เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศในวันจันทร์ (1 เม.ย.) ชื่อรัชสมัย “เรวะ” ซึ่งจะเริ่มใช้ภายหลังเจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารองค์ปัจจุบันเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ในวันที่ 1 พฤษภาคม หนึ่งวันภายหลังการสละราชสมบัติครั้งประวัติศาสตร์ของพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน
พระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งปัจจุบันทรงมีพระชนมพรรษา 85 พรรษา จะทรงเป็นประมุขญี่ปุ่นองค์แรกที่สละราชสมบัติในรอบสองศตวรรษ และเท่ากับเป็นการสิ้นสุดของรัชสมัย “เฮเซ”
โยชิฮิเดะ ซูงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ออกมาประกาศชื่อรัชสมัยใหม่คราวนี้ ตามธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติกันในระยะหลังๆ โดย "เรวะ" ซึ่งเป็นตัวอักษร “คันจิ” ของญี่ปุ่น 2 ตัว มีความหมายตามตัวอักษรว่า บัญชาแห่งสันติ
ทางด้าน นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้แถลงอธิบายในเวลาต่อมาว่า “เรวะ” ยังเป็นคำที่ปรากฏอยู่ใน "มันโยชู" ประชุมกวีนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดเมื่อ 1,200 ปีก่อนของญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่หยั่งรากลึกยาวนานของประเทศ
ทั้งนี้ เรวะ อยู่ในบทกวีที่พรรณาถึงความงดงามของดอกบ๊วยแรกแย้มบานแห่งคืนฤดูใบไม้ผลิอันสดใส และเต็มเปี่ยมไปด้วยความความหวัง เป็นดอกบ๊วยที่ผลิบานภายหลังผ่านฤดูหนาวอันยาวนาน รัชสมัยใหม่นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมากจากสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะจะทรงสละราชสมบัติ และให้มกุฎราชกุมารนารูฮิโตะเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อ
อาเบะ ซึ่งเป็นนักการเมืองแนวชาตินิยม ยังตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ชื่อยุคสมัยมาจากตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น แทนที่จะเป็นภาษาจีนแบบที่ผ่านมา
ประชาชนจำนวนมากทั่วทั้งญี่ปุ่นต่างเฝ้าชมการถ่ายทอดสดการประกาศชื่อรัชสมัยใหม่คราวนี้ หลายคนตื่นเต้นดีใจเมื่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีชูกระดานที่เป็นลายมือเขียนสวยงามคำว่า เรวะ
ถึงแม้อาจจะดูเป็นเรื่องแปลกประหลาดยากจะเข้าใจสำหรับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะสำหรับชาวตะวันตก แต่การประกาศชื่อรัชสมัยใหม่ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญมากในญี่ปุ่น โดยที่จะต้องขานรับด้วยงานการเขียนอักษรพู่กัน และงานรื่นเริงต่างๆ
ญี่ปุ่นนั้นแม้มีการใช้ปฏิทินเกรโกเรียน (ปฏิทินสากล) กันอย่างแพร่หลายแล้ว แต่ขณะเดียวกัน ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้ยังคงเป็นประเทศเดียวที่ในเอกสารต่างๆ ทั้งเอกสารส่วนตัวและเอกสารสาธารณะ รวมถึงบันทึกในคอมพิวเตอร์ เมื่อจะระบุว่าเป็นปีอะไร จะยังคงนับโดยอิงกับปีรัชสมัย ดังนั้น ชื่อของรัชสมัยใหม่ จึงมีแนวโน้มส่งผลอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของประชาชนที่มักจดจำเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ว่า เกิดขึ้นในปีที่เท่าใดของรัชสมัยอะไร
ในการคัดเลือกชื่อของรัชสมัยใหม่ครั้งนี้ มีการคัดสรรคณะกรรมการพิจารณาจำนวน 9 คนอย่างพิถีพิถัน โดยที่คนหนึ่งเป็นผู้ชนะรางวัลโนเบล พวกเขาจะต้องตัดทิ้งชื่อจำนวนมากมายซึ่งเข้าข่ายได้รับการพิจารณา ในการประชุมซึ่งต้องกระทำอย่างปิดลับ
ชื่อรัชสมัยใหม่ ยังจะต้องอยู่ในกรอบของหลักเกณฑ์หลายๆ ประการอย่างเคร่งครัด นั่นคือ ควรจะต้องประกอบด้วยตัวอักษร “คันจิ” เพียง 2 ตัว, อ่าน-เขียนง่าย, ไม่ได้เป็นชื่อที่ใช้กันอย่างสามัญ และก็ไม่ได้มีตัวอักษรตัวแรกของ 4 รัชสมัยหลังสุดก่อนหนานี้ อันได้แก่ เฮเซ, โชวะ, ไทโช, และ เมจิ
พวกชื่อของบริษัทต่างๆ ก็จะต้องถูกตัดออก เช่นเดียวกันพวกชื่อยอดนิยมที่ปรากฏอยู่ในการแข่งขันคาดเดากันเป็นการภายใน ท่ามกลางการกะเก็งกันทางออนไลน์อย่างแพร่หลายเอิกเกริกว่าชื่อรัชสมัยใหม่นี้ควรจะเป็นอะไร
เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหล คณะกรรมการยังต้องทำงานในห้องพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีระบบป้องกันบั๊ก และห้ามนำโทรศัพท์เข้าไปเด็ดขาด
ญี่ปุ่นมีรัชสมัยหรือ "gengo" เกือบ 250 ยุค นับจากเริ่มใช้ระบบนี้ในศตวรรษที่ 7 ในปัจจุบัน หนึ่งรัชสมัยจะเท่ากับตลอดระยะเวลาการครองราชย์ของพระจักรพรรดิพระองค์นั้น ไม่เหมือนกับในอดีตซึ่งบางทีพระจักรพรรดิก็อาจทรงประกาศเปลี่ยนชื่อรัชสมัยขณะที่ยังทรงครองราชย์อยู่ เช่น ภายหลังเกิดโรคระบาดร้ายแรง
ถึงแม้การประกาศรัชสมัยใหม่ เป็นเรื่องนำมาซึ่งความปีติยินดี และมีการเฉลิมฉลองกัน โดยพวกบริษัทห้างร้านต่างๆ หลายรายพากันออกสินค้าใหม่ๆ เพื่อการนี้ แต่เวลาเดียวกันนั้น ก็นำมาซึ่งความสับสนอลหม่านอย่างแท้จริงสำหรับผู้ตีพิมพ์ปฏิทินทั้งแบบตะวันตกและปฏิทินรัชสมัย ขณะที่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต้องเร่งเปลี่ยนแปลงวันที่ในเอกสารราชการ
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีความกังวลกันว่า อาจเกิดการขัดข้องมโหฬารแบบเดียวกับ "Y2K" ก่อนเริ่มต้นปี 2000