xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก‘ขวาจัดคลั่งผิวขาว’ ก่อเหตุสังหารหมู่ 2 มัสยิดในนิวซีแลนด์

เผยแพร่:   โดย: อลัน บอยด์

<i>ภาพถ่ายจากทีวีนิวซีแลนด์เมื่อวันศุกร์ (15 มี.ค.) แสดงให้เห็นตำรวจปิดกั้นพื้นที่ใกล้ๆ มัสยิด ในเมืองไครสต์เชิร์ช ภายหลังเกิดเหตุกราดยิง </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

New Zealand massacre points to rightwing extremists
By Alan Boyd, Sydney
15/03/2019

ผู้ต้องหาเป็นมือปืนชาวออสเตรเลีย กล่าวเตือนเอาไว้ในคำประกาศ “ลัทธิชาวผิวขาวต้องเป็นใหญ่” ของเขาว่าจะมี “การโจมตีแบบผู้ก่อการร้าย” ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์กราดยิงอย่างโหดเหี้ยมเมื่อวันศุกร์ (15 มี.ค.) ที่มัสยิด 2 แห่งในนิวซีแลนด์

ซิดนีย์, ออสเตรเลีย การสอบสวนเหตุการณ์กราดยิงมัสยิด 2 แห่งในนิวซีแลนด์เมื่อวันศุกร์ (15 มี.ค.) ที่ผ่านมา มุ่งโฟกัสไปที่ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ต้องหาเป็นมือปืนก่อเหตุสุดโหดเหี้ยมคราวนี้กับประดากลุ่มลัทธิคนผิวขาวมีอำนาจสูงสุดเหนือคนผิวสีอื่นๆ (white supremacist) โดยที่เชื่อกันว่าบุคคลซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่สุดผู้นี้เป็นพวกขวาจัดสุดโต่งชาวออสเตรเลีย

ผู้บัญชาการตำรวจ ไมค์ บุช (Mike Bush) แถลงว่า ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุโจมตีนี้เอาไว้ 4 คน โดยคนหนึ่งเป็นชาวออสเตรเลียที่กรุงแคนเบอร์ราระบุตัวว่าชื่อ เบรนตัน ทาร์แรนต์ (Brenton Tarrant) อายุ 28 ปี มาจากเมืองกราฟตัน (Grafton) เมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์

ในจำนวน 4 คนที่ถูกจับกุมนี้ มีคนหนึ่งได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมาโดยไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ ขณะเดียวกันก็มีรายงานซึ่งยังไม่มีการยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ยังต้องการตัวผู้ต้องสงสัยคนที่ 5 เพื่อนำมาสอบปากคำ

นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอตต์ มอร์ริสัน แถลงว่า ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของออสเตรเลียกำลังช่วยเหลือทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิวซีแลนด์ในการสืบสวนหาความกระจ่างเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยที่ตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายในทั้ง 2 ประเทศกำลังติดตามสืบสาวความเคลื่อนไหวของทาร์แรนต์

“เป็นที่ชัดเจนว่านั่นคือส่วนของการสอบสวนซึ่งทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายออสเตรเลียกำลังเข้าไปดำเนินการ และพวกเขากำลังเดินหน้าการสอบสวนของพวกเขา ซึ่งได้คืบหน้าไปอยู่แล้ว โดยร่วมมือกับหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง” มอร์ริสัน บอก

ทาร์แรนต์ได้เผยแพร่คำประกาศความยาว 73 หน้าของเขาเมื่อวันพฤหัสบดี (7 มี.ค.) คำประกาศนี้มีเนื้อหาเปะปะพูดถึงเรื่องต่างๆ อย่างกระจัดกระจาย โดยส่วนที่ได้รับความสนใจมากคือเขาเตือนว่ากำลังจะมีการปฏิบัติการ “โจมตีแบบผู้ก่อการร้าย” เพื่อตอบโต้แก้แค้นเหตุการณ์ข่มขืนหมู่ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองซิดนีย์ ที่เขาประณามกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของชาวมุสลิม รวมทั้งการที่เขาแสดงความสนับสนุน อันเดอร์ส์ เบรวิค (Anders Breivik) ผู้ก่อการร้ายขวาจัดซึ่งก่อเหตุเข่นฆ่าผู้คน 69 คนในค่ายพักแรมแห่งหนึ่งในนอร์เวย์เมื่อปี 2011 [1]

ผู้ต้องหาผู้นี้อ้างว่าเขาได้พบปะพูดจาเป็นช่วงสั้นๆ กับเบรวิค แต่เอเชียไทมส์ไม่สามารถหาแหล่งข่าวอิสระมายืนยันการกล่าวอ้างนี้ เอกสารคำประกาศของเขาระบุว่า ทาร์แรนต์วางแผนก่อเหตุโจมตีมัสยิดที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ นี้มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว และมีการเตรียมการสถานที่ 3 เดือนก่อนลงมือจริงๆ

ในข้อความโพสต์ทางออนไลน์ชิ้นหนึ่งซึ่งปรากฏออกมาเพียงไม่นานก่อนการกราดยิง ทาร์แรนต์กล่าวว่า “ถ้าผมไม่รอดชีวิตจากการโจมตี ก็ขออำลา ขอพระเจ้าอวยพร แล้วพบกันในวัลฮัลลา!” (วัลฮัลลา Valhalla เป็นวิหารที่สถิตของวิญญาณนักรบที่ตายในสงคราม ตามความเชื่อของชาวไวกิ้ง –ผู้แปล)

ทาร์แรนต์ ได้สตรีมคลิปวิดีโอสดขณะที่เขาบุกเข้ากราดยิงในมัสยิดอัลนูร์ (Al Noor) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามือปืนผู้นี้กำลังพ่นกระสุนจากอาวุธปืนอัตโนมัติเข้าใส่กลุ่มสาธุชนที่กอดกันกลม คลิปวิดิโอนี้แสดงให้เห็นว่ามีผู้คนอย่างน้อยที่สุด 20 คนกำลังถูกยิงด้วยกระสุนปืนไรเฟิล

ก่อนเหตุกราดยิงครั้งนี้ ทางการแทบไม่ได้รู้จักอะไรเกี่ยวกับทาร์แรนต์เลย แต่ในคำประกาศของเขาระบุว่า เขาเป็นสมาชิกรายหนึ่งของกลุ่มขวาจัดหลายกลุ่มซึ่งมีจุดยืนต่อต้านผู้อพยพ อย่างเช่น อัศวินคริสเตียนเทมปลาร์คณะใหม่ (the new order of the Christian Knight Templar) ทั้งนี้พวกอัศวินเทมปลาร์ดั้งเดิม เป็นพวกที่สู้รบกับชาวมุสลิมเพื่อช่วงชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาในสงครามครูเสด (สงครามไม้กางเขน) เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11

“ผมเคยเป็นคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็เป็นนักอนาธิปไตย (anarchist) และในที่สุดก็เป็นพวกอิสรเสรีนิยม (libertarian) ก่อนที่จะกลายมาเป็นพวกฟาสซิสต์-สิ่งแวดล้อม (eco-fascist)” เขาระบุในคำประกาศของเขา โดยไม่ได้อธิบายว่าคำว่า “พวกฟาสซิสต์-สิ่งแวดล้อม” หมายถึงอะไร (เฉพาะคำว่าพวกฟาสซิสต์ หมายถึงผู้นิยมลัทธิเผด็จการขวาจัดชาตินิยมสุดโต่ง โดยตัวอย่างโดดเด่นของพวกผู้นำลัทธิฟาสซิสต์ ก็คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งเยอรมนี และ เบนิโต มุสโสลินี แห่งอิตาลี –ผู้แปล)

ตามข้อความในคำประกาศของเขา ทาร์แรนต์ยังเป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ผู้ซึ่งเขาบรรยายเอาไว้ว่า “เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอัตลักษณ์ชาวผิวขาวและจุดประสงค์ร่วมของชาวผิวขาว ที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่” แต่ในคำประกาศนี้ก็มีข้อความอื่นๆ ซึ่งขัดแย้งกับการบรรยายนี้ โดยเขากล่าวว่าเขาไม่ชอบนโยบายหลายๆ อย่างของทรัมป์

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของนิวซีแลนด์ดูเหมือนกำลังทำงานภายใต้สมมุติฐานที่ว่า การปฏิบัติการกราดยิงนี้ถูกวางแผนและลงมือดำเนินการจากออสเตรเลีย โดยที่ประเทศของพวกเขาถูกเลือกเป็นเป้าหมายของการโจมตีเพียงเพราะเป็นเป้าหมายที่ลงมือเล่นงานได้ง่ายกว่า

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น แถลงว่า พวกผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าติดตามผู้ก่อการร้ายใดๆ ในนิวซีแลนด์เลย

ในนิวซีแลนด์เวลานี้มีกลุ่มลัทธิคนผิวขาวเป็นใหญ่ ซึ่งมีกิจกรรมเคลื่อนไหวกันคึกคักอยู่หลายกลุ่ม เป็นต้นว่า สาขาในนิวซีแลนด์ของขบวนการขวาจัด “เนชั่นแนลฟรอนต์” (National Front) ของสหราชอาณาจักร และขบวนการโดมิเนียน (Dominion Movement) กลุ่มที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงเวลลิงตันซึ่งประกาศว่า พวกเขามุ่งมั่นผูกพันที่จะดำเนินการ “พลิกฟื้นวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แบบชาวยุโรปให้กลับมีชีวิตขึ้นมาในนิวซีแลนด์อีกครั้ง”

ขณะเดียวกัน มีข้อมูลตัวเลขว่ามีปืนมากกว่า 52,000 กระบอกถูกนำเข้าสู่นิวซีแลนด์ในปีที่แล้ว ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้จัดทำดำเนินการจดทะเบียนอาวุธปืนระดับประเทศขึ้นมาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ตำรวจบอกว่ายังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าพวกลัทธิคนผิวขาวเป็นใหญ่ กำลังติดอาวุธให้แก่พวกเขาเอง

กลุ่มเนชั่นแนลฟรอนต์สาขานิวซีแลนด์ ได้เคยปะทะกับพวกนักเคลื่อนไหวทางด้านสังคมในปี 2018 ที่บริเวณด้านนอกอาคารรัฐสภาแดนกีวีในเมืองหลวงเวลลิงตัน รวมทั้งยังกำลังพยายามแทรกซึมเข้าไปในมหาวิทยาลัยบางแห่ง แต่เป็นที่เชื่อกันว่าจำนวนของพวกเขาอย่างมากที่สุดก็ยังเป็นแค่หลักไม่กี่ร้อยคน

สำหรับขบวนการโดมิเนียนนั้นมีเว็บไซต์ซึ่งส่วนใหญ่เผยแพร่ประดาคำขวัญที่ลอกเลียนพวกนาซีมา รวมทั้งข้อความคำปลุกใจจากพวกองค์กรหัวรุนแรงลัทธิผิวขาวเป็นใหญ่ในสหรัฐฯ อย่างเช่น กลุ่มแวนการ์ดอเมริกา (Vanguard America) ขบวนการนี้ดูเหมือนใช้เวลาส่วนใหญ่ของพวกเขาไปในการติดโปสเตอร์ตามที่ต่างๆ

เดม ซูซอน เดวอย (Dame Susan Devoy) ข้าหลวงใหญ่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติของนิวซีแลนด์ (New Zealand Race Relations Commissioner) กล่าวในรายงานภาพรวมสรุปเกี่ยวกับกลุ่มลัทธิคนผิวขาวเป็นใหญ่กลุ่มต่างๆ ที่ออกมาเมื่อปีที่แล้วว่า พวกเขาสามารถดึงดูดความสนใจจากคนนิวซีแลนด์ได้เพียงแค่จำกัด และบรรดานักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงปลอดภัยเชื่อว่าคนเหล่านี้อยู่ในอันดับต่ำมากในบัญชีรายชื่อภัยคุกคามจากการก่อการร้าย

นอกจากนั้นแล้ว ยังไม่มีหลักฐานอันชัดเจนใดๆ เลยที่แสดงให้เห็นว่า พวกสุดโต่งกำลังพุ่งเป้าหมายเล่นงานชาวมุสลิมของนิวซีแลนด์ ซึ่งยังคงเป็นประชากรกลุ่มเล็กๆ โดยมีจำนวนเพียง 46,149 คนจากการทำสำมะโนประชากรครั้งหลังที่สุดในปี 2013

เหตุผลประการหนึ่งอาจจะอยู่ที่ว่า ศาสนาอิสลามในนิวซีแลนด์เข้าผูกพันเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กับชุมชนชาวเมารีพื้นถิ่น โดยชาวเมารีกำลังเปลี่ยนศาสนามานับถืออิสลามกันเพิ่มจำนวนขึ้นทุกที ซึ่งคงต้องขอบคุณเหล่าไอคอนมุสลิม อย่างเช่น ซอนนี บอย วิลเลียมส์ (Sonny Boy Williams) ดารานักกีฬารักบี้ลีกนานาชาติ

ผลก็คือ อิสลามกำลังแพร่กระจายด้วยอัตราเร็วกว่าศาสนาอื่นๆ ในนิวซีแลนด์ โดยเพิ่มขึ้น 28% ในช่วงเวลาระหว่างการทำสำมะโนประชากรในปี 2006 กับในปี 2013

แต่ขณะที่ศาสนานี้กำลังมีบทบาทขยายเพิ่มสูงขึ้นทุกที เหล่าผู้นำมุสลิมในนิวซีแลนด์บอกว่าพวกเขาไม่ได้มีความตึงเครียดใดๆ กับชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งนี่ทำให้เหตุผลแรงจูงใจเบื้องหลังการกราดยิงในมัสยิดครั้งนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากแก่การเข้าใจยิ่งขึ้นไปอีก

“ชาวมุสลิมพำนักอาศัยกันในนิวซีแลนด์มาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว ไม่ได้มีอะไรแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาเลย” เป็นคำกล่าวของ มุสตาฟา ฟารูค (Mustafa Farouk) ประธานของสหพันธ์สมาคมอิสลามแห่งนิวซีแลนด์ (Federation of Islamic Associations of New Zealand) ภายหลังการสังหารโหดคราวนี้

“เราเดินทางไปทั่วโลกและบอกกับผู้คนว่าเราพำนักอาศัยอยู่ในประเทศที่มีสันติภาพมากที่สุดในโลก เหตุการณ์คราวนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจของพวกเราเกี่ยวกับการอยู่ที่นี่หรอก”
<i>หญิงผู้หนึ่งนั่งลงที่พื้นท่ามกลางช่อดอกไม้ซึ่งผู้คนนำมาวางไว้เพื่อแสดงความอาลัยเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงมัสยิด  ณ ด้านอกทางเข้าโรงพยาบาลในเมืองไครสต์เชิร์ช เมื่อวันเสาร์ (16 มี.ค.) </i>
หมายเหตุผู้แปล

[1] สำนักข่าวเอเอฟพีได้ทำรายงานรวบรวมเหตุการณ์การโจมตีของพวกขวาจัดในยุโรปต่อเป้าหมายที่เป็นชาวมุสลิมในช่วงสองสามปีหลังมานี้ รวมทั้งกรณีสังหารหมู่อย่างหฤโหดที่นอร์เวย์ของ อันเดอร์ส์ เบรวิค จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้

โลกตะวันตกเกิดเหตุโจมตีของพวกขวาจัดต่อต้านมุสลิมมาหลายครั้งแล้ว
โดย สำนักข่าวเอเอฟพี

Anti-Muslim, far right attacks
By AFP
15/03/2019

เหตุโจมตีมัสยิด 2 แห่งเมื่อวันศุกร์ (15 มี.ค.) ที่นิวซีแลนด์ ถือเป็นกรณีการพุ่งเป้าหมายโจมตีชาวมุสลิมครั้งที่เลวร้ายที่สุดซึ่งเกิดขึ้นในประเทศตะวันตกเท่าที่เคยมีมา

หากความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์นี้กับพวกขวาจัดได้รับการยืนยันชัดเจนแล้ว มันก็ยังจะมีความละม้ายคล้ายคลึงกรณีสังหารหมู่เมื่อปี 2011 ในประเทศนอร์เวย์ที่กระทำโดย อันเดอร์ส เบห์ริง เบรวิค (Anders Behring Breivik) ผู้มีความคิดแบบลัทธินาซีใหม่ (neo-nazi)

การโจมตีเล่นงานคนมุสลิมในโลกตะวันตก
--เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2017 ในแคนดา ชายวัย 27 ปีผู้หนึ่งบุกเข้าไปยิงกราดมัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองควิเบก ภายหลังพิธีละหมาดตอนค่ำ ทำให้สาธุชนที่ไปละหมาดเสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บ 35 คน

เหยื่อที่เสียชีวิตทั้งหมดเหล่านี้เป็นบุคคล 2 สัญชาติที่อพยพเดินทางมาอยู่ในแคนาดาในช่วงประมาณ 20 ปีหลังมานี้ โดยมีที่เป็นชาวแอลจีเรีย 2 คน, กินี 2 คน, โมร็อกโก 1 คน, และตูนิเซียอีก 1 คน

คนร้ายที่ก่อเหตุโหดเหี้ยมคราวนี้ชื่อ อเล็กซองเดอ บิซองเนต (Alexandre Bissonnette) นักศึกษาชาวแคนาดาที่เห็นด้วยกับพวกนักชาตินิยมขวาจัด แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มใดๆ เขาถูกตำรวจจับกุม และในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ก็ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยที่จะไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาลดหย่อนโทษเป็นเวลา 40 ปี

การโจมตีคราวนั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด กล่าวประณามว่าเป็น “การโจมตีของผู้ก่อการร้าย” จวบจนกระทั่งถึงวันศุกร์ (15 มี.ค.) มีฐานะเป็นเหตุโจมตีเล่นงานสถานที่ของชาวมุสลิมครั้งเลวร้ายที่สุดซึ่งเกิดขึ้นในโลกตะวันตก เมื่อนับเหตุโจมตีแยกกันเป็นรายครั้ง

--เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2017 ในสหราชอาณาจักร ชายชาวเวลช์อายุ 48 ปีขับรถแวนพุ่งไล่ชนผู้คนที่กำลังออกมาจากพิธีละหมาดตอนดึก ณ มัสยิดแห่งหนึ่งในย่านฟินสบิวรี พาร์ค (Finsbury Park) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน สังหารชายผู้หนึ่งเสียชีวิต และทำให้อีก 12 คนบาดเจ็บ

คนร้ายที่ก่อเหตุชื่อ ดาร์เรน ออสบอร์น (Darren Osborne) ทิ้งข้อความเอาไว้ในรถแวนคันดังกล่าวว่าเขากำลังหาทางแก้แค้นการก่อเหตุโจมตีและกรณีอื้อฉาวละเมิดทางเพศเด็กของพวกผู้ก่อการร้ายอิสลามิสต์ เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2018

การสังหารหมู่หฤโหดของ‘เบรวิค’
--เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2011 ในประเทศนอร์เวย์ อันเดอร์ส เบห์ริง เบรวิค วัย 32 ปี ซึ่งเป็นพวกสุดโต่งขวาจัด แอบนำรถคาร์บอมบ์คันหนึ่งไปก่อเหตุใกล้ๆ สำนักงานที่ทำการของรัฐบาลในกรุงออสโล สังหารผู้คนไป 8 คน ต่อจากนั้นในวันเดียวกัน เขาบุกเข้าไปกราดยิงไล่เข่นฆ่าที่ค่ายพักแรมของกลุ่มเยาวชนซึ่งใกล้ชิดกับพรรคเลเบอร์ บนเกาะอูตัวยา (Utoeya) สังหารผู้คนไปอีก 69 ชีวิต

การไล่กราดยิงบนเกาะอูตัวยาของเบรวิคดำเนินไปเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง โดยมุ่งเล่นงานเยาวชนผู้เข้าร่วมพักแรมที่ค่ายแห่งนั้นจำนวน 600 คน ผู้ที่เสียชีวิตราวๆ 50 คนเป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 14 ถึง 18 ปี

เบรวิคถูกจับกุมในวันเดียวกัน และถูกศาลลงโทษจำคุก 21 ปี โดยที่สามารถขยายเวลาไปได้อีกตราบเท่าที่เขายังถูกวินิจฉัยว่าเป็นอันตรายต่อสังคม

ภายหลังถูกจับกุมแล้ว เขาก็ยังคงออกคำแถลงแสดงจุดยืนแบบพวกสุดโต่ง และระหว่างถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาล เขาก็ทักทายศาลด้วยการแสดงความเคารพแบบนาซีครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งประกาศว่าจะต่อสู้ “จนกระทั่งตัวตาย” เพื่อลัทธินาซี

เบรวิคซึ่งรูปร่างสูงผมสีทอง แสดงความเกลียดชังแนวความคิดส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมหลากหลาย, ศาสนาอิสลาม, และลัทธิมาร์กซ์ เขาเขียนคำประกาศความยาว 1,500 หน้าซึ่งเขาโพสต์เผยแพร่ทางออนไลน์เพียงไม่นานก่อนก่อเหตุสังหารหมู่ว่า เขากำลังวางแผนมาเป็นเวลาหลายปีแล้วเพื่อเปิดการโจมตี

เขาพูดถึงตัวเขาเองว่าเป็นชาวคริสเตียนอนุรักษนิยม ซึ่งประสบกับ “การถูกล้างสมองด้วยลัทธิวัฒนธรรมหลากหลายมาเป็นเวลาหลายสิบปี”

หลังเกิดเหตุเหี้ยมโหดที่นิวซีแลนด์ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เออร์นา โซลเบิร์ก ของนอร์เวย์ ได้แสดงปฏิกิริยาด้วยการกล่าวแถลงว่า เหตุร้ายล่าสุดนี้ “รื้อฟื้นความทรงจำอันเจ็บปวดแห่งประสบการณ์ของพวกเราเอง กับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงขณะที่ยากลำบากที่สุดในยุคหลังสงครามในนอร์เวย์”

“เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ลัทธิสุดโต่งนั้นยังคงเบ่งบานอยู่ในสถานที่จำนวนมาก” เธอกล่าว

(เก็บความจากรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี สามารถดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่https://www.thedailystar.net/world/news/anti-muslim-far-right-attacks-1715746)


กำลังโหลดความคิดเห็น