xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กบอส ‘เฟซบุ๊ก’ เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามีบทบาทแข็งขันจัดระเบียบ ‘อินเทอร์เน็ต’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก  ขณะขึ้นพูดในงานประจำปีของบริษัท ที่เมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 1 พ.ค. 2018)
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก ออกมาเรียกร้องเมื่อวันเสาร์ (30 มี.ค.) ให้รัฐบาลทั้งหลายแสดง “บทบาทอย่างแข็งขันกระตือรือร้นมากขึ้น” ในการจัดระเบียบอินเทอร์เน็ต พร้อมกันนั้นยังเร่งเร้าให้ประเทศต่างๆ ประยุกต์ใช้ระเบียบกฎหมายที่มีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวางแบบของอียู ด้วยจุดประสงค์ในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของยูสเซอร์

ในอดีตที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก และบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ มีจุดยืนมายาวนานแล้วที่จะต่อต้านการเข้ามาแทรกแซงของภาครัฐ ทว่าในปัจจุบันเครือข่ายสื่อสังคมชั้นนำเหล่านี้กลับพากันปรับเปลี่ยนแนวทางกันใหม่ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ให้มีการจัดระเบียบอินเทอร์เน็ต โดยที่การปรับตัวเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นความพยายามในการหาทางนำร่องการถกเถียงอภิปรายเหล่านี้

“ผมเชื่อว่าเราจำเป็นต้องให้รัฐบาลต่างๆ และหน่วยงานกำกับตรวจสอบต่างๆ มีบทบาทที่แข็งขันกระตือรือร้นเพิ่มมากขึ้น” ซักเกอร์เบิร์กเขียนเอาไว้เช่นนี้ในหน้าบทความของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์

“ด้วยการปรับปรุงยกระดับระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับอินเทอร์เน็ตให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น เราก็จะสามารถสงวนรักษาส่วนที่ดีที่สุดเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเอาไว้ได้ ซึ่งก็คือ เสรีภาพสำหรับให้ประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งความเป็นตัวของพวกเขาเอง และสำหรับให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็ยังจะเป็นการพิทักษ์คุ้มครองสังคมให้พ้นจากภัยอันตรายอันมีขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย” เขาเขียนในอีกตอนหนึ่ง

ซักเคอร์เบิร์กเสนอแนะว่า จำเป็นที่จะต้องมีการออกกฎเกณฑ์จัดระเบียบใหม่ๆ ใน 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ เนื้อหาที่เป็นภัยอันตราย, การพิทักษ์คุ้มครองการเลือกตั้ง, ความเป็นส่วนตัว และความสามารถในการพกพาข้อมูล (data portability)

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กเองถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในทั้ง 4 ด้านนี้ ตั้งแต่การปล่อยให้มีวาจาสร้างความเกลียดชัง (hate speech) เผยแพร่อยู่บนแพลตฟอร์มนี้ หรือการปล่อยให้คนร้ายลัทธิผิวขาวขวาจุดสุดโต่งไลฟ์สตรีมการสังหารโหดศาสนิกชนในมัสยิดที่นิวซีแลนด์ ไปจนถึงการที่ต่างชาติพยายามใช้แพลตฟอร์มนี้ไปก้าวก่ายการเลือกตั้งของประเทศอื่นๆ ตลอดจนความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของบรรดายูสเซอร์ของเฟซบุ๊ก
ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 10 เม.ย. 2018 ขณะที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก  จัดเนคไทของตัวเอง ตอนที่เขาเดินทางไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาสหรัฐฯ
ในช่วงที่พูดถึงการพิทักษ์คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของยูสเซอร์ ซักเคอร์เบิร์กบอกว่า เขาจะสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้บังคับใช้ระเบียบกฎหมายต่างๆ ในลักษณะคล้ายๆ กับ “ระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป” (General Data Protection Regulation หรือ GDPR) ของสหภาพยุโรป ที่มีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวาง และให้อำนาจมากมายแก่พวกเจ้าหน้าที่กำกับตรวจสอบ ในการลงโทษองค์กรต่างๆ ซึ่งบกพร่องล้มเหลวไม่ได้ยึดมั่นอยู่ในมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยที่ยกระดับเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ในเวลาดำเนินการแปรรูปข้อมูลส่วนบุคคลของพวกยูสเซอร์

“ผมเชื่อว่ามันจะเป็นการดีสำหรับอินเทอร์เน็ต ถ้าประเทศต่างๆ จำนวนมากขึ้นบังคับใช้ระเบียบกฎหมายทำนองเดียวกับ GDPR โดยถือเป็นแผนแม่บทร่วม” ซักเคอร์เบิร์ก บอก พร้อมกันนั้นยังเรียกร้องให้มีระเบียบกฎหมายซึ่งรับประกันว่าจะมีความสามารถในการพกพาโยกย้ายข้อมูลกันได้ในระหว่างบริการต่างๆ

เกี่ยวกับเนื้อหาที่มีภัยอันตราย ซักเคอร์เบิรก์เขียนเอาไว้ว่า เขาเห็นพ้องกับพวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯที่เสนอทัศนะว่า เฟซบุ๊ก “มีอำนาจมากเกินไปต่อการแสดงความคิดเห็น” และกล่าวต่อไปว่า ควรให้มี “องค์กรฝ่ายที่ 3” เป็นผู้จัดทำมาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับการเผยแพร่วัสดุที่มีภัยอันตราย และ “วัดว่าบริษัทต่างๆ ทำตามมาตรฐานเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน”

ส่วนในเรื่องการเลือกตั้ง ซักเคอร์เบิร์กชี้ว่ากฎหมายฉบับต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่ผู้ลงสมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้ง และการเลือกตั้ง ขณะที่ไม่ได้ให้ความสนใจ “พวกประเด็นทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ซึ่งเราได้พบเห็นแล้วว่ามีความพยายามเข้ามาแทรกแซงมากกว่าด้วยซ้ำ” พร้อมกันนั้นเขาเร่งเร้าให้อัปเดตด้านระเบียบกฎหมาย เพื่อให้สามารถ “สะท้อนความเป็นจริงของภัยคุกคามต่างๆ”

“ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำกับควบคุมอินเทอร์เน็ตเหล่านี้จะอนุญาตให้ผู้ประกอบการรุ่นอายุหนึ่งสามารถที่จะสร้างบริการต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงโลก และสร้างสรรค์คุณค่าอย่างมากมายในชีวิตของประชาชน” ซักเคอร์เบิร์กระบุ

“มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องอัปเดตระเบียบกฎเกณฑ์เหล่านี้ เพื่อนิยามจำกัดความให้ชัดเจนถึงความรับผิดชอบต่างๆ เพื่อที่ประชาชนทั้งหลาย, บริษัทต่างๆ และรัฐบาลต่างๆ จะได้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น