xs
xsm
sm
md
lg

จีน-อียูเกี่ยวก้อย “พันธมิตรบนความไว้ใจ” แซะนโยบายกีดกันการค้าโดนัลด์ ทรัมป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส (ที่2จากซ้าย) ต้อนรับประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ฌอง-โคลด จุงเกอร์ (ซ้าย), นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี (กลาง), และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ขวา) ก่อนจะเข้าประชุมหารือกันที่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสในกรุงปารีส วันอังคาร (26มี.ค.) </i>
เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ตกลงเห็นพ้องกับพวกผู้นำสหภาพยุโรปในวันอังคาร (26 มี.ค.) ที่จะทำงานเพื่อไปสู่กฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลก ตลอดจนสถาปนา “ความเป็นพันธมิตรบนความไว้วางใจกัน” ที่ดูเหมือนเป็นการติเตียนนโยบายกีดกันการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์โดยตรง

สี ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ได้หารือกับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมี และฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป ในกรุงปารีส เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยุโรป

มาครงผู้เป็นเจ้าภาพกล่าวยอมรับว่า ยังมีความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างอียูกับจีนเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ แต่ในแถลงการณ์ร่วมหลังเสร็จสิ้นการหารือ ผู้นำทั้งสี่ตกลงที่จะสถาปนาความเป็นพันธมิตรที่ตั้งอยู่บนความไว้วางใจกันขึ้นมา

ผู้นำฝรั่งเศสสำทับว่า เป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกันคือ ทำให้แน่ใจว่า ในการรับมือกับความตึงเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะไม่ทำให้ระเบียบการค้าระหว่างประเทศแตกร้าว เกิดความขัดแย้งทางการค้ารอบใหม่ หรือหันไปใช้นโยบายแบบอยู่อย่างโดดเดี่ยว

ทางด้านสีกล่าวในการประชุมแถลงข่าวร่วม ถึงความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับจีนว่า “แน่นอนทีเดียว ยังคงมีความแตกต่างกันและการแข่งขันกัน แต่มันเป็นการแข่งขันในทางบวก” เขาบอก “เรากำลังก้าวหน้าไปด้วยกัน เราไม่ควรปล่อยให้ความระแวงสงสัยนำเราไปในทางที่คอยหันกลับมามองแบบถอยหลังกันอยู่เรื่อย”

ผู้นำจีนยืนยันว่า ควรใช้กฎธรรมาภิบาลที่มีการปฏิรูปกันใหม่ ซึ่งสามารถใช้จัดการรับมือกับความท้าทายระดับโลกทั้งหลาย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการอพยพย้ายถิ่นขนาดใหญ่

ทั้งอียูและจีนต่างก็กำลังรู้สึกว่าตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ จากนโยบายการค้าแบบกีดกันการค้า, ชาตินิยม “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ รวมทั้งการที่เขาโจมตีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศฉบับต่างๆ ทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน, การค้า, และโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ประเทศต่างๆ ในยุโรปจึงต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์กับปักกิ่ง ดังที่มาครงประกาศว่า “การร่วมมือมือให้ผลมากกว่าการเผชิญหน้ากัน”

ปัจจุบันอียูกลายเป็นหุ้นส่วนทางการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนอยู่แล้ว และยุโรปก็ต้องการทำให้ความสัมพันธ์เช่นนี้มั่งคงยิ่งขึ้น กระนั้น พวกข้ารัฐการอียูในบรัสเซลส์ และชาติที่เป็นผู้นำอียูอย่างฝรั่งเศสและเยอรมนี ก็เห็นเช่นกันว่า จำเป็นต้องรกดดันให้พญามังกรเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจ ซึ่งจะทำให้บริษัทของยุโรปได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมกว่าที่เป็นอยู่

<i>(จากซ้าย) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ฌอง-โคลด จุงเกอร์, ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน,  ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส, และ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี เตรียมตัวก่อนการแถลงข่าวร่วมในวันอังคาร (26 มี.ค.) </i>
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอรายงานซึ่งย้ำว่า จีนมีฐานะเป็น “คู่แข่งขันทางเศรษฐกิจ” รายหนึ่ง และเป็น “ปรปักษ์เชิงระบบรายหนึ่งซึ่งกำลังส่งเสริมสนับสนุนรูปแบบการบริหารปกครองที่ผิดแผกแตกต่างออกไป” พร้อมกับเสนอแผนปฏิบัติการ 10 ประการ ในลักษณะของข้อสรุปภาพรวม เกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันเสมอภาคเท่าเทียมกับระหว่างสหภาพยุโรปกับจีนในระยะเวลาต่อไปข้างหน้า

ทั้งนี้อียูกับจีนมีกำหนดจัดการประชุมซัมมิตกันในวันที่ 9 เดือนหน้าอยู่แล้ว และการพบกันครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการเตรียมการก่อนซัมมิต

จุงเกอร์กล่าวว่า บริษัทยุโรปจะต้องได้รับการยอมรับในการเข้าสู่ตลาดจีน เช่นเดียวกับที่บริษัทจีนได้รับการต้อนรับในยุโรป และยุโรปควรมีแนวทางร่วมกันเกี่ยวกับโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ซึ่งมีชื่อเรียกขานว่า แผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) อันเป็นการสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานขนาดมหึมาที่เชื่อมโยงจีนกับเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และภูมิภาคอื่นๆ

เขาสำทับว่า อียูควรปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและใช้โอกาสจากโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ โดยโครงการนี้ควรให้ประโยชน์ไม่เฉพาะแต่จีน แต่ต้องรวมถึงยุโรปและทุกประเทศที่เส้นทางนี้พาดผ่าน

ด้านแมร์เคิลขานรับว่า ระบบพหุภาคีจะนำมาซึ่งแนวทางที่ทุกฝ่ายได้ชัยชนะ และแนะว่า อเมริกาควรเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจแบบพหุภาคี แทนการทำสงครามการค้าและประเด็นอื่นๆ กับจีน

ในส่วนของ อันโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการยูเอ็น ได้ออกคำแถลงสนับสนุนการประชุมที่ปารีส และย้ำความจำเป็นของระเบียบโลกที่อิงอยู่กับกฎเกณฑ์ร่วม

ก่อนการประชุม สีและมาครงออกคำแถลงร่วมความยาว 37 หน้าที่ดูเหมือนเป็นการตำหนิติเตียนทรัมป์ ด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของระบบพหุภาคีในทุกๆ เรื่องตั้งแต่การป้องกันสงครามนิวเคลียร์จนถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งคู่ยังย้ำพันธะสัญญาที่มีต่อข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่ทรัมป์ฉีกทิ้ง และปกป้องยูเอ็นตลอดจนถึงสถาบันระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า ไร้ประสิทธิภาพและไม่สอดคล้องกับนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน

การประชุมในวันอังคารเป็นกำหนดการสุดท้ายระหว่างการเยือนยุโรปคราวนี้ของสี ซึ่งรวมถึงการเดินทางไปอิตาลีและโมนาโกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยตลอดทริปนี้มีการลงนามข้อตกลงธุรกิจขนาดใหญ่ อาทิ ข้อตกลงที่สายการบินกว่า 10 แห่งของจีนสั่งซื้อเครื่องบินจากแอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินของยุโรป คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์



กำลังโหลดความคิดเห็น