xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกาเอาจริงระงับจัดส่งอุปกรณ์ F-35 บีบตุรกีเลิกซื้อระบบต้านขีปนาวุธรัสเซีย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเจนซีส์ – อเมริการะงับการจัดส่งอุปกรณ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินขับไล่ F-35 ให้ตุรกี ถือเป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมครั้งแรกของวอชิงตันในการสกัดการจัดส่งเครื่องบินรบให้พันธมิตรนาโตรายนี้ เพื่อตอบโต้ที่อังการาไม่ยอมยกเลิกการสั่งซื้อระบบป้องกันภัยขีปนาวุธจากรัสเซีย

เมื่อวันจันทร์ (2 เม.ย.) พันโท ไมค์ แอนดรู แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ และโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงยืนยันว่า อเมริกาจะระงับการจัดส่งอุปกรณ์และกิจกรรมเกี่ยวกับ F-35 จนกว่าตุรกีจะยกเลิกแผนการจัดซื้อระบบป้องกันภัยขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซีย ซึ่งอเมริการะบุว่า จะบ่อนทำลายระบบรักษาความปลอดภัยของ F-35

เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ หลายคนแสดงความกังวลว่า การที่ตุรกีคบค้ากับทั้งสองฝ่าย อาจทำให้รัสเซียได้รับข้อมูล F-35 และนำไปปรับปรุงความแม่นยำเพื่อโจมตีเครื่องบินตะวันตก

ความขัดแย้งนี้เป็นข้อพิพาททางการทูตระลอกล่าสุดระหว่างอเมริกากับตุรกี ซึ่งรวมถึงการที่อังการาเรียกร้องให้วอชิงตันส่งตัว เฟตุลเลาะห์ กูเลน ตลอดจนถึงความไม่ลงรอยในเรื่องนโยบายตะวันออกกลาง สงครามในตุรกี และมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวตนได้ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การจัดส่งอุปกรณ์การฝึกครั้งต่อไป รวมถึงการจัดส่งอุปกรณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ F-35 ที่ผลิตโดยล็อกฮีด มาร์ตินของอเมริกาถูกยกเลิกแล้ว

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เพนตากอนผู้หนึ่งเผยว่า อเมริกามีสินค้าหลายรายการที่อาจสั่งระงับเพื่อเตือนตุรกีว่า อเมริกาต้องการให้ตุรกียกเลิกการจัดซื้อ S-400 จริงๆ

เจ้าหน้าที่ในอังการายังไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ แต่ตุรกีเคยเปิดเผยว่า ระบบป้องกันภัยขีปนาวุธดังกล่าวมีกำหนดส่งมอบในเดือนกรกฎาคม

การตัดสินใจของอเมริกาเกี่ยวกับ F-35 ครั้งนี้คาดว่า จะทำให้ภารกิจการเยือนวอชิงตันเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ของเมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ซับซ้อนยุ่งยากขึ้น นอกจากนั้นแอร์โดอันยังเพิ่งพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (31 มี.ค.)

แอนดริว ฮันเตอร์ นักวิชาการของศูนย์เพื่อการศึกษากลยุทธ์และการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในวอชิงตัน ระบุว่า ระบบอาวุธบางอย่างของรัสเซียถูกมองว่า เป็นภัยคุกคามต่ออเมริกาไม่ว่าระบบนั้นอยู่ในมือประเทศใดและใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม นอกจากนั้น ตุรกียังไม่ได้เป็นแค่ผู้สั่งซื้อ แต่เป็นหุ้นส่วนในการผลิต F-35 ด้วย ดังนั้น การระงับการจัดส่งระบบเหล่านี้จึงถือเป็นการยกระดับการดำเนินการครั้งสำคัญของอเมริกาและอาจส่งผลร้ายแรงต่อทั้งสองฝ่าย

สัปดาห์ที่แล้ว รอยเตอร์รายงานว่า วอชิงตันกำลังสำรวจว่า สามารถย้ายการผลิตชิ้นส่วนลำตัว ฐานล้อ และจอแสดงผลในห้องนักบินจากตุรกีไปยังประเทศอื่นได้หรือไม่

ทั้งนี้ อเมริกาและพันธมิตรอื่นๆ ในนาโตที่ครอบครอง F-35 กังวลว่า เรดาร์ของ S-400 จะเรียนรู้วิธีค้นหาและติดตามซึ่งส่งผลให้เครื่องบินขับไล่รุ่นนี้หลบหนีอาวุธของรัสเซียได้ยาก

อเมริกาพยายามโน้มน้าวให้ตุรกียกเลิกแผนการซื้อ S-400 ด้วยการเสนอลดราคาระบบต่อต้านขีปนาวุธแพทริออตให้ โดยมีเส้นตายภายในสิ้นเดือนที่ผ่านมา แต่ไม่เป็นผล

ขณะเดียวกัน ฮูลูซี อาคาร์ รัฐมนตรีกลาโหมตุรกี กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า แม้มีปัญหาบางประการ แต่นักบินตุรกียังคงทำการฝึกเกี่ยวกับ F-35 ที่ฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในแอริโซนา โดยเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้มีราคา 90 ล้านดอลลาร์ และอังการาคาดว่า จะได้รับส่งมอบในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง

ทั้งนี้ การระงับการจัดส่ง F-35 อาจหมายความว่า เพนตากอนอาจเลื่อนการฝึกนักบินตุรกีด้วย

สัปดาห์ที่แล้ว วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ 4 คนยังเสนอร่างกฎหมายที่ไม่แบ่งพรรค ห้ามการส่งมอบ F-35 ให้ตุรกีจนกว่ารัฐบาลจะได้รับการรับรองจากอังการาว่า จะไม่จัดซื้อ S-400

จีน ซาฮีน 1 ใน 4 วุฒิสมาชิกกลุ่มนี้ แสดงความยินดีที่เพนตากอนชะลอการส่งมอบอุปกรณ์ F-35 ให้ตุรกี เพื่อให้มั่นใจว่า ศักยภาพและเทคโนโลยีการทหารของอเมริกาจะไม่ตกอยู่ในมือเครมลิน
กำลังโหลดความคิดเห็น