รอยเตอร์/เอพี – มาเลเซียจะพิจารณารื้อฟื้นการค้นหาเครื่องบินโดยสารในเที่ยวบิน MH 370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ที่หายสาบสูญไปตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อนอีกครั้งหนึ่ง ถ้าหากมีบริษัทซึ่งสนใจการติดตามค้นหา ก้าวออกมายื่นข้อเสนอที่มีความเป็นไปได้หรือร่องรอยที่น่าเชื่อถือ รัฐมนตรีคมนาคมของแดนเสือเหลืองแถลงในวันอาทิตย์ (3 มี.ค.)
เที่ยวบิน เอ็มเอช 370 ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือรวม 239 คน กลายเป็นปริศนาลึกลับดำมืดในวงการบินที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในโลก เมื่อมันหายวับไปขณะบินอยู่ในเส้นทางจากกัวลาลัมเปอร์ไปปักกิ่งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2014
มาเลเซียและจีน ตลอดจนออสเตรเลีย ได้สั่งระงับการค้นหาใต้ทะเลในบริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนมกราคม 2017 ภายหลังใช้เวลาดำเนินการค้นหาอยู่ 2 ปี และใช้จ่ายไปแล้วราว 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (141.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท) โดยที่ไม่ได้พบร่องรอยของเครื่องบินโบอิ้งลำนี้แต่อย่างใด
ต่อจากนั้นการค้นหาครั้งที่ 2 ซึ่งดำเนินอยู่เป็นเวลา 3 เดือน นำโดย โอเชียน อินฟินิตี้ บริษัทสำรวจใต้ทะเลสัญชาติสหรัฐฯ ก็ยุติลงด้วยผลลัพธ์ทำนองเดียวกันในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
มาเลเซียนั้นเตรียมพร้อมที่จะให้รางวัลแก่บริษัทที่ค้นหา เอ็มเอช 370 ในลักษณะของข้อตกลงแบบ “ไม่หายไม่จ่าย” (no-cure, no fee) ซึ่งหมายความว่าว่าจะจ่ายเงินให้ต่อเมื่อพวกเขาสามารถระบุสถานที่ตั้งของซากเครื่องบินลำนี้ รัฐมนตรีคมนาคม แอนโธนี ลก แถลง
รัฐบาลแดนเสือเหลืองเคยเสนอให้รางวัล 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่ โอเชียน อินฟินิตี้ สำหรับการค้นหาเมื่อปี 2018 ตามข้อตกลงแบบ “ไม่หายไม่จ่าย” ซึ่งทำกันไว้ในตอนนั้น “ถ้ามีร่องรอยที่น่าเชื่อถือใดๆ ก็ตาม หรือข้อเสนอเฉพาะเจาะจงใดๆ ก็ตาม ... เราก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะพิจารณา และเราเตรียมพร้อมที่จะหารือกับพวกเขาในเรื่องข้อเสนอฉบับใหม่ๆ” ลกกล่าวกับพวกผู้สื่อข่าวในงานซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เนื่องจากวาระครบรอบ 5 ปีของการหายสาปสูญของเอ็มเอช 370
โอเชียน อินฟินิตี้ เคยแสดงความสนใจที่จะดำเนินการค้นหาอีกครั้ง โดยหยิบยกเรื่องเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้ยื่นข้อเสนอครั้งใหม่แต่อย่างใด รัฐมนตรีลกบอก
“ถ้าพวกเขาสามารถยืนยันกับเราได้ว่า เทคโนโลยีใหม่นี้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในแง่มุมของการค้นหาแล้ว เราก็มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง” ลกกล่าว
ทางด้านโอลิเวอร์ พลังเคตต์ ซีอีโอของบริษัทโอเชียน อินฟินิตี้ กล่าวในวิดีโอซึ่งนำออกเผยแพร่ในงานรำลึกคราวนี้ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งใกล้ๆ กรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า เวลานี้บริษัทของเขามีเทคโนโลยีที่ดีขึ้นกว่าเดิม ภายหลังจากเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประสบความสำเร็จในการระบุตำแหน่งที่ตั้งของซากเรือดำน้ำอาร์เจนตินาลำหนึ่ง 1 ปีหลังจากมันสูญหายไป
เขากล่าวว่าบริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนข้อมูลต่างๆ ที่เป็นไปได้ทั้งหมดเกี่ยวกับเที่ยวบิน เอ็มเอช 370 และกำลังขบคิดเกี่ยวกับวิธีการในการฟื้นฟูภารกิจค้นหาที่ล้มเหลวไปแล้วของบริษัทให้คืนชีพขึ้นมาใหม่
“เราไม่ได้หมดสิ้นความหวัง ... เรายังคงหวังว่าเราจะสามารถดำเนินการค้นหาต่อไปในเวลาที่เหมาะสม” พลังเกตต์กล่าว
นำเศษซากที่ถูกซัดขึ้นฝั่งมาตั้งแสดง
มีเศษซากมากกว่า 30 ชิ้นซึ่งเชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบิน เอ็มเอช 370 ถูกซัดขึ้นมาตามแนวชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย ทว่ามีเพียง 3 ชิ้นเท่านั้นซึ่งได้รับการยืนยันว่ามาจากเครื่องบินลำนั้นอย่างแน่นอน
2 ชิ้นในจำนวนดังกล่าว ได้ถูกนำมาตั้งแสดงในงานรำลึกเมื่อวันอาทิตย์ (3) ถือเป็นครั้งแรกที่เศษซากเหล่านี้ถูกนำออกเปิดเผยให้สาธารณชนเข้าชม
เศษชิ้นส่วนเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการดูแลรักษาของรัฐบาลมาเลเซีย มีอยู่ชิ้นหนึ่งคือเศษส่วนหนึ่งของปีกที่ค้นพบในแทนซาเนีย โดยวัดความยาวได้ราว 14 ฟุต (4.27 เมตร) นับเป็นเศษซากชิ้นใหญ่ที่สุดเท่าที่ค้นพับกันในเวลานี้
บรรดาสมาชิกในครอบครัวของผู้อยู่บนเครื่องบินลำดังกล่าว แสดงความหวังว่าการตั้งแสดงชิ้นส่วนเหล่านี้อาจช่วยให้สาธารณชนเข้าใจถึงความสูญเสียของพวกเขา และส่งผลกระตุ้นความพยายามในการดำเนินการค้นหาเครื่องบินลำนั้นต่อไป ทั้งนี้ตามการแถลงของ เกรซ นาธาน ทนายความซึ่งมารดาของเธอ แอนน์ เดซี ก็เป็นผู้โดยสารคนหนึ่งในเที่ยวบิน เอ็มเอช 370
“เพราะเจ้าเศษชิ้นนี้ ซึ่งแม้เป็นพียงส่วนเล็กๆ ของปีกเครื่องบิน แต่ก็ใหญ่มาก ทำให้สามารถนึกถึงภาพรวมได้ว่าเครื่องบินทั้งลำมันจะใหญ่โตขนาดไหน” เธอกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนหน้างานคราวนี้ “เมื่อขบคิดถึงมันแล้ว ดิฉันไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเจ้าเศษเล็กๆ นี้ของเครื่องบินสามารถเดินทางเป็นพันๆ กิโลผ่านตลอดมหาสมุทรมาจนถึงแอฟริกาในระยะเวลา 2 ปี ช่วยไม่ได้เลยที่ดิฉันจะรู้สึกพิศวงสงสัยว่า คุณแม่ของดิฉันอยู่ที่ไหน”