xs
xsm
sm
md
lg

‘เมย์’ เรียกประชุมครม.ฝ่าทางตัน หลังรัฐสภายังไร้ฉันทามติ ‘ทางเลือกเบร็กซิต’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งอังกฤษ
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งอังกฤษเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (2 เม.ย.) เพื่อหาทางนำประเทศถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) แบบมีข้อตกลงให้ได้ภายในวันที่ 12 เม.ย. หลังจากสภาสามัญชนยังคงปฏิเสธทุกทางเลือกเบร็กซิตที่มีการเสนอขึ้นมา

เมย์ จะหารือกับบรรดารัฐมนตรีเพื่อกำหนดท่าทีต่อไป หลังจากทางเลือกต่างๆ ที่พวก ส.ส.เสนอขึ้นมาเองนั้นยังไม่มีข้อไหนได้รับฉันทามติ ส่วนข้อตกลงเบร็กซิตซึ่ง เมย์ ไปเจรจากับอียูก็ถูกรัฐสภาโหวตคว่ำมาแล้วถึง 3 ครั้ง

บรัสเซลส์กำหนดเส้นตายให้อังกฤษต้องยอมรับข้อตกลงเบร็กซิต, เสนอทางเลือกใหม่ หรือไม่ก็ต้องแยกตัวแบบไร้ข้อตกลงภายในวันที่ 12 เม.ย.

สัปดาห์ที่แล้ว ส.ส.อังกฤษได้เรียกประชุมเพื่อลงมติทางเลือกต่างๆ เกี่ยวกับเบร็กซิตรวมทั้งหมด 8 ทาง อาทิ การถอนตัวจากอียูทันทีโดยไม่มีข้อตกลง หรือยกเลิกเบร็กซิต ซึ่งผลปรากฏว่า ไม่มีทางเลือกใดได้รับฉันทามติเลย

ทางเลือกทั้ง 8 ทางได้รับการคัดกรองออกจนเหลืออยู่เพียง 4 ทางเมื่อวานนี้ (1 เม.ย.) ทว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ก็ยังคงเซย์โน แม้คณะรัฐมนตรีจะงดออกเสียงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ทางเลือกที่ได้เสียงสนับสนุนเกินครึ่งเล็กน้อยก็คือการเจรจาจัดตั้งสหภาพศุลกากรใหม่กับอียู

สตีฟ บาร์เคลย์ รัฐมนตรีกิจการเบร็กซิต เอ่ยเป็นนัยๆ ว่า รัฐบาลอาจผลักดันให้สภาโหวตข้อตกลงเบร็กซิตของ เมย์ อีกเป็นครั้งที่ 4 ในสัปดาห์นี้ เพื่อไม่ให้การถอนตัวล่าช้าออกไปจนอังกฤษต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปในช่วงปลายเดือน พ.ค.

“เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อไปกว่านี้ รัฐบาลจำเป็นต้องเสนอทางเลือกที่น่าเชื่อถือต่ออียู และจะต้องหาทางทำให้สหราชอาณาจักรถอนตัวแบบมีข้อตกลง ซึ่งจะต้องทำให้ได้เร็วที่สุดด้วย” เขากล่าว

กี เวอร์ฮอฟสตัดต์ ผู้ประสานงานเบร็กซิตของรัฐสภายุโรป ออกมากล่าวหลังทราบผลการโหวตในสภาสามัญชนอังกฤษเมื่อวานนี้ (1) ว่า “การถอนตัวแบบไร้ข้อตกลง (ฮาร์ดเบร็กซิต) คงยากที่จะหลีกเลี่ยงเสียแล้ว”

เขาย้ำว่า ในวันพุธ (3) ที่สภาสามัญชนจะประชุมกันอีกครั้ง “คือโอกาสสุดท้ายที่สหราชอาณาจักรจะฝ่าทางตันให้สำเร็จ หรือไม่ก็เผชิญผลลัพธ์ที่เลวร้าย”

อียูได้เรียกประชุมซัมมิตฉุกเฉินในวันที่ 10 เม.ย. นี้ และเตือนว่าหากปราศจากข้อตกลง อังกฤษเสี่ยงที่จะต้องตัดความสัมพันธ์กับคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในอีก 2 วันหลังจากนั้น ซึ่งจะก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง

ชาวอังกฤษโหวตสนับสนุนการถอนตัวออกจากอียู 52% ในการทำประชามติเมื่อปี 2016 ทว่ากระบวนการเจรจาได้นำมาสู่ข้อขัดแย้งมากมายทั้งในด้านเงื่อนไขถอนตัว และรูปแบบความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปในอนาคต

ระหว่างการโหวตในสภาสามัญชนเมื่อวันจันทร์ (1) ทางเลือกที่เสนอให้รัฐบาลไปเจรจาจัดตั้งสหภาพศุลกากรถาวรกับอียูพ่ายไปด้วยคะแนน 273 ต่อ 276 เสียง

ทางเลือกที่สองซึ่งเรียกกันว่า “ตลาดร่วม 2.0” (Common Market 2.0) หมายถึงการยอมรับเงื่อนไขถอนตัวของเมย์ แต่เธอต้องกลับไปเจรจากับอียูเรื่องการจัดเก็บภาษีศุลกากรและสมาชิกภาพในตลาดเดียวใหม่ ซึ่งทางเลือกนี้ก็พ่ายไปด้วยคะแนน 261 ต่อ 282 เสียง

ทางเลือกที่สามซึ่งเสนอให้ทำประชามติเบร็กซิตรอบ 2 ตกไปด้วยคะแนน 280 ต่อ 292 เสียง ส่วนทางเลือกที่สี่ซึ่งเสนอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนหากอังกฤษยังไม่ได้ข้อตกลงในวันสุดท้ายก่อนถึงกำหนดถอนตัว ก็ถูกปฏิเสธด้วยคะแนน 191 ต่อ 292 เสียง
กำลังโหลดความคิดเห็น