xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: อีก 3 อาทิตย์จะถึงเวลา ‘เบร็กซิต’ สภาอังกฤษต้องตัดสินใจอังคารนี้ จะหย่าขาดอียูแบบ ‘โน-ดีล’ หรือเลื่อนเวลาออกไปก่อน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>นายกรัฐมนตรีเทเลซา เมย์ ของสหราชอาณาจักร เดินทางไปร่วมพิธีทางศาสนาที่โบสถ์ใกล้ๆ เขตเลือกตั้งของเธอทางด้านตะวันตกของกรุงลอนดอนเมื่อวันอาทิตย์ (10 มี.ค.)  ทั้งนี้ ดีลว่าด้วยเบร็กซิตของเธอจะถูกส่งเข้าไปให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในวันอังคาร (12) นี้ </i>
วันอังคาร (12 มี.ค.) ที่จะถึงนี้ บรรดา ส.ส.ของสหราชอาณาจักร จะต้องลงคะแนนอีกครั้งว่าจะยอมรับหรือยังคงคว่ำข้อตกลงเบร็กซิตของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ นับเป็นการตัดสินครั้งสำคัญว่าจะเปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนแผนการของเธอ หรือจะเสี่ยงหย่าขาดผละออกจากอียูแบบวุ่นวายอลหม่าน ในช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่อีกไม่ถึง 3 สัปดาห์ดี

เมื่อ 2 เดือนก่อน สภาสามัญ (สภาผู้แทนราษฎร) แห่งนี้ได้โหวตปฏิเสธไม่ยอมรับข้อตกลงถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปฉบับนี้ไปแล้วครั้งหนึ่งด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่งไปมากมาย และส่งให้เมย์ต้องกลับไปเจรจาใหม่กับฝ่ายอียู

อย่างไรก็ดี พวกผู้นำยุโรปปฏิเสธไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องขอแก้ไขของเธอ และการหารือระหว่างพวกเจ้าหน้าที่สหราชอาณาจักรกับอียูก็ยังคงล้มเหลวไม่สามารถผ่าทางตันกันได้

ถ้าพวกสมาชิกสภาสามัญโหวตไม่รับดีลอีก รวมทั้งไม่มีการเจรจาตกลงกันเพื่อขยายเวลาแล้ว สหราชอาณาจักรก็จะต้องตัดขาดจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคมนี้ ภายหลังเข้าร่วมเป็นสมาชิกมา 46 ปี โดยที่จะต้องเกิดความวุ่นวายโกลาหลขึ้นมาในทั้งสองฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

สุดสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านมา มีการนัดหมายพูดจาหารือกันในระดับเจ้าหน้าที่ของลอนดอนกับรัสเซลส์ เกี่ยวกับการค้ำประกันทางกฎหมายบางอย่างบางประการซึ่งอาจใช้มาโน้มน้าวชักจูงให้เหล่า ส.ส.หันกลับมาหนุนข้อตกลงฉบับนี้ โดยที่เมย์ก็ทำท่าพรักพร้อมจะเดินทางไปบรัสเซลส์ด้วยตนเองในนาทีสุดท้าย ถ้าหากมีความเรียกร้องต้องการขึ้นมา

ทว่าแทบไม่มีใครเลยที่คาดหวังว่าจะมีการอ่อนข้อประนีประนอมที่สำคัญใดๆ ขึ้นมาก่อนหน้าการโหวตในวันอังคาร (12) และด้วยเหตุนี้นายกฯเมย์จึงกำลังใช้ความพยายามมากกว่า ในการเตือนให้เหล่า ส.ส. ระลึกว่าเดิมพันที่วางกองอยู่ตรงหน้าหมายความถึงอะไร ใครที่จะได้หรือใครที่จะเสีย

เธอพูดเตือนเอาไว้ในการปราศรัยเมื่อวันศุกร์ (8) ว่า การปฏิเสธไม่รับดีลของเธออีกครั้ง จะเป็นการสร้าง “ช่วงเวลาแห่งวิกฤต” ขึ้นมา

“หนุนข้อตกลงนี้ แล้วสหราชอาณาจักรก็จะออกจากสหภาพยุโรปไป ปฏิเสธข้อตกลงนี้ แล้วก็จะไม่มีใครรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้” เธอกล่าว

“เราอาจจะไม่ได้ออกจากอียูไปอีกนานหลายๆ เดือน เราอาจจะผละจากไปแบบไม่มีมาตรการคุ้มครองชนิดที่ดีลฉบับนี้สามารถให้ได้ หรือไม่เราก็อาจจะไม่ได้ผละจากออกไปเลย”

ทั้งนี้จากการที่ภายในคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็คือบุคคลวงในในพรรคอนุรักษนิยมของเธอเอง ข่มขู่ที่จะก่อการกบฏขึ้นมา เนื่องจากไม่ต้องการที่จะเกิด “เบร็กซิต” แบบไม่มีข้อตกลงใดๆ กับอียู (no-deal Brexit) เมย์จึงถูกบีบคั้นให้ต้องยอมตกลงว่า ถ้าดีลของเธอพ่ายแพ้ในสภาอีกครั้งหนึ่งแล้ว บรรดา ส.ส.จะได้รับสิทธิโหวตทางเลือกอื่นๆ ได้ ทั้งเรื่องจะเลือกออปชั่น “โน-ดีล” ไหม หรือว่าจะเลือกให้เลื่อนเวลาเบร็กซิตออกไปก่อน

โยนความผิดใส่คนอื่น

ระหว่างกล่าวปราศรัยเมื่อวันศุกร์ (8) ที่เมืองกริมสบี้ เมืองท่าสำคัญด้านการประมงริมทะเลเหนือซึ่งผู้ออกเสียงส่วนใหญ่โหวตให้ออกจากอียูในการลงประชามติ “เบร็กซิต” เมื่อปี 2016 เมย์ได้เรียกร้องให้อียู “ออกแรงดันอีกครั้งหนึ่ง” เพื่อให้ได้ดีลซึ่งสภาของสหราชอาณาจักรยอมรับได้

“การตัดสินใจต่างๆ ที่สหภาพยุโรปจะกระทำในช่วงไม่กี่วันจากนี้ไป จะมีผลกระทบอย่างแรงต่อผลลัพธ์ของการโหวต” เธอกล่าว
<i>มิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าผู้เจรจาของสหภาพยุโรป ซึ่งรับผิดชอบการเจรจาว่าด้วยเบร็กซิตกับฝ่ายสหราชอาณาจักร (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 8 มิ.ย. 2018) </i>
การเจรจาต่อรองกันระหว่างลอนดอนกับบรัสเซลส์ยังคงโฟกัสอยู่ในประเด็นที่เรียกกันว่า “แบ็กสต็อป” (backstop) ซึ่งเป็นมาตรการในดีลเบร็กซิตที่เมย์กับอียูโอเคกันก่อนหน้านี้ โดยมุ่งมั่นทำให้แนวชายแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร กับ ไอร์แลนด์ที่เป็นประเทศเอกราชและเป็นสมาชิกของอียู ยังคงเปิดเอาไว้ต่อไป ไม่ต้องมีการตั้งด่านศุลกากรขึ้นมา แม้ภายหลังเบร็กซิตแล้ว

แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้สหราชอาณาจักรยังคงต้องอยู่ในสหภาพศุลกากรของอียู และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของตลาดที่เป็นหนึ่งเดียวของอียูต่อไป ทั้งนี้จนกระทั่งหรือจนกว่าจะมีหนทางอื่นๆ (เป็นต้นว่าสหราชอาณาจักรกับอียูสามารถทำข้อตกลงการค้าเสรีกันได้) ที่สามารถหลีกเลี่ยงการจัดตั้งด่านตรวจชายแดนขึ้นมา

ส.ส.จำนวนมากกลัวว่านี่จะกลายเป็นกับดักที่ทำให้พวกเขาต้องถูกบีบบังคับให้ทำตามระเบียบกฎหมายของอียูต่อไป ทว่าเมื่อพยายามที่จะต่อรอง บรัสเซลส์ก็ยังยืนกรานปฏิเสธข้อเรียกร้องที่จะให้เพิ่มเงื่อนไขเพื่อจำกัดระยะเวลาในการใช้ “แบ็กสต็อป” หรือให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถประกาศถอนตัวออกจากการใช้มาตรการนี้ได้โดยลำพังฝ่ายเดียว

มิเชล บาร์นิเยร์ (Michel Barnier) หัวหน้าผู้เจรจาของฝ่ายอียู ออกมากล่าวย้ำซ้ำอีกในวันศุกร์ (8) ว่า สหภาพยุโรปจะไม่ยอมแก้ไขตัวข้อตกลงซึ่งถือว่าผ่านการเจรจากับฝ่ายสหราชอาณาจักรไปเรียบร้อยแล้ว แต่อาจเสนอที่จะออกเป็นคำแถลงซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมายมีเนื้อหายืนยันว่าแบ็กสต็อปเป็นมาตรการที่จะใช้กันเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ในการให้สัมภาษณ์พวกผู้สื่อข่าวภายหลังการกล่าวปราศรัยที่กริมสบี้ของเมย์ บาร์นิเยร์กล่าวด้วยว่า “เราไม่ได้สนใจที่จะเล่นเกมมุ่งโยนความผิดใส่คนอื่น เราสนใจแต่ผลลัพธ์ที่จะออกมา”

ชะลอเบร็กซิต

เมื่อตอนโหวตกันครั้งก่อนในเดือนมกราคมนั้น ดีลของเมย์พ่ายแพ้ย่อยยับด้วยคะแนน 432 ต่อ 202 เสียง และถึงแม้หลังจากนั้นมี ส.ส. ไม่กี่คนทำท่าเปลี่ยนใจ แต่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ เลยว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนความคิดเห็นกันในหมู่ ส.ส. จำนวนมาก

พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายค้านหลัก ยังคงคัดค้านดีลนี้ ถึงแม้เมย์กำลังพยายามล่อใจ ส.ส. เป็นรายบุคคลด้วยคำมั่นสัญญาที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของคนงานและการให้เงินทุนก้อนใหม่ๆ สำหรับเมืองเล็กเมืองน้อยที่ยากจน

ถ้าหากดีลนี้ถูกปฏิเสธอีกครั้งในวันอังคาร (12) คาดกันว่าในวันพุธ (13) พวก ส.ส.จะโหวตปฏิเสธไม่เอาเบร็กซิตแบบโน-ดีล ซึ่งเป็นการแผ้วถางทางให้แก่การลงมติชะลอเบร็กซิตออกไปที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี (14)

เมย์นั้นแม้แสดงท่าทีเรื่อยมาว่าเธอคัดค้านการเลื่อนเวลาถอนตัวจากอียู แต่เธอก็กำลังเสนอว่ามีความเป็นไปได้ที่จะชะลอออกไปอย่าง “สั้นๆ ในเวลาจำกัด” พร้อมกับเตือนว่าถึงอย่างไรเสียในที่สุดแล้วบรรดา ส.ส.ก็ยังจะต้องโหวตตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของสหราชอาณาจักรอยู่นั่นเอง

ในอีกด้านหนึ่ง การชะลอออกไปใดๆ จะต้องได้รับการอนุมัติรับรองจากพวกผู้นำของชาติสมาชิกอียูอื่นๆ 27 ชาติด้วย โดยที่พวกเขามีกำหนดพบปะกันครั้งต่อไป คือ ณ การประชุมซัมมิตที่กรุงบรัสเซลส์ในวันที่ 21/22 มีนาคม –หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าวันเบร็กซิต

เอมิลี่ ธอร์นเบอร์รี (Emily Thornberry) ส.ส.อาวุโสของพรรคแรงงาน พูดในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทมส์แห่งลอนดอนเมื่อวันเสาร์ (9) ว่า พรรคของเธอจะหนุนหลังการเลื่อนเบร็กซิตออกไปเป็นเวลาสั้นๆ แต่ต้องไม่เนิ่นช้าจนถึงหลังเดือนกรกฎาคม

เลเบอร์นั้นแสดงท่าทีว่าเป็นไปได้ที่พรรคจะสนับสนุนการจัดลงประชามติครั้งที่ 2 ในเรื่องเบร็กซิต ซึ่งผลที่ออกมาอาจจะชี้ขาดว่าผู้ออกเสียงส่วนข้างมากตอนนี้ต้องการให้สหราชอาณาจักรอยู่ในอียูต่อไป

ทว่าธอร์นเบอร์รีปฏิเสธเสียงคาดเก็งที่ว่า พรรคจะหนุนหลังแผนการที่จะยินยอมรับรองดีลของเมย์ โดยมีเงื่อนไขว่าเธอจะต้องยอมจัดการลงประชามติครั้งที่ 2

(เก็บความจากเรื่อง Decision time: Brexit deal returns to parliament ของสำนักข่าวเอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น