xs
xsm
sm
md
lg

‘โบอิ้ง’ก้าวพลาดทางยุทธศาสตร์กรณี 737 แม็กซ์ ‘ทรัมป์’ควรต้องฉวยโอกาสทองจากเรื่องนี้

เผยแพร่:   โดย: สเปงเกลอร์

<i>เครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8 จำนวน 3 ลำของสายการบินเซี่ยงไฮ้แอร์ไลนส์ จอดอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติหงเฉียวของเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. อันเป็นวันที่ทางการจีนสั่งสายการบินของแดนมังกรห้ามบินเครื่องบินโมเดลนี้ </i>
‘โบอิ้ง’ก้าวพลาดทางยุทธศาสตร์กรณี 737 แม็กซ์ ‘ทรัมป์’ควรต้องฉวยโอกาสทองจากเรื่องนี้
โดย สเปงเกลอร์

Boeing misstep a strategic opportunity for US
By Spengler
13/03/2019

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ควรใช้อำนาจในตำแหน่งของเขาอย่างเต็มที่เพื่อไล่เรียงให้โบอิ้งต้องแสดงความรับผิดสำหรับความมักง่ายและการเก็บงำไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ รวมทั้งยังเป็นประกาศย้ำจุดยืนของตัวทรัมป์เองในการต่อสู้กับการทุจริตฉ้อฉลในแวดวงอุตสาหกรรม

ผมไม่ได้บอกว่าโบอิ้งเย่อหยิ่งโอหังหรอกนะ ผมบอกเพียงแค่ว่าพวกเขาเอาแต่ทำหน้าเชิดจมูกรั้นอยู่เรื่อย

ไม่ต้องเล่นมุกอย่างนี้ก็ได้ พูดกันตรงไปตรงมาเลย “กรณีอื้อฉาว” ของโบอิ้งที่กำลังเกิดขึ้นมาเวลานี้ต้องถือเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น กำลังถูกบีบคั้นหนักจนต้องตั้งการ์ดจุกช่องล้อมวงวางมาตรการป้องกันรอบๆ บริษัทที่ถือเป็นหนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรมระดับ “เรือธง” ของอเมริกา โดยหนี่งในบรรดาเหตุผลอันสำคัญๆ ก็คือ เนื่องจากจีนจะฉวยใช้ประโยชน์จากวิกฤตคราวนี้เพื่อโปรโมตส่งเสริมสนับสนุนเครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ของพวกเขาซึ่งกำลังนำเข้าสู่ตลาดเครื่องบินพลเรือน ทรัมป์นั้นควรที่จะเพิกเฉยเย็นชากับเหล่าโขยงนักล็อบบี้ของอุตสาหกรรมการบิน รวมทั้งพวกคอยประสานเสียงพลอยเฮละโลไปด้วยในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และคว้าเอาโอกาสนี้มาสะสางระบายน้ำทำความสะอาดบ่อน้ำเน่าในอุตสาหกรรมด้านการทหารของอเมริกา

มาถึงเวลานี้ทั่วทั้งโลกต่างได้ทราบถึงสิ่งซึ่งเหล่านักบินและวิศวกรช่างเครื่องอากาศยานต่างรู้กันมายาวนานแล้ว นั่นคือ โบอิ้งนำเอาเครื่องยนต์รุ่นทันสมัยขนาดใหญ่ยัดใส่เข้าไปในกรอบโครงดีไซน์อากาศยานของยุคทศวรรษ 1950 ซึ่งทำให้ 737 แม็กซ์ อยู่ในสภาพไม่เสถียรอย่างชนิดต้องถือเป็นคุณสมบัติประจำตัวประการหนึ่ง โดยมีความโน้มเอียงที่จมูกเครื่องบินจะคอยเชิดขึ้น และเครื่องบินจะคอยร่วงลง บริษัทหาทางแก้ไขปัญหาเช่นนี้อย่างลวกๆ เอาง่ายเข้าว่า ด้วยการอาศัยซอฟต์แวร์ควบคุม [1] ทว่ากลับไม่ได้จัดฝึกอบรมนักบินให้รู้จักมักคุ้นกับลักษณะพิเศษของเครื่องบินรุ่นใหม่นี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถเร่งรัดการขายให้ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

บริษัทจะมีความผิดทางอาญาหรือไม่มากน้อยขนาดไหน นั่นเป็นสิ่งที่พวกนักกฎหมายจะต้องไปพิจารณาวินิจฉัยกัน แต่เราคงพูดได้ว่า นอร์วีเจียน แอร์ (Norwegian Air) สายการบินของนอร์เวย์ จะไม่ใช่เป็นสายการบินสุดท้ายหรอกซึ่งออกมาเรียกร้องต้องการค่าชดเชยจากโบอิ้ง สำหรับรายรับที่ต้องสูญเสียไปขณะที่ฝูงเครื่องบิน 737 แม็กซ์ ถูกสั่งห้ามโผขึ้นฟ้า

กรณีฉาวโฉ่ โบอิ้ง 737 แม็กซ์ ต้องถือเป็นความหายนะประการหนึ่งสำหรับสหรัฐฯ แถมมันยังเกิดขึ้นมาในเวลาที่สุดแสนจะละเอียดอ่อนไหว บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของประเทศจีน คือ COMAC (บรรษัทอากาศยานทางการพาณิชย์แห่งประเทศจีน Commercial Aircraft Corporation of China, Ltd.) ได้รับใบสั่งซื้อเกือบๆ 1,000 ลำแล้วสำหรับเครื่องบินโดยสารไอพ่น 2 เครื่องยนต์รุ่น ซี 919 ของบริษัท ซึ่งออกมาแบบมาเพื่อแข่งขันกับ 737 แม็กซ์ ของโบอิ้ง ตลอดจน แอร์บัส 320 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bizjournals.com/seattle/news/2018/03/21/chinas-rival-to-boeing-737-nowhas-nearly-1-000.html)

ความอื้อฉาวที่ปรากฏขึ้นมาคราวนี้ ไม่เพียงสร้างรอยด่างให้แก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของอุตสาหกรรมอเมริกันเท่านั้น แต่ยังทำความเสียหายมัวหมองให้แก่เครดิตความน่าเชื่อถือของพวกหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยของการคมนาคมทางอากาศของสหรัฐฯ ซึ่งก็คือ สำนักงานบริหารการบินสหรัฐฯ(Federal Aviation Administration ใช้อักษรย่อว่า FAA) และคณะกรรมการความปลอดภัยทางการคมนาคมขนส่งแห่งชาติ (National Transportation Safety Board ใช้อักษรย่อว่า NTSB)

ประธานาธิบดีทรัมป์ควรต้องระลึกถึงคำแนะนำของ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill เกิด 30 พ.ย. 1874 ตาย 24 ม.ค. 1965 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรอยู่ 2 สมัย โดยสมัยแรกซึ่งทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังเป็นที่ยอมรับนับถือกันมากคือระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 -ผู้แปล) ที่ว่า อย่าทำให้วิกฤตการณ์กลายเป็นของเสียเปล่า และใช้อำนาจในตำแหน่งของเขาอย่างเต็มที่เพื่อไล่เรียงให้โบอิ้งต้องแสดงความรับผิดสำหรับความมักง่ายและการเก็บงำไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ นี่คือสิ่งถูกต้องซึ่งจะต้องกระทำในฐานะเป็นเรื่องที่จะสร้างความได้เปรียบทางการเมืองอย่างมโหฬาร –ชาวอเมริกันนั้นต้องการให้เหล่าผู้นำของพวกเขายืนหยัดต่อสู้กับการทุจริตไม่ชอบมาพากลในแวดวงอุตสาหกรรม— ไม่เพียงเท่านั้น มันยังเป็นโอกาสอันงดงามในทางยุทธศาสตร์อีกด้วย

เหตุผลสำคัญที่สุดในเรื่องที่ว่าทำไมฐานะทางการทหารของอเมริกาจึงได้เสื่อมโทรมลงเมื่อเปรียบเทียบกับพวกคู่แข่งขันทางยุทธศาสตร์ ก็คือเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบนี่แหละ ตรงๆ ง่ายๆ เลย การจับมือเป็นพันธมิตรในแบบผสมพันธุ์ถ่ายเทกันไปมาระหว่าง 2 บริษัทผูกขาดในอุตสาหกรรมกลาโหมอเมริกัน (นั่นคือ โบอิ้ง และ ล็อกฮีด-มาร์ติน) กับพวกนายใหญ่นายโตของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นการเอาบังเหียนแห่งทัศนะยุทธศาสตร์แบบถอยหลังเข้าคลองและค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองมหาศาลมาครอบใส่ฝ่ายทหาร

พวกบริษัทผู้รับเหมารับจ้างด้านกลาโหมน่ะไม่ได้ทำเงินได้มากด้วยนวัตกรรมหรอก พวกเขาทำเงินได้มากด้วยการขายระบบอาวุธอย่างเดียวกันให้เพนตากอนปีแล้วปีเล่าต่างหาก ขณะที่เหล่านายพลทั้งหลายก็ไม่ใช่ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งด้วยการเสนออะไรใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างแรงๆ หรอก พวกเขากำลังได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งจากการบังคับบัญชากองกำลังอาวุธประเภทเดิมๆ ที่เหล่าผู้บังคับบัญชาของเขาได้เคยบังคับบัญชามาแล้วต่างหากล่ะ

ไม่เป็นไรหรอก ถึงแม้เครื่องบินรบซึ่งประจำการอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบินนั้น แท้จริงแล้วคือระบบอาวุธเก่าๆที่มีอายุถึง 100 ปีแล้ว และขีปนาวุธสมัยใหม่ตลอดจนเรือดำน้ำสมัยใหม่สามารถเล่นงานเอาจนเรือบรรทุกเครื่องบินเดี้ยงไปเลย รวมทั้งพวกเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันยังต่างต้องออกปฏิบัติการในระยะห่างจากชายฝั่งของจีน 1,000 ไมล์เพื่อหลีกให้ห่างจากพิสัยทำการของขีปนาวุธจีน

เวลานี้เพนตากอนยังคงต้องการเรือบรรทุกเครื่องบินเพิ่มขึ้น, เครื่องบินขับไล่เอฟ-35 เพิ่มขึ้น, และเครื่องบินขับไล่เอฟ-18 เพิ่มขึ้น ทำนองเดียวกับมีความต้องการกองทหารม้าในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือมีความต้องการเรือประจัญบานในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อาวุธเหล่านี้มันดูดีงามอยู่หรอกในเวลาวางแผน แต่จะช่วยอะไรไม่ได้มากนักในเวลาสู้รบกันจริงๆ

ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจเลยที่ว่าโทรศัพท์ครั้งแรกสุดที่ ซีอีโอของโบอิ้ง เดนนิส มุยเลนเบิร์ก (Dennis Muilenburg) กดไปหาก็คือประธานาธิบดีทรัมป์ กรณีอื้อฉาว 737 แม็กซ์ มีลักษณะที่เป็นกรณีทางการเมืองอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว กล่าวคือ จีนจะต้องฉวยใช้ประโยชน์จากความไม่เอาไหนของอเมริกันเพื่อผลักดันฐานะเชิงพาณิชย์ของพวกเขาเอง ไม่เพียงเท่านั้น โบอิ้งยังเป็นบริษัทผู้รับเหมารับจ้างด้านกลาโหมซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวดในทางยุทธศาสตร์รายหนึ่งอีกด้วย แล้วต้องไม่ลืมว่า แพทริก แชนาแฮน (Patrick Shanahan) รักษาการรัฐมนตรีกลาโหมในเวลานี้ของทรัมป์ เป็นผู้ที่ทำงานอยู่กับโบอิ้งมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี

เอธิโอเปียคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะอนุญาตให้พวกเจ้าหน้าที่กำกับตรวจสอบของสหรัฐฯได้เป็นผู้ดาวน์โหลดข้อมูลจากกล่องดำซึ่งกู้ออกมาจากเที่ยวบิน อีที 302 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลนส์ ที่ตกลงมา ดังที่วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานเอาไว้ในวันพุธ (13 มี.ค.) ดังนี้:

“หลังจากพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของเอธิโอเปียแสดงท่าทีว่า พวกเขาต้องการส่งข้อมูลเที่ยวบินและบันทึกเสียงห้องนักบินไปต่างประเทศ และนิยมชมชอบที่จะให้ฝ่ายสอบสวนอุบัติเหตุทางอากาศของสหราชอาณาจักร (UK’s Air Accidents Investigation Branch) เป็นผู้อยู่ในฐานะฝ่ายอยู่วงนอกที่เข้าทำการสอบสวนอย่างปราศจากอคติความลำเอียง พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้บอก ปรากฏว่าทางพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯก็ได้พยายามใช้การผลักดันเป็นการภายในเพื่อให้พวกเขาส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังสถานที่ของคณะกรรมการความปลอดภัยทางการคมนาคมขนส่งแห่งชาติ (NTSB) ของสหรัฐฯแทน และจวบจนกระทั่งถึงตอนดึกวันอังคาร (12 มี.ค.) พวกเขาระบุว่าสหรัฐฯก็ยังไม่ได้รับทราบการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/u-s-ethiopia-maneuver-over-crashed-planes-black-boxes-11552444534)

จีนคือประเทศแรกที่สั่งห้ามบิน 737 แม็กซ์ ถึงแม้เอฟเอเอออกมายืนยันรับประกันว่าเครื่องบินรุ่นนี้ยังคงปลอดภัยที่จะทำการบิน ยกเว้นแต่แคนาดาเท่านั้น [2] ประเทศอื่นๆ ของโลก รวมทั้งพวกชาติพันธมิตรพูดภาษาอังกฤษของอเมริกาด้วย ต่างพากันเจริญรอยตามจีน [3] สำนักข่าวบลูมเบิร์กให้ความเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้เอาไว้ ดังนี้:

“การที่เครื่องบิน 737 แม็กซ์ของบริษัทโบอิ้งตกโดยที่มีผู้เสียชีวิตยกลำเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงเวลาไม่ถึง 5 เดือน กำลังก่อให้เกิดการจัดลำดับอาวุโสกันใหม่ในด้านความปลอดภัยทางการบิน ผู้ที่กำลังพุ่งพรวดขึ้นไปอยู่อันดับบนสุด คือ จีน ... ประเทศแล้วประเทศเล่าต่างเพิกเฉยมองเมินการประเมินซึ่งกระทำโดยสำนักงานบริหารการบินสหรัฐฯ ที่ระบุว่าเครื่องบินนี้มีความปลอดภัยที่จะทำการบิน แคนาดานั้นเห็นชอบด้วยอยู่หรอกว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะลงมือทำอะไรกัน ทว่าประเทศอื่นๆ จำนวนมากต่างพากันออกมาเข้าแถวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อหลังชาติสำคัญชาติแรกซึ่งสั่ง “กราวด์” ฝูงบิน 737 แม็กซ์ –นั่นก็คือ ประเทศจีน” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-03-13/boeing-disaster-isolates-faa-with-china-leading-push-against-max)

หน่วยงานของจีนที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้านความปลอดภัยของสายการบินนั้น ต้องการที่จะสถาปนาตนเองให้กลายเป็น “มาตรฐานทองคำ” ในระดับโลก อย่างที่ แชด โอห์ลันด์ต (Chad Ohlandt) แห่งบรรษัทแรนด์ (RAND Corporations) บอกกับบลูมเบิร์ก โดยในเวลาเดียวกันนั้นจีนก็เสนอขายเครื่องบินโดยสารไอพ่นระดับเวิลด์คลาสรุ่นแรกของตัวเองไปด้วย

เครื่องบิน ซี 919 ของ COMAC ต้องพึ่งพาอาศัยหนักเทคโนโลยีของฝ่ายตะวันตกและการทดสอบของทางตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบริษัทบอมบาร์ดิเอร์ (Bombardier) แห่งแคนาดา แต่ถึงกระนั้น ลู่ทางความเป็นไปได้ที่จีนอาจจะกระโจนพรวดเข้ามีฐานะสำคัญระดับโลกในการจำหน่ายเครื่องบิน ย่อมเป็นสิ่งที่กล้ำกลืนยอมรับได้อย่างยากเย็นในวอชิงตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพวกชาติพันธมิตรส่วนใหญ่ของอเมริกาต่างพากันบอกปัดความพยายามของคณะบริหารทรัมป์ ที่จะปิดกั้นไม่ให้บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีส์ของจีน ได้เข้าร่วมในการนำเอาเครือข่ายสื่อสารไร้สาย 5จี ออกมาใช้งาน

เครื่องบินยังเป็นรายการสินค้ารายการใหญ่ที่สุดซึ่งจีนนำเข้าจากสหรัฐฯ เมื่อปี 2017 จีนซื้อเครื่องบินอเมริกันคิดเป็นมูลค่า 16,300 ล้านดอลลาร์ เปรียบเทียบกับถั่วเหลืองซึ่งอยู่ที่ 12,300 ล้านดอลลาร์, รถยนต์นั่ง 10,500 ล้านดอลลาร์, และเซมิคอนดักเตอร์ 6,000 ล้านดอลลาร์ ความลำบากของโบอิ้งจึงอาจจะถูกหยิบยกเข้าไปในการเจรจาต่อรองเพื่อทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน

แต่ปัญหาใหญ่โตที่สุดของอเมริกานั้นคือการที่ความสามารถผลิตทางอุตสาหกรรมกำลังเสื่อมทรุดหดหาย ดูเหมือนว่าการที่โบอิ้งตัดสินใจทำอะไรแบบมักง่าย และหลบเลี่ยงการรีดีไซน์ผลิตภัณฑ์ตัวที่ทำกำไรมากที่สุดของบริษัท ทั้งๆ ที่จำเป็นจะต้องทำกันมานานแล้ว ก็เพราะว่าการใช้จ่ายเงินทุนเพิ่มมากขึ้นและการใช้เวลาในช่วงวางแผนก่อนการผลิตให้ยาวนานขึ้นนั้น จะไม่ถูกมองอย่างเมตตาปรานีเห็นอกเห็นใจจากตลาดหลักทรัพย์หรอก บริษัทกำลังพึ่งพาอาศัยนักล็อบบี้ของตนมากยิ่งกว่าวิศวกรของตน และบริษัทกลายเป็นตัวอย่างแบบฉบับของทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกระบุว่าเป็นความผิดพลาดที่กลายเป็น “บ่อน้ำเน่า” ซึ่งขัดแย้งตรงกันข้ามกับพวกนโยบายที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเอาไว้ในเวลารณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ตอนนี้ทรัมป์มีโอกาสทองแล้วที่จะระบายน้ำทำความสะอาดบ่อน้ำเน่านี้ และเขาควรจะได้รับคำแนะนำที่ดีให้ยึดคว้าเอาโอกาสนี้เอาไว้ให้มั่นคง

สเปงเกลอร์ เป็นนามปากกาของคอลัมนิสต์ผู้โด่งดังของเอเชียไทมส์มายาวนาน ในปัจจุบันมีการเปิดเผยแล้วว่า ตัวจริงของ สเปงเกลอร์ คือ เดวิด พี. โกลด์แมน (David P. Goldman) ที่เวลานี้ทั้งเป็นผู้ถือหุ้นและทั้งมีข้อเขียนเผยแพร่ในเอเชียไทมส์เป็นประจำโดยใช้ชื่อจริง
<i>โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8 ของอเมริกันแอร์ไลนส์ 2 ลำจอดอยู่ในท่าอากาศยานนานาชาติไมอามี รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ตามคำสั่งฉุกเฉินห้ามขึ้นบินของทางการสหรัฐฯที่ออกมาก่อนหน้านั้น 1 วัน </i>
หมายเหตุผู้แปล

[1] เรื่องโบอิ้ง 737 แม็กซ์ ใช้เครื่องยนต์ใหม่ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้จมูกเครื่องบินจะคอยเชิดขึ้น และเครื่องบินจะคอยร่วงลงนี้ ข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งของเอเชียไทมส์ คือ เรื่อง Trump says jets ‘too complex’ amid Boeing crisis เขียนโดยกองบรรณาธิการเอเชียไทมส์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2019 ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยอ้างอิงข้อเขียนในเว็บไซต์ MIT Technology Review วันเดียวกัน ข้อเขียนของ MIT Technology Review ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้:

“ตามรายงานเบื้องต้นที่เผยแพร่โดยหน่วยงานสอบสวนความปลอดภัยทางอากาศของอินโดนีเซีย เที่ยวบิน 610 ของสายการบินไลอ้อนแอร์ตกเพราะอุปกรณ์เซนเซอร์ที่บกพร่องผิดพลาด โดยอุปกรณ์เซนเซอร์นี้ได้รายงานว่าเครื่องบิน 737 แม็กซ์ ลำดังกล่าวกำลังสูญเสียแรงยกและกำลังร่วงลง แล้วรายงานที่ผิดพลาดเรื่องการร่วงลงนี้ก็ไปกระตุ้นให้ระบบอัตโนมัติระบบหนึ่งของเครื่องบินทำงาน ระบบอัตโนมัติดังกล่าวจะพยายามดึงให้ส่วนจมูกเครื่องบินลงต่ำเพื่อทำให้เครื่องบินสามารถทำความเร็วได้เพียงพอที่จะบินได้อย่างปลอดภัย ทางนักบินของเที่ยวบินนี้ได้ต่อสู้กับระบบอัตโนมัติดังกล่าว โดยพยายามรั้งส่วนจมูกเครื่องบินให้เงยกลับขึ้นมา แต่พวกเขาพ่ายแพ้

“เครื่องบิน 737 แม็กซ์ มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่กว่า 737 ดั้งเดิม ซึ่งทำให้มันใช้เชื้อเพลิงได้อย่างทรงประสิทธิภาพมากขึ้น 14% เมื่อเทียบกับ 737 เจเนอเรชั่นก่อน ขณะที่ “แอร์ เคอร์เรนต์” (Air Current) สิ่งพิมพ์ในแวดวงสายการบินอธิบายว่า ตำแหน่งติดตั้งที่ปรับเปลี่ยนใหม่ ตลอดจนรูปร่างของเครื่องยนต์รุ่นใหม่นี้ ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการในการบังคับเครื่องบิน โดยทำให้ส่วนจมูกมีความโน้มเอียงที่จะเชิดขึ้นในบางสถานการณ์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เครื่องบินสูญเสียแรงยกและร่วงลงมา ระบบอัตโนมัติใหม่ (ที่กล่าวไว้ข้างต้น) ซึ่งมีชื่อว่า maneuvering characteristics augmentation system ใช้อักษรย่อว่า MCAS จึงถูกออกแบบมาเพื่อต่อต้านความโน้มเอียงเช่นนี้”

“เครื่องยนต์ที่ทรงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเหล่านี้ –และการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในระบบอัตโนมัติต่างๆ ของเครื่องบินเพื่อให้สามารถใช้เครื่องยนต์ใหม่เช่นนี้ได้— กลับกลายเป็นภัยต่อความปลอดภัยของเครื่องบินโมเดลนี้เองใช่หรือไม่? ก็อย่างที่นักสังคมวิทยา ชาร์ลส์ เพอร์โรว์ (Charles Perrow) เขียนเอาไว้ในหนังสือเรื่อง Normal Accidents ของเขาที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1984 และกลายเป็นหนังสือระดับคลาสสิกไปเรียบร้อยแล้วนั่นแหละ พวกเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านความปลอดภัยทางอากาศ ไม่ใช่ว่าจะทำให้เครื่องบินมีความปลอดภัยมากขึ้นจริงๆ หรอก เทคโนโลยีเหล่านี้เพียงแค่เปิดทางให้สายการบินทั้งหลายสามารถที่จะ “เพิ่มความเสี่ยงขึ้นอีกมากมาย ในการเสาะแสวงหาผลประกอบการที่สูงขึ้น”

(ข้อเขียนของ MIT Technology Review อ่านเพิ่มเติมได้ที่https://www.technologyreview.com/s/613106/a-second-737-max-crash-raises-questions-about-airplane-automation/)

[2] แคนาดาได้สั่งห้ามบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ที่สายการบินแคนาดาทั้งหลายใช้อยู่ รวมทั้งห้ามเครื่องบินโมเดลนี้บินเข้าออกน่านฟ้าของแคนาดาด้วยในวันที่ 13 มีนาคม ไม่นานนักก่อนที่สหรัฐฯจะออกคำสั่งห้ามบิน 737 แม็กซ์ในวันเดียวกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cbc.ca/news/politics/garneau-boeing-ethiopia-crash-1.5054234)

[3] ในที่สุดสหรัฐฯก็ต้องยอมออกคำสั่งห้ามบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ เช่นเดียวกัน ในวันที่ 13 มีนาคม ตามข้อเขียนชิ้นนี้ของเอเชียไทมส์:

สหรัฐฯยอมเดินตามทั่วโลก สั่งห้ามบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์
โดย กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

US follows world grounding 737 Max jets
By Asia Times staff
14/03/2019

ทรัมป์ประกาศคำสั่งฉุกเฉินในวันพุธ (13 มี.ค.) ห้ามบินเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737 โมเดลแม็กซ์ 8 และโมเดลแม็กซ์ 9 โดยระบุว่าคำสั่งนี้ จะบังคับใช้ไป “จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง”

สหรัฐฯในท้ายที่สุดก็เข้าร่วมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในการสั่ง “กราวด์” ห้ามบินเครื่องบินโบอิ้งพวกโมเดลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุบัติเหตุทางอากาศอันน่าเศร้าสลดต่อเนื่องกัน 2 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 5 เดือน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศออกคำสั่งฉุกเฉินในวันพุธ (13 มี.ค.) ที่ผ่านมา ห้ามบินเครื่องบินไอพ่นโมเดล 737 แม็กซ์ 8 และ 737 แม็กซ์ 9 ทั้งหมด ถึงแม้มีแรงต่อต้านจากทางส่วนของสำนักงานบริหารการบินสหรัฐฯ (Federal Aviation Administration ใช้อักษรย่อว่า FAA)

ก่อนหน้านี้ สายการบินและประเทศจำนวนมาก ได้ทยอยสั่งห้ามนำเครื่องบินโดยสารโบอิ้งแม็กซ์ขึ้นทำการบิน และ/หรือห้ามอากาศยานโมเดลเหล่านี้บินเข้าออกน่านฟ้าของพวกตน ภายหลังโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลนส์ ตกหลังจากทะยานขึ้นฟ้าไม่นานเมื่อวันอาทิตย์ (10 มี.ค.) โดยที่ก่อนหน้านั้น 737 แม็กซ์ 8 อีกลำหนึ่งของสายการบินไลอ้อนแอร์ของอินโดนีเซีย ก็ตกลงทะเลหลังเหินขึ้นฟ้าจากกรุงจาการ์ตาไม่กี่นาทีเช่นกันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2018

ทรัมป์บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในวันพุธ (13 มี.ค.) ว่า เครื่องบินโมเดลเหล่านี้ทุกๆ ลำ “จะถูกสั่งห้ามขึ้นบินเมื่อลงจอดยังจุดหมายปลายทางแล้ว ... มีการแจ้งให้พวกนักบินทราบแล้ว มีการแจ้งให้สายการบินทั้งหมดทราบแล้ว”

ถึงแม้มีการกล่าวหากันว่า ความประพฤติมิชอบของโบอิ้งนั้นเป็นปัจจัยซึ่งมีส่วนทำให้เกิดเหตุเครื่องบินตก ทว่าทรัมป์ยังคงพูดยกย่องชมเชยบริษัทยักษ์ใหญ่รายนี้ในการแสดงความคิดเห็นของเขา

“โบอิ้งเป็นบริษัทที่ยอดเยี่ยมบริษัทหนึ่ง” เขากล่าว “พวกเขากำลังทำงานอย่างหนักมากๆ ในขณะนี้ และคาดหวังได้ว่าพวกเขาจะหาคำตอบออกมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ตราบจนกว่าพวกเขาจะหาคำตอบได้ เครื่องบินเหล่านี้ก็จะถูกห้ามบินไปก่อน”

สหรัฐฯชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับการสั่งห้ามบิน 737 แม็กซ์ ถึงแม้มีหลักฐานเบื้องต้นชี้ถึงประเด็นปัญหาความปลอดภัยที่ยังมิได้รับการแก้ไขของเครื่องบินโดยสารโมเดลนี้ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์ตำหนิพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบของอเมริกา

กรณีร้ายแรงทั้ง 2 กรณีที่เกิดขึ้นในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีการกล่าวหากันว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปล่อยปละละเลยของโบอิ้ง โดยที่ผู้เชี่ยวชาญบางรายกำลังหยิบยกไล่เรียงเรื่องที่บริษัทบกพร่องล้มเหลวไม่ได้จัดการฝึกอบรมพวกนักบินล่วงหน้าอย่างถูกต้องเหมาะสม เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้รับการอัปเกรดของเครื่องบินโมเดลเหล่านี้

ในเวลาเดียวกัน การลังเลรีรอไม่สั่งห้ามบิน โบอิ้ง 737 แม็กซ์ ก็ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับบทบาทอิทธิพลของพวกนักล็อบบี้ของอุตสาหกรรมการบินที่มีต่อเอฟเอเอ รวมไปถึงที่มีต่อ แดเนียล เอลเวลล์ (Daniel Elwell) รักษาการผู้อำนวยการของหน่วยงานกำกับตรวจสอบด้านการบินของสหรัฐฯแห่งนี้ โดยที่ เอลเวลล์ เป็นอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสที่สมาคมอุตสาหกรรมด้านการบินและอวกาศ (Aerospace Industries Association ใช้อักษรย่อว่า AIA) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพวกสายการบินสหรัฐฯ

ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ราย ยังส่งเสียงแสดงความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างคณะบริหารทรัมป์กับบริษัทโบอิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพทริก แชนาแฮน (Patrick Shanahan) รักษาการรัฐมนตรีกลาโหมในเวลานี้ของคณะบริหารทรัมป์ เป็นผู้เคยทำงานอยู่ที่โบอิ้งมาเป็นเวลา 3 ทศวรรษ ก่อนจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหมในยุคของทรัมป์ และขึ้นรักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการของเพนตากอน ภายหลังนายพล เจมส์ แมตทิส ลาออกไปอย่างกะทันหันตอนต้นปีนี้ เมื่อวันพุธ (13 มี.ค.) กลุ่มเอ็นจีโอคอยเฝ้าระวังเรื่องจริยธรรมของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯกลุ่มหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกล่าวหาแชนาแฮนว่ากำลังโปรโมตส่งเสริมผลประโยชน์ของโบอิ้งขณะนั่งเป็นผู้บริหารระดับท็อปของกระทรวงกลาโหม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.military.com/daily-news/2019/03/13/amid-737-woes-complaint-filed-against-shanahan-allegedly-promoting-boeing.html)

แต่อันที่จริงแล้ว ความวิตกกังวลเกี่ยวกับพวกหน่วยงานผู้คุมกฎด้านความปลอดภัยทางการบินของสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไรเลย มีพวกสมาชิกรัฐสภาพยายามผลักดันให้มีการยกเครื่องการกำกับตรวจสอบด้านนี้อย่างขนาดใหญ่มาเป็นแรมปีแล้ว รวมทั้งหลังจากที่มีรายงานข่าวชิ้นหนึ่งเมื่อปีที่แล้วซึ่งเปิดโปงให้เห็นความย่อหย่อนในด้านนี้ของเอฟเอเอ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cbsnews.com/news/allegiant-air-new-questions-for-airlines-faa-after-60-minutes-investigation/)

ขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภาหลายรายแถลงว่า พวกเขาจะออกหมายเรียกให้ประดาผู้คุมกฎ รวมทั้ง เอลเวลล์ แห่งเอฟเอเอ ตลอดจนพวกผู้บริหารโบอิ้ง มาให้ปากคำต่อทางรัฐสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น