคนที่อยู่บนเครื่องตายยกลำ

ฮับยาริมานาเพิ่งกลับจากการเจรจาสันติภาพที่แทนซาเนีย กับพวกกบฏทุตซี่แห่งแนวร่วมอาร์พีเอฟ ซึ่งได้ก่อการกบฏมาตั้งแต่ปี 1990 พวกฮูตูแนวคิดสุดโต่งประณามว่า อาร์พีเอฟ คือผู้ก่อการลอบสังหารครั้งนี้ ขณะที่อาร์พีเอฟบอกว่าพวกฮูตีต่างหากเป็นผู้ยิงเครื่องบินตก เพื่ออ้างเหตุสำหรับการทำพันธุฆาต

-เริ่มต้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์-

วันรุ่งขึ้น พวกทหารวันดาได้สังหารนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นสตรีชาวฮูตูที่มีแนวคิดสายกลาง รวมทั้งทหารพรานชาวเบลเยียม 10 คนที่กำลังทำหน้าที่คุ้มกันเธอตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ในคณะรัฐบาลผสมชุดนั้นซึ่งสมาชิกแทบทั้งหมดเป็นชาวฮูตู

พันธุฆาตในรวันดาเริ่มต้นขึ้นแล้ว!!!

ทหารในกองทัพรวันดา และสมาชิกอินเตราฮัมเว ตั้งด่านปิดกั้นถนนทั่วประเทศ และยกกำลังบุกเข้าตรวจค้นไปทีละบ้าน ฆ่าชาวทุตซี่และชาวฮูตูแนวคิดสายกลางทั้งที่เป็นชาย, หญิง, และเด็กๆ

พวกผู้นำชาวฮูตูส่ง “บัญชีสังหาร” ให้สมาชิกอินเตราฮัมเวที่คุ้นเคยกับชุมชนท้องถิ่น ทำให้พวกเขาทราบเป้าหมายและที่อยู่ของเหยื่อ ขณะที่สถานีวิทยุมิลเลอ กอลลีน (Mille Collines) ป่าวร้องคำโฆษณาชวนเชื่อให้เกลียดชังชาวทุตซี่ โดยเรียกพวกเขาว่าเป็น “แมลงสาบ” ส่วนพวกเจ้าหน้าที่และสื่อต่างๆ ก็ยั่วยุสามัญชนชาวฮูตู เข้าสังหารหมู่, ปล้นชิง, และข่มขืนชาวทุตซี่
<i>ภาพถ่ายเมื่อ 22 มี.ค. 2019 แสดงให้เห็นหัวกะโหลกของเหยื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พันธุฆาตปี 1994 ซึ่งจัดแสดงที่อนุสรณ์สถานในกรุงคิกาลี </i>
เกิดปรากฏการณ์ชาวบ้านย่านหนึ่งเข้าเข่นฆ่าชาวบ้านอีกย่านหนึ่ง กระทั่งสามีชาวฮูตูก็สังหารภรรยาชาวทุตซี่ของพวกเขา ด้วยความหวาดกลัวว่าตนเองจะถูกฆ่า

ชาวฮูตูจำนวนมากหนีเข้าโบสถ์โดยหวังจะใช้เป็นที่พักพิง ทว่าพวกพระและกระทั่งในบางกรณีก็เป็นแม่ชี กลับแจ้งให้พวกกองกำลังติดอาวุธทราบ และเข่นฆ่าชาวทุสซี่ซึ่งหลบภัยอยู่ โดยมีทั้งใช้วิธีเผาโบสถ์ราบไปเลยหรือไม่ก็ใช้มีดดาบเข้าไล่ฟันแทง

ประมาณกันว่ามีคนถูกสังหารสูงถึงวันละ 10,000 คน 70%ของประชากรที่เป็นชาวทุตซี่ถูกปลิดชีพ และกว่า 10% ของประชากรชาวรวันดาโดยรวมต้องด่าวดิ้นสิ้นชีวิต

ความรุนแรงทางเพศก็ถูกใช้เป็นอาวุธอย่างหนึ่งของการทำสงคราม โดยมีผู้หญิงและเด็กหญิงถูกข่มขืนเป็นจำนวนที่อาจจะสูงถึง 250,000 คน ส่งผลให้มีลูกถือกำเนิดออกมาเป็นพันๆ ราย

พวกฮูตูยังนำคนไข้ติดเชื้อเอดส์ออกมาโรงพยาบาล เพื่อจัดตั้งเป็น “หน่วยข่มขืน” มุ่งทำให้หญิงชาวทุตซี่ติดโรคร้าย ผลก็คือ ผู้รอดชีวิตเรือนพันเรือนหมื่นรวมทั้งลูกๆ ที่เกิดจากการถูกข่มขืน เป็นผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์

-ยูเอ็นก็สกัดขัดขวางไม่ไหว-

ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน กองกำลังทหารพรานของฝรั่งเศสและเบลเยียมได้เข้าอพยพพลเมืองของพวกตนออกจากรวันดา

ในวันที่ 18 เมษายน ขณะที่การเข่นฆ่ายังคงดำเนินอยู่ สภากาชาดแถลงว่ามีผู้คนหลายหมื่นคน บางทีอาจจะถึงแสนๆ คน เสียชีวิตไปแล้ว

หลังจากกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ไม่สามารถปฏิบัติงานเพื่อหยุดยั้งการสังหารหมู่ได้ ในวันที่ 21 เมษายน จึงมีการลดจำนวนพวกเขาลงจากราว 2,500 คน เหลือ 270 คน

อีก 1 สัปดาห์ต่อมา องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ) แถลงว่า รวันดากำลังเกิด “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

ในวันที่ 22 มิถุนายน ฝรั่งเศสเปิด “ยุทธการเทอร์คอยส์” มุ่งใช้กองกำลังที่ได้รับอาณัติจากยูเอ็น เข้าทำหน้าที่ยุติการเข่นฆ่า แต่ปรากฏว่าแทบไม่ได้ผลอะไรเลย

วันที่ 30 มิถุนายน ผู้รายงานพิเศษ (special rapporteur) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แถลงว่า การเข่นฆ่าสังหารคราวนี้ ในทางกฎหมายสมควรที่จะจัดให้เป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และเป็นการกระทำที่ดูเหมือนมีการวางแผนกันเอาไว้ก่อนล่วงหน้า

-การเข่นฆ่ายุติลง-

ในวันที่ 4 กรกฎาคม สมาชิกของกองกำลังอาร์พีเอฟ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวทุตซี่ รวมทั้งได้รับการหนุนหลังจากกองทัพยูกันดา สามารถยึดครองพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และเข้าควบคุมเมืองหลวงคิกาลีเอาไว้ได้ในที่สุด การสังหารโหดเป็นเวลา 100 วันจึงยุติลง

ด้วยความหวาดกลัวว่าจะถูกล้างแค้น ชาวฮูตูราว 2 ล้านคน ซึ่งมีทั้งพลเรือนและพวกที่เกี่ยวข้องกับพันธุฆาตบางส่วน ได้หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, แทนซาเนีย, และบูรุนดี
<i>ภาพถ่ายเมื่อ 22 มี.ค. 2019 แสดงให้เห็นกระดูกของเหยื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พันธุฆาตปี 1994 ซึ่งจัดแสดงที่อนุสรณ์สถานในกรุงคิกาลี </i>
กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มรายงานว่า สมาชิกของอาร์พีเอฟได้เข่นฆ่าพลเรือนชาวฮูตูไปหลายพันหลายหมื่นคนขณะพวกเขาเข้ายึดอำนาจ แต่อาร์พีเอฟปฏิเสธเรื่องนี้

-ศาลระหว่างประเทศ-

เดือนพฤศจิกายน 1994 ยูเอ็นได้จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อรวันดา (International Criminal Tribunal for Rwanda หรือ ICTR) ขึ้นที่แทนซาเนีย เพื่อไต่สวนพิจารณาคดีความผิดของพวกตัวการใหญ่ๆ

เดือนพฤษภาคม 1998 ฌอง คัมบันดา ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างเกิดการสังหารหมู่ รับสารภาพความผิดข้อหาพันธุฆาตและการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เขากลายเป็นคนแรกที่ยอมรับความผิดที่ก่อขึ้นมา

เดือนกันยายน 1998 ศาล ITCR กลายเป็นศาลระหว่างประเทศแห่งแรกที่ตัดสินผู้กระทำความผิดฐานพันธุฆาต โดยพิพากษาว่าอดีตนายกเทศมนตรีผู้หนึ่งมีความผิดฐานปลุกปั่นยุยงให้เกิดการสังหารหมู่ชาวทุตซี่มากกว่า 2,000 คน

ศาลได้ตัดสินลงโทษจำเลยเป็นจำนวนหลายสิบคน บางคนเจอโทษจำคุกตลอดชีวิต ทั้งหมดเป็นชาวฮูตู ศาลแห่งนี้ปิดตัวลงในปี 2015

-ศาลท้องถิ่น-

ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2005 ศาลท้องถิ่นที่ดำเนินการในระดับชุมชนของรวันดา โดยมีชื่อเรียกกันว่า “กาคาคา” (gacaca) ได้เริ่มการไต่สวนพิจารณาคดีความผิดของผู้ที่ต้องสงสัยว่าเข้าร่วมสมคบก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

มีผู้คนเกือบๆ 2 ล้านคนตกเป็นจำเลยในศาลท้องถิ่นจำนวนราว 12,000 แห่ง โดยที่จำเลยเหล่านี้ 65% ถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริง ศาลเหล่านี้ยุติการทำงานในปี 2012

อย่างไรก็ดี ในเวลานี้ยังคงมีคดีที่เกี่ยวข้องไต่สวนพิจารณากันอยู่ในเบลเยียมและในฝรั่งเศส

-ประธานาธิบดีรวันดา-

พอล คากาเม ผู้นำของอาร์พีเอฟ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของรวันดาในเดือนเมษายน 2000 ภายหลังการลาออกของ ปาสเตอร์ บิซิมอุนกู ชาวฮูตูซึ่งนั่งตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1994

คากาเม ยังคงครองอำนาจอยู่จวบจนกระทั่งเวลานี้

ในเดือนพฤศจิกายน 2006 ผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งเสนอแนะให้ศาลอาญาระหว่างประเทศที่หนุนหลังโดยยูเอ็นฟ้องร้องดำเนินคดีเขา เนื่องจากต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการสังหารประธานาธิบดีฮับยาริมานาในปี 1994 ปรากฏว่ารวันดาแสดงปฏิกิริยาด้วยการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส

ในเดือนมกราคม 2012 รายงานซึ่งจัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสชุดหนึ่งสรุปว่า ขีปนาวุธที่ยิงเครื่องบินของฮับยาริมานาตกนั้น ยิงมาจากค่ายแห่งหนึ่งซึ่งกองทัพรวันดายึดครองอยู่

เดือนธันวาคม 2018 คณะผู้พิพากษาฝรั่งเศสยุติการสอบสวนเกี่ยวกับการสังหารฮับยาริมานา ภายหลังดำเนินการเรื่องนี้มายาวนาน และรูปคดีบ่งชี้ไปที่บุคคล 7 คนซึ่งมีความใกล้ชิดกับคากาเม

(เก็บความจากรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีและสำนักข่าวรอยเตอร์)
<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 6 มิ.ย. 1994) ผู้หญิงที่อดอยากหิวโหย ซึ่งเป็นหนึ่งในพลเรือนหลายพันหลายหมื่นคนที่ตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบระหว่างกองทหารรัฐบาลรวันดาในเวลานั้น กับพวกกบฏกลุ่มแนวร่วมรักชาติรวันดา (อาร์พีเอฟ) จิบน้ำนมที่สถานพยาบาลชั่วคราวในเมืองรูฮันโก ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงคิกาลี ราว 48 กิโลเมตร โดยพวกแพทย์ที่นี่บอกว่ามีคนตายไป 20-25 คนทุกวันจากเชื้อโรคและความหิวโหย </i>
<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 27 ก.ค. 1994) เด็กผู้ลี้ภัยชาวฮูตูผู้หนึ่งพยายามปลุกแม่ซึ่งหลับไปจากอาการโรคร้าย ในค่ายผู้ลี้ภัยมูนิกี นอกเมืองโกมา ประเทศซาอีร์ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก </i>
<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 31 พ.ค. 1994) ศพของสตรีผู้หนึ่งและลูกของเธอนอนอยู่ที่โบสถ์แห่งหนึ่งในภาคคริสตจักรเอ็นยารูบูเย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงคิกาลีราว 153 กิโลเมตร ทั้งนี้พวกผู้รอดชีวิตบอกว่าที่จุดนี้เองซึ่งเกิดการสังหารหมู่ในวันที่ 14 เม.ย. โดยฝีมือของสมาชิกกองกำลังอาสาสมัครท้องถิ่น </i>
<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 8 มิ.ย. 1994) เด็กหญิงผู้หนึ่งกอดศพแม่ของเธอ ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 2 วันก่อนเนื่องจากอดอาหาร ภายในโรงสวดของโรงเรียนศาสนา ที่เมืองคับกายี ซึ่งชาวทุตซี่พลัดที่อยู่เข้าไปอาศัย  พวกกบฏสังกัดแนวร่วมอาร์พีเอฟ พบแม่ลูกคู่นี้ภายหลังยึดเมืองนี้ได้จากกองกำลังรัฐบาล โดยพวกผู้รอดชีวิตบอกว่าใช้สถานที่แห่งนี้เป็นค่ายกักกันชาวทุตซี่ </i>


กำลังโหลดความคิดเห็น