xs
xsm
sm
md
lg

ฮิวแมนไรต์วอตช์จี้ญี่ปุ่นแก้กฎหมายบังคับ “คนข้ามเพศ” ทำหมัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - ญี่ปุ่นควรทบทวนกฎหมายที่กำหนดให้คนข้ามเพศเข้ารับการผ่าตัดทำหมัน หากพวกเขาต้องการได้รับการรับรองเอกลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย ฮิวแมนไรต์วอตช์ ระบุวันนี้ (20 มี.ค.)

ภายใต้กฎหมายที่เริ่มใช้ในปี 2014 บุคคลข้ามเพศที่มีความประสงค์จะแก้ไขเอกสารราชการของตนเองต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลครอบครัวและปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเข้มงวด

ผู้ยื่นคำร้องถูกกำหนดให้ต้องไม่มีความสามารถในการสืบพันธุ์ การกำหนดให้คนส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการทำหมันเพื่อสอดรับข้อกำหนดดังกล่าว

พวกเขาต้องเป็นโสดและไม่มีลูกอายุต่ำกว่า 20 ปี และผ่านการประเมินทางจิตวิทยาเพื่อรับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติของเอกลักษณ์ทางเพศ

“ญี่ปุ่นควรรักษาสิทธิของคนข้ามเพศและหยุดการบังคับให้พวกเขาเข้ารับการผ่าตัดเพื่อให้ได้รับการรับรองทางกฎหมาย” คานาเอะ โดอิ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำญี่ปุ่น กล่าว

“กฎหมายนี้มีพื้นฐานมาจากสมมติฐานล้าสมัยที่มองเอกลักษณ์ทางเพศในฐานะอาการป่วยทางจิตและควรได้รับการทบทวนอย่างเร่งด่วน” เธอ กล่าวเสริม

ถ้อยแถลงดังกล่าวออกมาพร้อมรายงานของฮิวแมนไรต์วอตช์ซึ่งรวมถึงบทสัมภาษณ์คนข้ามเพศ 48 คน รวมทั้งนักกฎหมาย ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้

ฮิวแมนไรต์วอตช์ วิจารณ์ว่า กฎหมายดังกล่าวมีพื้นฐานจาก “แนวความคิดหยาบคายที่ว่าเอกลักษณ์ข้ามเพศเป็นภาวะสุขภาพจิต และวิจารณ์การกำหนดให้คนข้ามเพศต้องผ่านกระบวนการทางการแพทย์อันยาวนาน ราคาแพง รุกล้ำ และย้อนกลับคืนไม่ได้”

“เหตุใดเราถึงต้องยอมให้มีดผ่าตัดเฉือนผ่านร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงของเราเพียงเพื่อความเป็นระเบียบของประเทศ มันเป็นเรื่องน่าอัปยศอดสู”

องค์การอนามัยโลกลบความผิดปกติด้านเอกลักษณ์ทางเพศออกจากหมวด “อาการผิดปกติทางเพศ” ในบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ (International Classification of Diseases) ฉบับล่าสุดแล้ว ฮิวแมนไรต์วอตช์ ระบุ

ฮิวแมนไรต์วอตช์ยังพูดถึงความคิดเห็นของผู้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยการทรมานของยูเอ็นเมื่อปี 2013 ที่ระบุว่า การที่คนข้ามเพศถูกกำหนดให้เข้ารับการผ่าตัดทำหมันอย่างไม่เต็มใจในฐานะเงื่อนไข้เบื้องต้นเพื่อให้เพศของพวกเขาได้รับการรับรองทางกฎหมายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม ศาลฎีกาของญี่ปุ่นยังคงสนับสนุนกฎหมายว่าด้วยการแก้ไขเอกสารราชการโดยคนข้ามเพศ

ศาลฎีกายอมรับว่า มีข้อสงสัยมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า กฎหมายนี้สอดคล้องกับค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ แต่ระบุว่า กฎหมายนี้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น