xs
xsm
sm
md
lg

นิวซีแลนด์ออกคำสั่งแบน ‘ปืนไรเฟิลจู่โจม’ มีผลทันที-ปลุกกระแสเรียกร้อง ‘ควบคุมปืน’ ในสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศแบนปืนไรเฟิลจู่โจมในวันนี้ (21 มี.ค.) หลังคนร้ายผิวขาวบุกกราดยิงมัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ชจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งมาตรการตอบสนองที่รวดเร็วของแดนกีวียังปลุกกระแสเรียกร้องกฎหมายควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐฯ ให้ดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง

นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น แห่งนิวซีแลนด์ได้ออกคำสั่งแบนปืนไรเฟิลจู่โจม (assault rifle) และปืนกึ่งอัตโนมัติแบบทหาร (military-style semi-automatic weapons) โดยให้มีผลบังคับในทันที เพื่อรับรองว่านิวซีแลนด์จะไม่เผชิญเหตุการณ์สังหารหมู่หลายสิบศพเหมือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอีก

เหตุกราดยิงโดยชายชาวออสเตรเลียผู้คลั่งลัทธิผิวขาวเป็นใหญ่ (white supremacist) ทำให้คนนิวซีแลนด์ทั้งประเทศต้องหันกลับมาทบทวนเรื่องกฎหมายควบคุมปืน ซึ่งยังถือว่าหละหลวมเมื่อเทียบกับชาติพัฒนาแล้วอื่นๆ

มาตรการรับมือที่เด็ดขาดของรัฐบาลกีวียังก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไปถึงประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาซึ่งกฎหมายควบคุมปืนยังเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ

“สรุปสั้นๆ ก็คือ ปืนกึ่งอัตโนมัติทุกชนิดที่ถูกใช้ในการก่อการร้ายเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (15) จะกลายเป็นอาวุธต้องห้ามสำหรับประเทศนี้” อาร์เดิร์น ระบุ

ซองกระสุนซึ่งบรรจุลูกปืนได้จำนวนมากๆ และอุปกรณ์เสริมจำพวกบัมพ์สต็อก (bumpstock) ซึ่งช่วยให้ไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติสามารถยิงรัวได้เหมือนปืนกลก็จะถูกแบนด้วยเช่นกัน

ผู้สนับสนุนกฎหมายควบคุมปืนในสหรัฐฯ และทั่วโลกต่างออกมาประสานเสียงชื่นชมรัฐบาลนิวซีแลนด์ และถือโอกาสโพสต์ข้อความโจมตีกลุ่มล็อบบี้ปืนในอเมริกา ขณะที่ชาวอเมริกันผู้นิยมพกปืนก็ยืนยันจะปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญของตน

“นี่แหละคือมาตรการยับยั้งความรุนแรงจากอาวุธปืนที่แท้จริง” ส.ว.เบอร์นี แซนเดอร์ส จากพรรคเดโมแครต และว่าที่ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความ

“เราควรเอาอย่างนิวซีแลนด์ จัดการกับสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) และสั่งห้ามการจำหน่ายจ่ายแจกปืนไรเฟิลจู่โจมในสหรัฐอเมริกา”

ส.ส.อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ จากพรรคเดโมแครตเปรียบเทียบคำสั่งแบนในนิวซีแลนด์กับความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการควบคุมปืน ทั้งๆ ที่อเมริกาเผชิญเหตุกราดยิงซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุคในรัฐคอนเนตทิคัตเมื่อปี 2012 ซึ่งทำให้นักเรียนและครูเสียชีวิตไปถึง 26 คน

“แซนดีฮุคผ่านไปแล้ว 6 ปี แต่เรายังทำไม่ได้แม้กระทั่งจะให้วุฒิสภาโหวตรับรองการตรวจสอบประวัติผู้ซื้อปืน” โอคาซิโอ-คอร์เตซ ทวีตข้อความ “แต่พอเกิดเหตุการณ์ที่ไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์สามารถสั่งแบนอาวุธสงครามออกจากท้องตลาดได้ภายในไม่กี่วัน นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า ภาวะผู้นำ”

ล่าสุด บัญชีทวิตเตอร์ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ยังไม่มีท่าทีตอบสนองใดๆ

รัฐบาลนิวซีแลนด์เตรียมที่จะเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาในช่วงต้นเดือน เม.ย. แต่ระหว่างนี้ก็ได้กำหนดมาตรการชั่วคราวเพื่อป้องกันไม่ให้คนแห่ซื้อปืนก่อนที่จะกฎหมายจะมีผลบังคับ

“คำสั่งของรัฐบาลจะมีผลทำให้บุคคลทั่วไปไม่สามารถซื้อปืนเหล่านี้ได้ ถ้าไม่มีใบอนุญาตจากตำรวจ และดิฉันขอรับรองว่าไม่มีเหตุอันสมควรใดๆ ทั้งสิ้นที่ท่านจะมาขอใบอนุญาตเช่นนี้” อาร์เดิร์น กล่าว

นายกฯ หญิงกีวียังประกาศโครงการรับซื้อคืนปืนจากเอกชน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณระหว่าง 100-200 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ขึ้นอยู่กับราคาประเมินและจำนวนปืนที่มีผู้นำมาขาย

“ชาวนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่จะสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดิฉันมั่นใจ” อาร์เดิร์น ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น