xs
xsm
sm
md
lg

ล่าช้า 20 ปี! อินโดฯ เปิดให้ประชาชนทดลองนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก ค่าบริการเริ่ม 22 บาท(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





รอยเตอร์ - กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อวันอังคาร (12 มี.ค.) เปิดให้ประชาชนทดลองนั่งรถไฟใต้ดินหรือระบบขนส่งมวลชนเร็ว (MRT) มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรก ขณะที่โครงการนี้มีเป้าหมายปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านการขนส่งภายในเมืองที่มีปัญหาการจราจรติดขัดติดอันดับต้นๆ ของโลก

ระบบขนส่งมวลชนเร็วซึ่งมีกำหนดเปิดบริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 มีนาคม เป็นโครงการพัฒนาโดยใช้ความรู้ความชำนาญและเงินทุนจากญี่ปุ่น และเป็นแก่นกลางของความพยายามสร้างความเจริญทางสาธารณูปโภค ภายใต้ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ซึ่งหวังได้รับเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยในศึกเลือกตั้งเดือนเมษายนนี้

ชาวบ้านหลายสิบคน หลายคนเป็นเด็กนักเรียน เดินทางมาทดลองใช้บริการด้วยความตื่นเต้น โดยพากันเข้าไปนั่งในขบวนรถปรับอากาศใหม่เอี่ยม, ทดสอบเครื่องจำหน่ายตั๋วและเดินเล่นไปตามสถานีต่างๆ “ฉันรู้สึกประทับใจ มันเหมือนกับประเทศอื่นๆ อย่างเช่นสิงคโปร์” มิกา นักศึกษาวัย 23 ปีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารบางส่วนซึ่งต้องลงทะเบียนสำหรับเที่ยวทดลอบล่วงหน้าปลายสัปดาห์ ส่งเสียงบ่นเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกในบางสถานีและเส้นทางรถไฟฟ้าสายรองที่ยังไม่แล้วเสร็จ

“สาธารณูปโภคสนับสนุนบางอย่างสำหรับคนเดินถนนและผู้โดยสารยังไม่แล้วเสร็จดี” อิร์ฟาน วัย 40 ปีกล่าว

ปัจจุบันพวกคนงานก่อสร้างกำลังเร่งมืออย่างหนักในการจบงานสร้างทางเดินและสิ่งอำนวยความสะดวกในบางสถานีให้แล้วเสร็จทันเวลา

ระยะแรกของระบบขนส่งมวลชนเร็วจะมีความยาว 16 กิโลเมตร ด้วยบางช่วงจะเป็นการแล่นใต้ดินจากทางใต้เข้าสู่ใจกลางกรุงจาการ์ตา ไปตามหนึ่งในถนนสายหลักของเมือง โดยมันจะใช้เวลาเดินทางเพียง 30 นาที เร็วกว่ารถยนต์ที่ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมงในสภาพการจราจรที่เป็นปกติ

การก่อสร้างสายที่ 2 ความยาว 8 กิโลเมตร ซึ่งจะไปสุดบริเวณทางเหนือของกรุงจาการ์ตา อยู่ระหว่างการก่อสร้างและน่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 2025

ทั้งนี้ สำหรับราคาค่าตั๋วนั้นเริ่มต้นที่ 10,000 รูเปียห์ (ราว 22 บาท) และขบวนรถไฟสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 28,000 คนต่อวัน

หลังจากล่าช้ามานานกว่า 20 ปี ท้ายที่สุดโครงการนี้ก็ได้เริ่มลงมือก่อสร้างในปี 2013 และเดิมทีตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเปิดให้บริการสายแรกได้ในปี 2018 แต่สุดท้ายก็ล่าช้ากว่ากำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น