xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาดรัฐสภาอังกฤษลงมติไม่เห็นชอบเบร็กซิตแบบไร้ข้อตกลง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี/เอเจนซี - สภาสามัญหรือสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรในวันพุธ(13มี.ค.) ลงมติคัดค้านการถอนตัวจากสหภาพยุโรปในแบบไม่มีข้อตกลง (โนดีล) ก่อความผิดหวังอีกครั้งแก่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ และเปิดประตูสำหรับอังกฤษที่จะขอเลื่อนเบร็กซิตออกไป

การตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎรเป็นการลงคะแนนสัญลักษณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่อังกฤษก็ยังคงอยู่บนเส้นทางของการแยกตัวจากอียูในอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ข้างหน้า จนกว่าพวกเขาจะได้แผนใหม่ในการตกลงกับบรัสเซลส์

เดิมทีสภาอังกฤษมีกำหนดการจะกลับมาประชุมอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (14มี.ค.) เพื่อลงมติว่าจะขอเลื่อนเบรตซิตออกไปหรือไม่ และถ้าผ่าน ก็จะต้องไปให้ชาติสมาชิกอื่นๆ ของอียูอีก 27 ประเทศ พิจารณาเห็นชอบด้วยเสียก่อน ขณะที่ผู้นำอียูมีกำหนดประชุมกันที่บรัสเซลส์วันที่ 21-22 ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม เมย์ เผยว่าทางรัฐบาลมีแผนจะขอให้รัฐสภาโหวตข้อตกลงเบร็กซิตที่เธอทำไว้กับอียูเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 20 มีนาคม และในข้อเสนอ รัฐบาลย้ำว่าหากรัฐสภาไม่เห็นชอบข้อตกลงในวันดังกล่าว พวกเขาก็จะร้องขอให้อียูขยายกำหนดเวลาเบร็กซิตออกไป

พวกผู้นำในบรัสเซลส์ส่งเสียงเตือนว่าอังกฤษกำลังจ้องมองลงไปยังหน้าผา ขณะที่พวกเขากำลังเผชิญความเป็นไปได้ที่ต้องตัดความสัมพันธ์กับอียูที่มีมากกว่า 46 ปี ลงในชั่วข้ามคืน ท่ามกลางความเสี่ยงก่อคลื่นความช็อคทางเศรษฐกิจแก่ทั้งสองฝ่าย

ลักษณะการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร แสดงให้เห็นอีกครั้งถึงความวุ่นวายในรัฐสภาต่อการเบร็กซิต และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของเมย์

ในวันอังคาร สภาล่างสหราชอาณาจักรโหวตคัดค้านข้อตกลงเบร็กซิตเป็นครั้งที่สองด้วยคะแนน 391-242 ทั้งที่นายกรัฐมนตรี เมย์ เพิ่งเสร็จสิ้นการหารือกับอียูและได้รับการรับรองจากบรัสเซลส์ในนาทีสุดท้ายว่า จะยอมผ่อนผันเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางอย่าง

ถึงตอนนี้กลุ่มที่เรียกร้องต้องการเบร็กซิต พยายามกดดันให้สหราชอาณาจักรถอนตัวตามกำหนดโดยปราศจากข้อตกลง ทว่า เมย์เตือนว่า ทางเลือกนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และ ส.ส. จำนวนมากเห็นด้วยกับเมย์

กระนั้น เมย์เตือนว่า ทั้งการถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลงและการขยายเส้นตายเบร็กซิต ต่างไม่ได้แก้ปัญหาที่สหราชอาณาจักรเผชิญอยู่ขณะนี้ และว่า อียูกำลังรอฟังว่า สหราชอาณาจักรจะเลือกอย่างไรระหว่างสองตัวเลือกนี้

อนึ่งหากรัฐสภามีมติเรียกร้องให้อียูขยายกำหนดเวลาออกไป รัฐบาลก็จะต้องทำการเจรจากับอียูในเรื่องดังกล่าว แต่หากรัฐสภามีมติไม่เรียกร้องให้อียูขยายกำหนดเวลาออกไป อังกฤษก็จะแยกตัวจากอียูย่างเป็นทางการตามกำหนดเดิมในวันที่ 29 มีนาคม

นอกจากนี้ หากรัฐสภามีมติเรียกร้องให้อียูขยายกำหนดเวลาเบร็กซิตออกไปอีก 3 เดือน ก็จะทำให้ต้องมีการขยายเวลาของการบังคับใช้มาตรา 50 ซึ่งเป็นบทบัญญัติควบคุมกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่อังกฤษจะแยกตัวอย่างสิ้นเชิงต่ออียู

การขยายเวลาเบร็กซิตหรือการขยายเวลาการบังคับใช้มาตรา 50 อาจส่งผลกระทบทางการเมืองหลายประการต่ออังกฤษ เช่น อาจมีการจัดการลงประชามติเบร็กซิตครั้งใหม่ หรืออาจมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้อังกฤษไม่มีการแยกตัวจากอียูในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น