เอเอฟพี – สิงคโปร์ ระบุว่า การเสนอให้อาหารข้างทางของตนเองได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาตินั้นเป็นเพียงความพยายามปกป้องวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น หลังจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดข้อพิพาทเรื่องอาหารข้ามพรมแดนกับมาเลเซีย
นครรรัฐแห่งนี้มีถนนขายอาหารกลางแจ้งมากมายซึ่งพ่อค้าแม่ค้าที่เรียกกันว่า “หาบเร่” จะทำอาหารหลายอย่างขาย เช่น ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว และสะเต๊ะในราคาที่ค่อนข้างถูก
เมื่อปีที่แล้ว สิงคโปร์ประกาศว่า พวกเขาจะเสนอให้วัฒนธรรมหาบเร่ของตนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้โดยยูเนสโก และหากประสบความสำเร็จ มันจะอยู่ร่วมรายชื่อกับมรดกวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น อาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมและเบียร์เยอรมนี
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในมาเลเซีย ถึงแม้ว่าอาหารข้างทางของมาเลเซียจะเหมือนกับของในสิงคโปร์ แต่ชาวมาเลเซียอ้างว่า ของพวกเขานั้นเหนือกว่าอย่างมาก
หลังประกาศว่า การเสนอชื่อของสิงคโปร์ถูกยื่นอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ ยอ เกิร์ก เซียง เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมการมรดกชาติ ยืนยันว่า ความพยายามดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาแสดงให้เห็นว่า อาหารข้างทางของประเทศนี้ดีกว่าของประเทศอื่นๆ
“มันไม่เกี่ยวกับการที่ประเทศหนึ่งพยายามพิสูจน์ว่าวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมของตนเองเหนือกว่า มีแค่หนึ่งเดียว หรือมีต้นกำเนิดมาจากตนเอง” เขาบอกในการแถลงข่าว
“การเสนอชื่อคือการพิสูจน์ว่าวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมนี้ถูกให้ค่าจากสังคมภายในประเทศนั้นหรือไม่ และดูว่า พวกเขามีเจตนารมณ์ปกปักษ์รักษาวิถีปฏิบัตินี้ภายในประเทศของพวกเขาหรือไม่”
เจ้าหน้าที่ยังหวังด้วยว่า ความพยายามนี้จะกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจอาหารข้างทางเพิ่มมากขึ้น
ข่าวที่ว่าสิงคโปร์กำลังผลักดันการเสนอชื่อได้ทำให้เกิดความไม่พอใจในมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้เฟสบุ๊ครายหนึ่ง เขียนว่า “เมื่อสิงคโปร์ตระหนักได้ว่าพวกเขาไม่มีวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเองเลยซักอย่างเดียว พวกเขาจะอ้างเอาของคนอื่น”
สิงคโปร์และมาเลเซียมีความสัมพันธ์ที่ขุ่นมัวนับตั้งแต่เคยเป็นหนึ่งเดียวกันในช่วงทศวรรษ 1960 แต่จะตึงเครียดมากจริงๆ เมื่อเป็นเรื่องของอาหาร ซึ่งเรื่องต้นกำเนิดของเมนูและใครทำได้ดีกว่ากันมักเป็นหัวข้อการถกเถียงอันดุเดือด
ผลลัพธ์ความพยายามของสิงคโปร์จะออกมาในช่วงปลายปี 2020