(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
New Zealand seeks answers for mosque massacre
By Alan Boyd, Sydney
18/03/2019
พวกเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายของออสเตรเลียบุกเข้าตรวจค้นบ้านหลายแห่งเพื่อรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับชายหนุ่มออสซี่ซึ่งเป็นผู้ต้องหาก่อเหตุกราดยิงหฤโหดในแดนกีวี ขณะเดียวกับที่นิวซีแลนด์ก็ประกาศให้คำมั่นจะดำเนินการยกเครื่องกฎหมายอาวุธปืนของตนที่หย่อนยานเกินไป
ซิดนีย์, ออสเตรเลีย - ทีมเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายบุกค้นบ้านอย่างน้อย 2 หลังในภาคตะวันออกของออสเตรเลียเมื่อวันจันทร์ (18 มี.ค.) ขณะการสืบสวนสอบสวนกำลังคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ในเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวมุสลิมโดยมือปืนที่ก่อเหตุเพียงคนเดียว ณ มัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ช ของนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม
จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงใส่ผู้คนที่กำลังอยู่ในมัสยิดคราวนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 50 คน ขณะที่ยังมี 39 คนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ในจำนวนนี้คนหนึ่งเป็นเด็กวัย 2 ขวบ อีกคนหนึ่งอายุ 4 ขวบ ผู้ที่รับบาดเจ็บเหล่านี้มี 11 คนต้องอยู่ในหน่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู)
ผู้ต้องหาที่ดูจะกระทำการเพียงรายเดียวและถูกจับกุมในวันเดียวกับที่ก่อเหตุ เป็นชาวออสเตรเลียวัย 28 ปี ชื่อ เบรนตัน ทาร์แรนต์ (Brenton Tarrant) เขาถูกนำตัวไปยังศาลแขวงไครสต์เชิร์ชเป็นเวลาสั้นๆ เมื่อวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม เพื่อรับทราบข้อหาความผิดฐานกระทำฆาตกรรม 1 ข้อหา โดยที่คาดหมายว่ายังจะมีข้อหาอื่นๆ ติดตามมาอีกในภายหลัง เขาแสดงท่าทียิ้มเยาะผู้ที่ไปคอยดู โดยที่ไม่ได้พูดอะไร แต่ยกมือทำสัญลักษณ์ซึ่งพวกกลุ่ม “ลัทธิชาวผิวขาวต้องเป็นใหญ่” (white supremacist) นิยมใช้กัน [1] และผู้พิพากษาออกคำสั่งให้ภาพของทาร์แรนต์ที่นำออกเผยแพร่ต้องทำให้ใบหน้าของเขามองเห็นไม่ชัด
ตำรวจในรัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียยืนยันว่า พวกเจ้าหน้าที่จากทีมผสมต่อต้านการก่อการร้าย (Joint Counter Terrorism Team) ได้เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่ย่านลอว์เรนซ์ (Lawrence) และอีกหลังหนึ่งที่ย่านแซนดี้บีช (Sandy Beach) บริเวณชายฝั่งทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือของรัฐ ลอว์เรนซ์นั้นอยู่ห่างไปนิดเดียวทางเหนือของเมืองเกิดของทาร์แรนต์ที่ กราฟตัน (Grafton) ริมฝั่งแม่น้ำคลาเรนซ์ (Clarence River) ขณะที่ แซนดี้บีชอยู่ใกล้ๆ กับ คอฟส์ ฮาร์เบอร์ (Coffs Harbour) ซึ่งอยู่ทางใต้ลงมา
“วัตถุประสงค์หลักของกิจกรรมนี้ ก็คือการหาวัสดุต่างๆ อย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจช่วยเหลือตำรวจนิวซีแลนด์ ในการสืบสวนสอบสวนที่กำลังเดินหน้าอยู่ของพวกเขา” ตำรวจนิวเซาท์เวลส์บอก และเสริมด้วยว่า บรรดาสมาชิกในครอบครัวทาร์แรนต์ให้ความช่วยเหลือเป็นอันดีในการซักถามตรวจค้นของพวกเขา
นอกเหนือจากกำลังตำรวจประจำรัฐแล้ว ทีมผสมนี้ยังประกอบด้วยตำรวจจากสำนักงานตำรวจส่วนกลางออสเตรเลีย (Australian Federal Police หน่วยงานของออสเตรเลียที่เทียบเท่ากับเอฟบีไอในสหรัฐฯ), องค์การข่าวกรองความมั่นคงของออสเตรเลีย (Australian Security Intelligence Organization) ที่เป็นหน่วยสืบราชการลับปฏิบัติงานภายในประเทศ, และคณะกรรมการอาชญากรรมแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ (NSW Crime Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล
ตำรวจชี้แจงว่าการตรวจค้นเหล่านี้ต้องการได้ข้อมูลข่าวสาร ไม่ใช่เพื่อหาตัวผู้ต้องสงสัย “ทางชุมชนสามารถมั่นใจได้ว่า ไม่ได้มีข้อมูลข่าวสารใดๆ ที่บ่งชี้ว่าเวลานี้มีภัยคุกคาม หรือกำลังจะมีภัยคุกคาม เกี่ยวข้องกับหมายค้นเหล่านี้” พวกเขาบอก
เชื่อกันว่าทาร์แรนต์ได้พำนักอาศัยอยู่ในบ้านทั้ง 2 หลังนี้ก่อนมุ่งหน้าเดินทางไปต่างประเทศในปี 2016 เวลานี้บ้านหลังหนึ่งเป็นของคุณแม่ของเขา ส่วนอีกหลังหนึ่งเป็นของพี่สาวคนหนึ่งของเขา สำหรับความเคลื่อนไหวของเขาขณะอยู่ต่างประเทศนั้นยังไม่สู้ชัดเจนนัก แต่เป็นที่ทราบกันว่าเขาได้เคยเดินทางไปยังปากีสถาน, ตุรกี, เกาหลีเหนือ, และประเทศยุโรปหลายแห่งในระยะสองสามปีมานี้
ตามคำประกาศที่ทาร์แรนต์เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตไม่นานนักก่อนการเข่นฆ่าหฤโหด ความคิดทัศนะของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬารในช่วงระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2017 และเขาเริ่มวางแผนที่จะทำการโจมตี จากนั้นเขาก็ย้ายไปอยู่นิวซีแลนด์ โดยพำนักที่เมืองดูเนดิน (Dunedin) บนเกาะใต้ (South Island)และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสโมสรยิงปืนแห่งหนึ่งในเมืองมิลเบิร์น (Milburn)
สกอตต์ วิลเลียมส์ (Scott Williams) ประธานสโมสรแห่งนี้เล่าว่า ทาร์แรนต์ได้ฝึกใช้ปืนชนิดต่างๆ หลากหลาย
“เขาอยู่ที่นั่นเป็นประจำคอยช่วยเหลือทำงานอะไรก็ตามซึ่งจำเป็นต้องทำรอบๆ สโมสร หรือเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจัดสถานที่หรือเก็บกวาดสนามยิงปืน ผมคิดว่าพวกเรามีความรู้สึกตะลึงและช็อกกันอยู่บ้าง และรู้สึกถูกทรยศหักหลังกันอยู่บ้าง น่าจะเป็นอย่างนั้นนะ สำหรับการที่พวกเรามีบุคคลผู้นี้อยู่ในสโมสรของเรา ...” วิลเลียมส์บอกกับหนังสือพิมพ์ ดิโอทาโกไทมส์ (The Otago Times)
ตำรวจไครสต์เชิร์ชยึดปืน 5 กระบอกซึ่งทาร์แรนต์ใช้ในการกราดยิงครั้งนี้ โดยเป็นปืนเล็กยาวกึ่งอัตโนมัติ 2 กระบอก, ปืนเล็กยาวแบบคานเหวี่ยง 1 กระบอก, และปืนพก 2 กระบอก ทั้งหมดนี้ว่ากันว่าหามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อเขาได้ใบอนุญาตมีอาวุธปืนในปี 2017
นิวซีแลนด์มีกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนที่ผ่อนปรนเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานของพวกชาติตะวันตกส่วนใหญ่ แต่นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ประกาศแล้วว่าจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเหล่านี้ให้เข้มงวด สืบเนื่องจากเหตุโจมตีคราวนี้
“เพียงแค่ข้อเท็จจริงที่ว่าบุคคลผู้นี้ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืน และสามารถหาอาวุธถึงขนาดนี้มาครอบครอง ดิฉันคิดว่ามันก็ชัดเจนเพียงพอแล้วที่จะทำให้ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง และดิฉันก็ให้คำมั่นสัญญาจะทำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว” นายกรัฐมนตรีหญิงผู้นี้บอก
เธอแสดงท่าทีไม่ต้องการพูดว่าทำไมการแก้ไขเช่นนี้จึงไม่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ทั้งๆ ที่มีคำเตือนออกมาหลายระลอกแล้วจากตำรวจและบุคคลอาวุโสด้านกฎหมาย โดยย้อนหลังไปได้ไกลเป็นเวลาสิบกว่าปีทีเดียว
คณะทำงานศึกษาทบทวนเรื่องการควบคุมอาวุธปืนเมื่อปี 1997 ที่มีเซอร์โธมัส โธร์ป (Sir Thomas Thorp) ผู้พิพากษาเกษียณอายุเป็นประธาน ได้เสนอแนะว่าควรต้องห้ามมีปืนเล็กยาวกึ่งอัตโนมัติเอาไว้ในครอบครอง และประกาศใช้แผนขอซื้อคืนอาวุธปืนร้ายแรง ทำนองเดียวกับที่ออสเตรเลียกระทำภายหลังเกิดกรณีสังหารหมู่ที่พอร์ตอาร์เตอร์ (Port Arthur massacre) ในปี 1996 ประธานคณะทำงานผู้นี้ยังเรียกร้องให้ดำเนินการจดทะเบียนอาวุธปืนและออกกฎหมายอนุญาตให้มีอาวุธปืนที่เคร่งครัดเข้มงวดยิ่งขึ้น
ปรากฏว่ากลุ่มล็อบบี้เรื่องอาวุธปืน ได้สกัดขัดขวางความพยายามที่จะปฏิรูปคราวนั้นและคราวอื่นๆ หลังจากนั้น ทั้งในปี 1999, 2005, 2012, และ 2017 นิค เพอร์รี (Nick Perry) รองผู้บัญชาการตำรวจได้ให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการของรัฐสภาชุดหนึ่งเมื่อปี 2017 ว่า มันช่างเป็นเรื่องง่ายดายจนเกินไปแล้วที่ชาวต่างประเทศจะหาซื้อใบอนุญาตมีอาวุธปืนในนิวซีแลนด์
“พวกเขาจ่ายเงินแค่ 25 ดอลลาร์ พวกเขาก็ได้ใบอนุญาตแล้ว” เพอร์รีบอก “ดังนั้นผมจึงสามารถที่จะวาดภาพสมมุติสถานการณ์ได้ว่า ตัวอย่างเช่น กลุ่มไอซิส (ISIS อีกชื่อย่อหนึ่งของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส) ซึ่งกำลังถูกสกัดขัดขวางในยุโรป ถ้าพวกเขากำลังมองหาเป้าหมายที่อ่อนนุ่มกว่านั้น แล้วถ้าพวกเขาทำงานด้านการจัดเตรียมขั้นต้นกันสักหน่อย พวกเขาก็จะพบว่าเป็นเรื่องง่ายดายขนาดไหนที่พวกเขาจะเข้ามายังนิวซีแลนด์ เป็นเรื่องง่ายดายขนาดไหนที่พวกเขาจะได้ใบอนุญาตมีอาวุธปืน เป็นเรื่องง่ายดายขนาดไหนที่พวกเขาจะซื้อหาปืนเล็กยาวจู่โจมสมรรถนะสูงๆ” เขากล่าวต่อ
ทั้งนี้ใครก็ตามที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้น สามารถยื่นขอใบอนุญาตมีอาวุธปืนได้ โดยที่ใบอนุญาตจะมีอายุ 10 ปี แล้วเนื่องจากปืนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องจดทะเบียน ดังนั้นจึงไม่มีใครทราบจริงๆ ว่ามีอาวุธปืนหมุนเวียนอยู่ในนิวซีแลนด์เป็นจำนวนเท่าใดกันแน่ ถึงแม้ตำรวจเชื่อว่ามีราว 1.5 ล้านกระบอกซึ่งเป็นการครอบครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวนขนาดนี้เท่ากับราว 1 ใน 4 ของจำนวนผู้คนทั้งหมดซึ่งกำลังพำนักอาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์ทีเดียว
เวลานี้ชาวนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่ดูเหมือนสนับสนุนให้ควบคุมปืนอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงมีกระแสแห่ไปซื้ออาวุธปืนสำหรับใช้ป้องกันตัวกันก่อนที่การจำกัดเข้มงวดจะเริ่มต้นขึ้น –สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องมาจากตำรวจแทบทั้งหมดจะยังคงติดอาวุธเพียงแค่ไม้กระบองกันต่อไป
ทาร์แรนต์ไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีจับตาเฝ้าระวังใดๆ จากการดำเนินกิจกรรมแบบ “ลัทธิคนขาวต้องเป็นใหญ่” ของเขา รวมทั้งไม่ได้มีประวัติประกอบอาชญากรรมใดๆ อยู่ในออสเตรเลียยกเว้นการเสียค่าปรับจากการทำผิดกฎจราจร เขามีกำหนดถูกนำตัวขึ้นศาลนัดต่อไปวันที่ 5 เมษายน โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าเขาจะถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายเพิ่มขึ้นอีก
อาร์เดิร์นบอกว่า คนร้ายผู้นี้จะถูกไต่สวนพิจารณาคดีในศาลของนิวซีแลนด์ แต่เธอก็กำลังขอคำแนะนำเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเนรเทศเขาไปยังออสเตรเลีย ปกติแล้วอาชญากรจะถูกส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด ภายหลังพวกเขารับโทษจนครบถ้วนในประเทศที่ไปก่อคดีกระทำความผิดแล้ว
ชาวออสเตรเลียต่างแสดงออกซึ่งความต้องการที่จะช่วยเหลือนิวซีแลนด์ภายหลังการเข่นฆ่าครั้งนี้ โดยแม้กระทั่งที่เมืองเกิดของทาร์แรนต์เองก็ยังมีการจัดพิธีรำลึกไว้อาลัยให้แก่เหยื่อผู้สูญเสีย
มีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 1 ล้านรายในคำร้องที่มุ่งหาทางขับไล่วุฒิสมาชิก เฟรเซอร์ แอนนิ่ง (Fraser Anning) ให้พ้นจากรัฐสภา ส.ว.ออสเตรเลียซึ่งเป็นคนขวานผ่าซากผู้นี้ ได้กล่าวประณามเหตุการณ์กราดยิงคราวนี้ว่ามีสาเหตุมาจากนโยบายเรื่องผู้อพยพที่หย่อนยานของนิวซีแลนด์เอง แอนนิ่งซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกของพรรค “วันเนชั่น” (One Nation) ที่มีแนวทางขวาจัด เป็นที่ขึ้นชื่อฉาวโฉ่ว่าเกี่ยวกับทัศนะเรื่องเชื้อชาติแบบสุดโต่งของเขา
ในออสเตรเลียนั้น วุฒิสมาชิกจะไม่สามารถถูกขับไล่ถูกปลดจากตำแหน่งได้ ยกเว้นแต่พวกเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานประกอบอาชญากรรมที่มีโทษจำคุกอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป แต่ก็จะมีวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจเขาเมื่อรัฐสภากลับมาประชุมกันอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ โดยที่เวลานี้เขาก็กำลังเผชิญกับเสียงประณามของสาธารณชนอยู่แล้ว
เมื่อวันอาทิตย์ (17 มี.ค.) เด็กหนุ่มอายุ 17 ปีผู้หนึ่งใช้ไข่ทุบเข้าไปที่ด้านหลังศีรษะของวุฒิสมาชิกผู้นี้ และแอนนิ่งซึ่งบันดาลโทสะได้หันกลับมาต่อยวัยรุ่นผู้นี้ คลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ตอบโต้กันเช่นนี้ถูกนำมาเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางทั้งทางสื่อกระแสหลักและทางโซเชียลมีเดีย เวลานี้ตำรวจกำลังสอบสวนเรื่องนี้อยู่
ได้มีผู้รณรงค์ขอเงินบริจาคเพื่อใช้ช่วยเหลือการสู้คดีของเด็กหนุ่มวัยรุ่นผู้นี้ รวมทั้ง “ใช้ซื้อไข่เพิ่มขึ้นด้วย” รายงานข่าวระบุ
หมายเหตุผู้แปล
[1] สำนักข่าวเอพีมีข้อเขียนพูดถึงแรงจูงใจของมือปืนผู้ก่อเหตุกราดยิงมัสยิดผู้นี้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้
มือกราดยิงมัสยิดคือพวกชาตินิยมสุดโต่งผิวขาว อ้างว่าทำไปเพราะต้องการแก้แค้น
โดย สำนักข่าวเอพี
Mosque shooter a white nationalist seeking revenge
By KRISTEN GELINEAU Associated Press
16/03/2019
มือปืนใจมารผู้ก่อเหตุกราดยิงสังหารหฤโหดที่มัสยิดในนิวซีแลนด์จนมีผู้เสียชีวิตไป 50 คนเมื่อวันศุกร์ (15 มี.ค.) พูดถึงตัวเองว่าเป็นนักชาตินิยมผิวขาวชาวออสเตรเลียอายุ 28 ปีที่เกลียดชังผู้อพยพ เขารู้สึกโกรธแค้นเรื่องการโจมตีหลายๆ ครั้งซึ่งเกิดขึ้นในยุโรปโดยฝีมือคนร้ายที่เป็นชาวมุสลิม เขาต้องการล้างแค้น และเขาต้องการสร้างความหวาดกลัวขึ้นมา
แน่นอนชัดเจนทีเดียวว่า เขายังต้องการให้ตัวเองเป็นที่สนใจอีกด้วย
ถึงแม้เขาอวดอ้างว่าไม่ได้ใฝ่หาชื่อเสียง แต่มือปืนผู้นี้ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าชื่อ เบรนตัน แฮร์ริสั ทาร์แรนต์ (Brenton Harrison Tarrant) ก็ได้นำเอาเอกสารความยาว 74 หน้าขึ้นเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียในนามของตัวเขาเอง ก่อนหน้าที่จะก่อเหตุไม่นาน โดยที่เขาบอกว่าวาดหวังให้ตัวเองรอดชีวิตภายหลังการโจมตีเพื่อที่จะได้เผยแพร่ทัศนะของเขาในสื่อมวลชนได้ดียิ่งขึ้น
เขายังไลฟ์สตรีมให้โลกรับรู้รายละเอียดเป็นภาพเคลื่อนไหวจะจะ ในเรื่องการยิงรัวเข่นฆ่ากลุ่มคนที่เข้าไปละหมาด ซึ่งไม่ได้มีอาวุธติดตัวและไม่ได้เตรียมใจเผชิญเหตุร้าย รวมทั้งยังมีเด็กๆ และผู้หญิงรวมอยู่ด้วย ณ มัสยิด อัล นูร์ (Al Noor Mosque) ในเมืองไครสต์เชิร์ช
การไล่ฆ่าคนที่ไม่มีอะไรมาต่อสู้อย่างทารุณของเขาที่มัสยิดแห่งนี้ มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 41 คน ขณะที่การเข้าโจมตีมัสยิดแห่งที่สองในเมืองเดียวกันไม่นานหลังจากนั้น ก็คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นอีกหลายคน
ตอนเช้าวันเสาร์ (16 มี.ค.) ทาร์แรนต์ถูกนำตัวไปขึ้นศาลเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และไม่ได้แสดงอารมณ์อะไรออกมา ตอนที่ผู้พิพากษาอ่านข้อหาที่อัยการกล่าวหาตัวเขา ถึงแม้เขาดูเหมือนจะใช้มือแสดงสัญลักษณ์ของพวก “ลัทธิชาวผิวขาวต้องเป็นใหญ่”
ขณะที่เอกสาร 74 หน้าที่เขาเรียกมันว่าเป็น “คำประกาศ” (manifesto) ของเขา และวิดีโอไล่ฆ่าคนของเขา ต่างก็เป็นแผนอุบายในการโจมตีให้ร้ายผู้อื่นและมุ่งสร้างชื่อตัวเองให้กระเดื่องโด่งดังในทางเลวอย่างชัดเจน กระนั้นมันก็บรรจุไว้ด้วยร่องรอยสำคัญสำหรับการที่สาธารณชนจะพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมใครคนหนึ่งจึงสามารถพุ่งเป้าหมายเข่นฆ่าคนบริสุทธิ์จำนวนหลายสิบคน ซึ่งเพียงแค่กำลังใช้ช่วงเวลาในตอนบ่ายด้วยการสวดมนตร์ทำพิธีทางศาสนา
คงจะลำบากทีเดียว หากจะหาสถานที่สำหรับเป็นจุดก่อเหตุสังหารหมู่ผู้คน ซึ่งดูแปลกประหลาดผิดเพี้ยนได้ยิ่งกว่านิวซีแลนด์ --ประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องความเงียบสงบและห่างไกลแสนไกลจากเหตุกราดยิงใส่มวลชนอย่างที่เกิดขึ้นแทบทุกเมื่อเชื่อวันในสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งพวกตำรวจแทบจะไม่พกปืนติดตัวกันเลย
กระนั้น มือปืนผู้นี้เองได้กล่าวย้ำว่าความห่างไกลจากเรื่องเช่นนี้ของแดนกีวีนั่นแหละ เป็นเหตุผลประการหนึ่งซึ่งทำให้เขาเลือกก่อเหตุที่นี่ เขาเขียนเอาไว้ว่าการเปิดการโจมตีที่นิวซีแลนด์จะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าไม่มีสถานที่ใดๆ เลยบนโลกใบนี้ที่มีความปลอดภัย และแม้กระทั่งชาติที่อยู่ห่างไกลออกไปจากกระแสหลักของโลกอย่างนิวซีแลนด์ก็ยังตกเป็นที่หมายของผู้อพยพจำนวนมาก
เขาบอกว่าเขาเติบโตขึ้นมาในครอบครัวชาวออสเตรเลียที่เป็นชนชั้นผู้ใช้แรงงาน มีชีวิตในวัยเด็กตามปกติทั่วไป และเป็นนักเรียนที่มีฐานะยากชน พวกญาติๆ ของทาร์แรนต์ซึ่งยังพำนักอาศัยอยู่แถวๆ เมืองกราฟตัน (Grafton) เมืองเกิดของเขาในรัฐนิวเซาท์เวลส์, ออสเตรเลีย ต่างพากันติดต่อกับตำรวจภายหลังทราบเรื่องการกราดยิง และกำลังให้ความช่วยเหลือการสืบสวนสอบสวน พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของท้องถิ่นบอก
ตัวทาร์แรนต์นั้นใช้เวลาอยู่ในออสเตรเลียน้อยมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่บันทึกประวัติอาชญากรรมของเขาก็ไม่ได้มีอะไรนักหนานอกเหนือจากการกระทำผิดกฎจราจร
หญิงผู้หนึ่งซึ่งบอกว่าเป็นเพื่อนร่วมงานของเขา เมื่อตอนที่เขาทำงานเป็นครูฝึกส่วนตัวด้านการออกกำลังกายอยู่ที่กราฟตันเล่าว่า เธอรู้สึกช็อกเมื่อทราบว่าเขาเป็นผู้ต้องหากระทำการอันเลวร้ายนี้
“ฉันไม่อยาก … เชื่อเลยว่าใครคนหนึ่งที่ฉันอาจจะติดต่อด้วยเป็นประจำทุกวัน รวมทั้งได้เคยพูดคุยได้เคยมีปฏิสัมพันธ์ด้วย จะสามารถกลายเป็นอะไรที่สุดโต่งขนาดนี้” เทรซี เกรย์ (Tracey Gray) กล่าวในการให้สัมภาษณ์บรรษัทวิทยุและโทรทัศน์ออสเตรเลีย (Australian Broadcasting Corp)
เอกสารคำประกาศที่มือปืนผู้นำโพสต์เอาไว้ มีเนื้อหาวกวนเรื่อยเจื้อยเป็นน้ำท่วมทุ่ง และแสดงให้เห็นถึงความคิดความเชื่อของเขาที่สับสนและกระทั่งขัดแย้งกันเอง
นอกเหนือจากทัศนะแบบชาตินิยมชาวผิวขาวต้องเป็นใหญ่ของเขาแล้ว เขายังอวดอ้างว่าเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และระบุว่าเขาเป็นพวกฟาสซิสต์ที่เชื่อในเผด็จการชาตินิยมขวาจัดแบบนาซี แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าจีนเป็นชาติซึ่งเข้ากันได้กับค่านิยมทางการเมืองและทางสังคมของเขามากที่สุด เขาบอกด้วยว่าเขาชิงชังรังเกียจพวกอภิมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดจำนวน 1% ของโลก และเขาระบุว่า แคนเดซ โอเวนส์ (Candace Owens) นักวิจารณ์ให้ความเห็นทางสื่อชาวอเมริกันที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม คือบุคคลซึ่งมีอิทธิพลต่อเขามากที่สุด ขณะที่กล่าวด้วยว่า “การกระทำอย่างสุดโต่งต่างๆ ที่เธอเรียกร้องนั้นมักมากไปหน่อย แม้กระทั่งสำหรับรสนิยมของตัวผม”
ทางด้านโอเวนส์ได้ตอบโต้ด้วยการทวิตว่า หากสื่อวาดภาพว่าเธอเป็นแรงบันดาลใจให้แก่การโจมตีคราวนี้แล้ว ก็เตรียมจ้างทนายเอาไว้ได้เลย เพราะเธอจะฟ้องแน่
คำประกาศนี้ยังมีการพาดพิงถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ครั้งเดียว โดยเขาตั้งคำถามขึ้นมาว่าเขาเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ใช่หรือไม่ และเขาก็ให้คำตอบว่า “ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอัตลักษณ์ชาวผิวขาวและจุดประสงค์ร่วมของชาวผิวขาว ที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่น่ะรึ? แน่นอนอยู่แล้ว ในฐานะที่เป็นผู้วางนโยบายและเป็นผู้นำหรือ? พระเจ้าทรงโปรด ไม่ใช่เลย”
ตลอดทั่วทั้งเอกสารคำประกาศฉบับนี้ แนวเรื่องหลัก (ธีม) ที่เขาจะหวนกลับมาพูดถึงบ่อยครั้งที่สุด ได้แก่ความขัดแย้งระหว่างผู้สืบเชื้อสายจากชาวยุโรปกับชาวมุสลิม โดยเขามักพูดภายในกรอบความคิดว่าเป็นการทำสงครามครูเสด
ในบรรดาถ้อยคำอันแสดงความเกลียดชังของเขานั้น มีการกล่าวอ้างว่าเขามีแรงจูงใจไปสู่การใช้ความรุนแรงเนื่องจากฉากเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2017 ขณะที่เขากำลังท่องเที่ยวอยู่ในยุโรปตะวันตก นั่นก็คือตอนที่ชายชาวอุซเบกิสถานคนหนึ่งขับรถบรรทุกเข้าไปใส่ฝูงชนในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน สังหารผู้คนไป 5 คน
เขาบอกว่าความปรารถนาที่จะใช้ความรุนแรงของเขาเพิ่มพูนยิ่งขึ้นเมื่อเขาเดินทางไปเที่ยวในฝรั่งเศส โดยที่เขาบอกว่าเขารู้สึกรังเกียจไม่พอใจเมื่อได้เห็นพวกผู้อพยพอยู่กันเต็มตามเมืองใหญ่น้อยต่างๆ ที่เขาไปเยือน
สามเดือนต่อมา เขาก็เริ่มวางแผนที่จะก่อการโจมตีขึ้นในเมืองไครสต์เชิร์ช เขาบอกว่าเขาได้บริจาคเงินให้แก่กลุ่มชาตินิยมขวาจัดหลายกลุ่ม แต่อ้างว่าไม่ได้เป็นสมาชิกโดยตรงของกลุ่มใด เลย อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่าได้มีการติดต่อกับกลุ่มต่อต้านผู้อพยพที่มีชื่อว่า คณะอัศวินคริสเตียนเทมปลาร์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ (the reborn Knights Templar) และบอกว่าเขาได้รับการอนุมัติจาก อันเดอร์ส เบรวิค (Anders Breivik) สำหรับการโจมตีครั้งนี้ อันเป็นข้ออ้างที่ยังไม่สามารถยืนยันใดๆ ได้
เบรวิคคือชาวนอร์เวย์ที่เป็นพวกขวาจัดสุดโต่งซึ่งได้สังหารผู้คนไป 77 คนในกรุงออสโลและเกาะแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงกันเมื่อปี 2011 ออยสไตน์ สตอร์วิค (Oeystein Storrvik) ทนายความของเบรวิค บอกกับหนังสือพิมพ์ วีจี (VG) ของนอร์เวย์ว่า ลูกความของเขาซึ่งเวลานี้ติดคุกอยู่ “มีการติดต่อกับโลกแวดล้อมภายนอกที่จำกัดมาก ดังนั้นจึงดูไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เขาได้เคยติดต่อ” กับมือปืนชาวออสเตรเลียผู้นี้
มือปืนผู้นี้ยังพูดเรื่อยเจื้อยเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายที่เขาวาดหวังไว้จากการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งก็มีทั้งการลดจำนวนผู้อพยพจากการกระทำที่จะเป็นการขู่ขวัญพวกเขา และการตอกลิ่มให้เกิดความแตกแยกระหว่างองค์การนาโต้กับประชาชนชาวตุรกี เขาบอกด้วยว่าเขาหวังที่จะทำให้โลกตะวันตกเกิดการแตกขั้วและไร้เสถียรภาพ และจุดประกายให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในสหรัฐฯซึ่งในที่สุดแล้วจะส่งผลทำให้เกิดการแบ่งแยกคนเชื้อชาติต่างๆ ออกจากกัน อย่างไรก็ตาม เวลานี้การโจมตีของเขากำลังส่งผลกระทบในทางตรงกันข้ามโดยที่มีเสียงประณามสาปแช่งการก่อเหตุนองเลือดเช่นนี้ดังก้องจากทุกๆ ส่วนของโลก และมีการเรียกร้องให้สามัคคีรวมพลังกันคัดค้านต่อต้านความเกลียดชังและความรุนแรง
น่าสังเกตว่ามือปืนผู้นี้ได้ใช้สัญลักษณ์แสดงความเกลียดชัดหลายๆ อย่างซึ่งเกี่ยวข้องกับพวกนาซีและพวกนักลัทธิชาวผิวขาวต้องเป็นใหญ่ ตัวอย่างเช่น หมายเลข 14 ที่เห็นบนปืนเล็กยาวที่เขาใช้เป็นอาวุธสังหารนั้น มีความเป็นไปได้ว่ามุ่งอ้างอิงพาดพิงถึง “ถ้อยคำ 14 คำ” (14 Words) ที่เป็นคำขวัญหนึ่งของพวกนักลัทธิชาวผิวขาวต้องเป็นใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากหนังสือเรื่อง “Mein Kampf” ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทั้งนี้ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยกลุ่ม เซาเทิร์น พอเวอร์ตี้ ลอว์ เซนเตอร์ (Southern Poverty Law Center) โดยที่กลุ่มนี้ระบุด้วยว่า เขายังใช้สัญลักษณ์ “Schwarze Sonne” หรือตะวันสีดำ ซึ่ง “สอดคล้องเหมือนกันกับกลุ่มขวาจัดจำนวนมากมายที่เดินอยู่ในเส้นทางนาซีใหม่ (neo-Nazi)”
ในคำประกาศ มือปืนผู้นี้เขียนว่าที่เลือกเล่นงานเหยื่อเหล่านี้ เพราะเขามองเห็นพวกเขาเป็นผู้รุกรานที่จะเข้ามาแทนที่คนเชื้อชาติผิวขาว เขาทำนายว่าเขาจะไม่รู้สึกเสียอกเสียใจอะไรกับความตายของคนเหล่านี้ และในวิดีโอที่เขาไลฟ์สตรีมการกราดยิงของเขานั้น ก็มองไม่เห็นและไม่ได้ยินอาการเสียอกเสียใจของเขาเลย ขณะที่เขาพ่นกระสุนอย่างสุดโหดเข้าใส่สาธุชนผู้ศรัทธาครั้งแล้วครั้งเล่า บางครั้งยังยิงซ้ำใส่คนที่ถูกเขายิงล้มคว่ำไปแล้ว
สถานที่เกิดเหตุการสังหารอย่างเหี้ยมเกรียมที่มือปืนผู้นี้ก่อขึ้นมา ทำให้ทั้งประเทศนิวซีแลนด์และทั่วทั้งโลกรู้สึกช็อก ดังคำพูดของนายกรัฐมนตรี จาซินดา อาเดิร์น ของแดนกีวีที่กล่าวว่า นี่เป็น “หนึ่งในวันเวลาอันดำมืดที่สุดของนิวซีแลนด์”