เอเจนซีส์ – ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เตือน อัตราเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปีนี้มีแววชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และยังจะวูบลงอีกในปีหน้า เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าอเมริกา-จีน ตลอดจนถึงความเสี่ยงที่อังกฤษอาจถอนตัวจากอียูแบบไร้ระเบียบ และการชะลอตัวรุนแรงของแดนมังกร
รายงานแนวโน้มการพัฒนาของเอเชีย ฉบับล่าสุดที่เอดีบี เผยแพร่เมื่อวันพุธ (3 เม.ย.) คาดหมายว่า เศรษฐกิจของ 45 ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย-แปซิฟิกจะมีอัตราเติบโต 5.7% ในปีนี้ ซึ่งถือว่า ลดลงเล็กน้อยจากที่คาดไว้ 5.8% ในเดือนธันวาคม รวมทั้งลดลงจากอัตราเติบโตในปีที่ผ่านมาที่คาดไว้ที่ 5.9% และ 6.2% ในปี 2017
สำหรับปีหน้านั้น อัตราขยายตัวถูกคาดหมายไว้ที่ 5.6% ถือว่าต่ำที่สุดนับจากปี 2001
ยาสึยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีแถลงว่า ผลพวงจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและอเมริกาอาจบ่อนทำลายการเติบโตและการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เช่นเดียวกับความไม่แน่นอนจากนโยบายการคลังของสหรัฐฯ และความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า “เบร็กซิต” อย่างไร้ระบบ เนื่องจากอาจส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าวูบลง
ความเสี่ยงต่ออัตราเติบโตของเอเชียยังรวมถึงการชะลอตัวรุนแรงของจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก
รายงานระบุว่า โมเมนตัมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้ว ได้เริ่มแผ่วลงในไตรมาสสุดท้าย เช่นเดียวกับการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งยิ่งตอกย้ำความเสี่ยงขณะที่วงจรธุรกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่กำลังมุ่งหน้าสู่แนวโน้มแง่ลบ และแนวโน้มนี้กำลังส่งผลกระทบบางอย่างต่อเอเชีย
เอดีบีคงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้ไว้ที่ 6.3% เท่ากับการคาดการณ์เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่น้อยกว่าการเติบโต 6.6% ในปีที่ผ่านมา แม้ทางการปักกิ่งออกมาตรการกระตุ้นหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการลดภาษีเพิ่มเติมและเพิ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ตาม
ทั้งนี้ จีนกำหนดเป้าหมายการเติบโตของตนเองในปีปัจจุบันไว้ที่ 6-6.5%
อัตราขยายตัวของจีนถูกคาดหมายว่า จะชะลอลงต่ออยู่ที่ 6.1% ในปี 2020 โดยนอกเหนือจากความเสี่ยงด้านการค้าแล้ว เอดีบีชี้ว่า อุปสรรคขัดขวางการเติบโตของจีนยังรวมถึงข้อจำกัดสำหรับ “ธนาคารเงา” ที่คาดว่า จะจำกัดการขยายตัวของสินเชื่อแม้มาตรการกระตุ้นทางการคลังอาจช่วยชดเชยได้บ้างก็ตาม
รายงานเสริมว่า เอเชียใต้ยังคงเป็นภูมิภาคที่โตเร็วที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยตัวเลข 6.8% ในปีนี้ ถึงแม้ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ 7.1% และ 6.9% สำหรับปีหน้า
สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกลดตัวเลขคาดการณ์ของปีนี้ลงจาก 5.1% เหลือ 4.9% เนื่องจากคาดว่า มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทยจะโตช้าลงกว่าที่คาดไว้ ส่วนอัตราขยายตัวปีหน้าอยู่ที่ 5%
อย่างไรก็ตาม เอดีบีคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และอุปสงค์ภายในประเทศเติบโตแข็งแกร่ง
ตรงข้ามกับเอเชียตะวันออกที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ยอดขายรถในจีนที่ดิ่งลงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
รายงานยังเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกทุ่มเททรัพยากรมากขึ้นเพื่อสร้างความยืดหยุ่น และใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันหรือลดภัยพิบัติธรรมชาติ โดยตั้งข้อสังเกตว่า 84% ของประชาชน 206 ล้านคนของทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติในแต่ละปีนับจากปี 2000-2018 อาศัยอยู่ในเอเชีย เช่นเดียวกับกว่าครึ่งของผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 60,000 คน