xs
xsm
sm
md
lg

ชาวมาเลย์ร้องทำลายอนุสรณ์เชิดชูทหารญี่ปุ่นเป็น “วีรบุรุษ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี – อนุสรณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เพิ่มได้รับการบูรณะใหม่ในมาเลเซียจุดกระแสความไม่พอใจและเสียงเรียกร้องให้ทำลายมันในวันนี้ (26) หลังจากมีป้ายที่เรียกทหารญี่ปุ่น 3 คนเป็น “วีรบุรุษ”

การยึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ป่นในช่วงต้นทศวรรษ 1940 ถูกจดจำด้วยภาพความโหดร้ายป่าเถื่อน และความทรงจำอันขมขื่นยังคงเหลืออยู่ แม้กระทั่งหลังจากโตเกียวชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามและสร้างมิตรภาพกับบรรดาอดีตศัตรูนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ด้วยทุนสนับสนุนจากญี่ปุ่น ทางการมาเลเซียได้บูรณะอนุสรณ์หินที่ถูกสร้างในปี 1941 แต่ถูกทอดทิ้งมานานในอาโลร์เซอตาร์ เมืองหลวงของรัฐเกอดะฮ์ทางตอนเหนือ ในความพยายามเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

เดิมทีมันถูกสร้างโดยญี่ปุ่นเพื่อเป็นเกียรติแก่ทหาร 3 คนที่ถูกสังหารในขณะที่เข้ายึดสะพานยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งเพื่อสกัดกั้นทหารอังกฤษและทหารสัมพันธมิตร

อย่างไรก็ตาม ป้ายๆ หนึ่งข้างอนุสรณ์แห่งนี้ที่เพิ่งถูกเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข้อความหัวเรื่องระบุว่า “ประวัติของวีรบุรุษชาวญี่ปุ่นทั้งสามที่พิชิตสะพานอาโลร์เซอตาร์”

ในวันนี้ (26) ลิม สวี บ็อก จากสมาคมชาวจีนในมาเลเซีย (Malaysian Chinese Association : MCA) นำผู้สนับสนุนราว 30 คนไปยังสถานกงสุลญี่ปุ่นในรัฐปีนังทางเหนือ และยื่นจดหมายเรียกร้องให้ทำลายอนุสาวรีย์ดังกล่าว

“มันมีแต่ทำให้เราย้อนนึกถึงยุคการยึดครองของญี่ปุ่นอันเจ็บปวด” ลิม บอกกับเอเอฟพี

ญี่ปุ่นยึดครองมาลายา ปัจจุบันคือมาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นเวลานานเกือบ 4 ปีตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 1941

ในวันนี้ (26) หนังสือพิมพ์ เดอะ สตาร์ รายงานว่า สมาชิก MCA หลายคนได้นำผ้าสีดำไปติดบนอนุสรณ์ดังกล่าวและมีข้อความว่า “อนุสรณ์ของวีรบุรุษที่ต่อสู้กับญี่ปุ่น”

เดอะ สตาร์ ยังตีพิมพ์ภาพของอนุสรณ์ดังกล่าวท่ามกลางป้ายสีแดงขนาดใหญ่ 5 ใบที่มีข้อความว่า “ทหารญี่ปุ่นไม่ใช่วีรบุรุษ” , “การฆ่า ข่มขื่น และตัดศีรษะคนท้องถิ่น” และ “ทหารญี่ปุ่นช่างโหดเหี้ยม”

ความไม่พอใจยังถูกแสดงออกบนโลกออนไลน์ด้วย บนเพจเฟสบุ๊คของหนังสือพิมพ์ มาเลย์ เมล ผู้อ่านชื่อ เกเก๊ ลิม ระบุว่า “ญี่ปุ่นเป็นผู้รุกรานที่กระทำเรื่องโหดร้ายป่าเถื่อนและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

โมฮาหมัด อัสมิรุล อนูอาร์ อาริส ประธานคณะกรรมการท่องเที่ยวแห่งรัฐ ขอโทษสำหรับ “การแปลที่ผิดลพาด” เขากล่าวว่าป้ายดังกล่าวถูกนำลงมาแล้วแต่ปฏิเสธข้อเรียกร้องให้ทำลายอนุสรณ์

“มันอยู่มาตั้งแต่ปี 1941 ยิ่งกว่านั้น เรากำลังพยายามชวนนักท่องเที่ยวมายังเกอดะห์ให้มากขึ้นและมันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามบำนุงรักษาสถานที่ทางประวัติศาสตร์” เขาบอกกับเอเอฟพี


กำลังโหลดความคิดเห็น