xs
xsm
sm
md
lg

In Clips : สุดอึ้งรัฐบาลญี่ปุ่นจับ 25,000 คน อายุต่ำสุด 9 ปีทำหมัน! ยอมจ่ายชดเชยแล้ว 3.2 ล้านเยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

(ภาพใหญ่) ผู้เสียหาย จุงโกะ  ไออิซูกะ ถูกรัฐบาลบังคับทำหมันเมื่อมีอายุได้ 16 ปี
เอเจนซีส์ - เหยื่อชาวญี่ปุ่นจำนวน 16,500 รายจากทั้งหมด 25,000 คนที่ถูกบังคับทำหมันตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนถึงยุค 90 จากเหตุผล “เพื่อความเป็นเลิศของชาติพันธุ์” ได้รับการเยียวยา 3.2 ล้านเยน หรือ 28,700 ดอลลาร์ พร้อมกับคำขออภัยอย่างสุดซึ้งจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ พบเหยื่ออายุต่ำสุดแค่ 9-10 ปีเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นสตรีหรือเด็กผู้หญิง

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้ (18 มี.ค.) ว่า เหยื่อชาวญี่ปุ่นที่ถูกบังคับวางแผนครอบครัวระหว่างปี 1948-1996 ที่ยังคงมีชีวิตคาดว่า ในไม่ช้านี้จะได้รับเงินชดเชยเป็นเงินก้อนจำนวน 3.2 ล้านเยน หรือ 28,700 ดอลลาร์ พร้อมกับคำขออภัยอย่างสูงจากรัฐบาลญี่ปุ่น

ค่าชดเชยนี้มาจากกฎหมายที่เป็นการตกลงระหว่างสมาชิกพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำร่างฯเข้าสู่รัฐสภาญี่ปุ่นได้ในเดือนหน้า

ท่ามกลางความยินดีแต่ทว่าเหยื่อและผู้เคลื่อนไหวต่างมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่เพียงพอ

“บุคคลซึ่งมีสิทธิตัดสินใจที่จะให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตรนั้นได้ถูกละเมิด ดังนั้นการจ่ายครั้งเดียวแค่ 3.2 ล้านเยนนั้นไม่สามารถทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นยุติได้” โคจิ นิอิซาโต (Koji Niisato) ทนายความตัวแทนบางส่วนของเหยื่อผู้เสียหายกล่าว

ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมาธิการพรรคร่วมของญี่ปุ่นที่เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายเงินชดเชยนี้ได้แสดงความเห็นว่า จำเป็นต้องเกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มผู้เสียหายภายใต้กฎหมายบังคับวางแผนครอบครัวนั้นเริ่มแก่ตัวลง

“พวกเขาเริ่มชราภาพ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการมากกว่าสิ่งใดทั้งหมด ในการทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม” อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขญี่ปุ่น ฮิเดฮิสะ โอตซูจิ (Hidehisa Otsuji) กล่าวต่อบรรดานักข่าว

อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ไมนิจิ (Mainichi) ของญี่ปุ่น โอตซูจิเสริมว่า “หากว่าเราต้องรอจนกว่าที่จะหาทางออกได้อย่างสมูรณ์แบบได้ พวกเราคงพลาดเพราะไม่ได้ทำสิ่งใด”

ทั้งนี้ พบว่าในปีที่ผ่านมามีการออกมาเรียกร้องเพิ่มมากขึ้นหลังจากเหยื่อผู้เสียหายได้ฟ้องร้องทางคดีต่อรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อต้องการรับความชดเชยค่าเสียหายเกิดมาจากนโยบายเชิงปฏิบัติของโตเกียวภายใต้ กฎหมายทำหมันเพื่อสุพันธุกรรม (Eugenic Protection Law) เพื่อความเป็นเลิศของชาติพันธุ์บูชิโด ที่ใช้หลังสงครามโลกครีั้งที่ 2 มาจนถึงยุค 90 โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออยู่ในกลุ่มที่ทางการอ้างว่ามีปัญหาทางสติปัญญา

พบช่วงระหว่างปี 1948-1996 มีชาวญี่ปุ่นจำนวน 25,000 คนถูกรัฐบาลบังคับให้ทำหมันภายใต้กฎหมายนี้ ในจำนวนนี้รวมไปถึง 16,500 คนที่ไม่ยินยอม โดยผู้ได้รับผลกระทบภายใต้คำสั่งมีอายุน้อยสุดราว 9-10 ปีเท่านั้น และ 70% ของผู้ได้รับผลกระทบเป็นสตรีหรือเด็กหญิง

ปีที่ผ่านมา เดอะการ์เดียนได้รายงานถึงเหยื่อสตรี 2 รายที่ถูกรัฐบาลญี่ปุ่นบังคับทำหมัน หนึ่งในนั้นคือ “ยูมิ ซาโต” (Yumi Sato) ซึ่งเป็นนามสมมุติ พบว่าเธอถูกทำหมันเมื่อมีอายุได้ 15 ปีในปี 1972

ซาโตมีกำหนดต้องแต่งงานเมื่อเธออยู่มีอายุราว 20 ปี โดยพี่สะใภ้ของซาโตได้เปิดเผยกับเดอะการ์เดียน และกล่าวต่อว่า “แต่เมื่อเธอกล่าวว่า เธอไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ และทำให้ชายผู้นั้นที่ได้ขอเธอแต่งงานได้บอกกับเธอว่า พวกเขาไม่ต้องการแต่งงานกับเธออีกต่อไป”

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎรที่ระบุว่า ซาโตสมควรอยู่ในข่ายต้องถูกวางแผนครอบครัวเป็นเพราะเธอมีปัญหาทางสติปัญญาที่มาจากพันธุกรรม (hereditary feeble-mindedness) แต่ทว่ามีหลายกรณีซึ่งได้รับการวินิจฉัยนั้นถูกโต้แย้งจากครอบครัวของผู้ป่วย

ขณะที่ผู้เสียหายอีกราย จุงโกะ ไออิซูกะ (Junko Iizuka) นามสมมุติเช่นกัน ถูกรัฐบาลบังคับทำหมันด้วยการผูกท่อรังไข่เมื่อปี 1963 เนื่องจากเธอได้รับการวินิจฉัยเมื่อมีอายุได้ 16 ปีว่า ต้องสงสัยอยู่ในกลุ่มด้อยสติปัญญา โดยเธอต้องการที่จะยกเลิกการทำหมันแต่ได้รับการบอกว่า ไม่สามารถเป็นไปได้

“พวกเขาขโมยชีวิตของดิฉันไป” ไออิซูกะกล่าวที่เมืองเซนได(Sendai) บนเกาะฮอนชูปีที่แล้ว

ทั้งนี้ การเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งในระหว่างนี้อยู่ในกระบวนการศาล มีจุดประสงค์เพื่อขอรับเงินชดเชยจำนวนที่สูงกว่าตัวเลขที่รัฐบาลโตเกียวเสนอ




กำลังโหลดความคิดเห็น