xs
xsm
sm
md
lg

'ทรัมป์'ตั้งคนขอ 'โบอิ้ง'เป็นรมว.กลาโหม 'อุตสาหกรรมอาวุธ'ยึดครอง'เพนตากอน'แล้วใช่ไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แมนดี้ สมิธเบอร์เกอร์ และ วิลเลียม ดี. ฮาร์ตุง

<i> แพทริก แชนาแฮน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ผู้เคยทำงานอยู่ที่บริษัทโบอิ้งมาเป็นเวลา 30 ปี แต่แทบไม่มีประสบการณ์ในรัฐบาลหรือในทางทหาร </i>
Our Man From Boeing, Has the Arms Industry Captured Trump’s Pentagon?
By Mandy Smithberger and William D. Hartung
29/01/2019

แพทริก แชนาแฮน ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้งให้เป็นรักษาการรัฐมนตรีกลาโหม เป็นผู้ซึ่งทำงานอยู่นานถึง 30 ปีที่บริษัทโบอิ้ง ทว่าแทบไม่มีประสบการณ์ในรัฐบาลหรือในทางทหาร จึงถือเป็นกรณีที่โดดเด่นกว่าธรรมดา ถึงแม้เพนตากอนกับอุตสาหกรรมอาวุธมีการถ่ายโอนทรัพยากรบุคคลข้ามไปมากันเป็นประจำก็ตามที

เรื่องประตูที่เปิดติดต่อถึงกันได้ โดยเฉพาะในการผ่องถ่ายทรัพยากรบุคลากรโยกย้ายข้ามกันไปข้ามกันมา ระหว่างกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) กับอุตสาหกรรมอาวุธของอเมริกา นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไรเลย

อย่างไรก็ดี ประตูดังกล่าวกำลังถูกเปิดเข้าเปิดออกอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น จากการแต่งตั้ง แพทริก แชนาแฮน (Patrick Shanahan) [1] ผู้ซึ่งทำงานเป็นเวลานานถึง 30 ปีอยู่ที่บริษัทโบอิ้ง อันเป็นผู้รับเหมาทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรายใหญ่อันดับสองของเพนตากอน[2] มาเป็นรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของคณะบริหารประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ก่อนหน้านี้ แชนาแฮนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ในระยะหลายปีหลังๆ มานี้มักสงวนไว้ให้แก่บุคคลที่มีภูมิหลังเคยฝึกวิทยายุทธอยู่ในอุตสาหกรรมอาวุธมาอย่างค่อนข้างแก่กล้า วิลเลียม ลินน์ (William Lynn) รัฐมนตรีช่วยกลาโหมคนแรกในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา เคยทำงานเป็นนักล็อบบี้ให้แก่บริษัทเรย์เธออน (Raytheon) [3] แอชตัน คาร์เตอร์ (Ashton Carter) ผู้ครองตำแหน่งนี้ต่อจากเขา เคยเป็นที่ปรึกษาอยู่ในบริษัทแห่งเดียวกัน [4] ย้อนไปในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช หนึ่งในบุคคลที่เคยครองเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยเพนตากอนของเขา คือ กอร์ดอน อิงแลนด์ (Gordon England) ผู้เคยเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทเจเนอรัล ไดนามิกส์ ฟอร์ต เวิร์ธ แอร์คราฟต์ คอมพานี (General Dynamics Fort Worth Aircraft Company) [5] (บริษัทนี้ต่อมาได้ถูกขายให้ ล็อกฮีด มาร์ติน Lockheed Martin )

แต่แชนาแฮนต้องถือว่าโดดเด่นมากกว่าธรรมดา เท่าที่ยังทรงจำกันได้ในระยะหลังๆ มานี้ ไม่เคยมีรัฐมนตรีกลาโหมคนใดเลย ซึ่งเคยอยู่ในการงานอาชีพในอุตสาหกรรมอาวุธมาอย่างยาวนานถึงขนาดนี้ และก็แทบไม่ได้มีประสบการณ์ในรัฐบาลหรือในทางการทหารอย่างน้อยนิดถึงขนาดนี้ แถมช่วงเวลาแทบทั้งหมดแห่งอาชีพการงานของเขานั้น ในทางเป็นจริงแล้ว มีจุดโฟกัสหลักอยู่ที่การหาทางทำให้โบอิ้งเป็นผู้ชนะคว้าสัญญาจัดซื้อจัดจ้างด้านกลาโหมไปให้สำเร็จ ไม่ใช่การคิดค้นกำหนดนโยบายกลาโหมอันทรงประสิทธิภาพแต่อย่างใด ขณะที่เพนตากอนย่อมสมควรต้องรวมศูนย์ความสนใจไปที่เรื่องการพิทักษ์ปกป้องประเทศชาติ แต่อุตสาหกรรมอาวุธย่อมดำเนินงานเพื่อมุ่งแสวงหาผลกำไร แม้กระทั่งเมื่อหมายความถึงการขายระบบอาวุธไปให้แก่พวกประเทศที่กำลังทำงานต่อต้านคัดค้านผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกาอยู่ก็ตามที [6]

บุคคลที่น่าจะนำมาเปรียบเทียบกับแชนาแฮนได้อย่างใกล้เคียงที่สุด คือ ชาร์ลี วิลสัน (Charlie Wilson) [7] นายใหญ่ของบริษัทเจเนอรัลมอเตอร์ส (General Motors) ซึ่งประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ (Dwight Eisenhower) แต่งตั้งให้เป็นผู้นำของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว และ โรเบิร์ต แมคนามารา (Robert McNamara) [8] รัฐมนตรีกลาโหมคนแรกของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ผู้ซึ่งบริหารบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ (Ford Motor) อยู่ ก่อนจะเข้ามาร่วมในคณะรัฐบาล การที่ไอเซนฮาวร์เลือกวิลสัน ซึ่งบริษัทที่เขาเคยเป็นนายใหญ่อยู่นั้นเป็นผู้ผลิตยานยนต์ทหารด้วย ได้ก่อให้เกิดความกังวลห่วงใยในเวลานั้นเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน –ทว่านั่นไม่ได้อยู่ในความคิดของวิลสันหรอก เขาเคยกล่าวอ้างเหตุผลซึ่งได้กลายเป็นคำพูดอันโด่งดังว่า “ตลอดเวลาหลายๆ ปี ผมมีความคิดว่าสิ่งที่ดีสำหรับประเทศชาติก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเจเนอรัลมอเตอร์สด้วย และสิ่งที่ดีสำหรับเจเนอรัลมอเตอร์สก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศชาติเช่นกัน”

บทบาทใหม่ของแชนาแฮนก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า สิ่งที่เป็นผลประโยชน์อันยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับโบอิ้ง อย่างเช่น การมีงบประมาณด้านกลาโหมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมหึมากว่านี้ หรือการมีสัญญามูลค่ามหาศาลสำหรับอาวุธหรือเครื่องบินซึ่งไม่สามารถจับจ่ายหวาดไหวและไร้ประสิทธิภาพ มันคือสิ่งที่เป็นผลประโยชน์อันยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับสาธารณชนชาวอเมริกันด้วยหรือไม่

ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เนืองนองท่วมท้น

ไม่เหมือนกับวิลสัน อย่างน้อยที่สุดแชนาแฮนก็ดูจะยอมรับรู้อย่างอ้อมๆ ถึงความเป็นไปได้ของการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนจากบทบาทใหม่ของเขา ดังเห็นได้จากการที่เขาตกลงยินยอมที่จะกันตัวเขาเองออกมาจากการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนายจ้างเก่าของเขา [9] ทว่าถ้าเขาต้องการยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นกับจุดยืนดังกล่าวนี้จริงๆ แล้ว เขาก็ต้องหลีกเลี่ยงหลบฉากจากการตัดสินใจทางการบริหารจัดการและทางการเงินที่ทรงความสำคัญที่สุดของเพนตากอนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นความเป็นจริงมีอยู่ว่า เมื่อปีที่แล้ว โบอิ้งได้รับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯไปเป็นมูลค่าร่วมๆ 30,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อทำงานในด้านต่างๆ แทบจะทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่การสู้รบ, การเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน, การฝึก, และเรดาร์ ตั้งแต่การสร้างเครื่องบินไปถึงลูกระเบิด, โดรน, ระบบป้องกันขีปนาวุธ, และดาวเทียมทางการทหาร[10] หากแชนาแฮนต้องการถอยห่างจากการขบคิดพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้แล้ว อย่างเก่งที่สุด เขาก็คงจะกลายเป็นแค่เจ้าหน้าที่บริการซึ่งทำงานพาร์ตไทม์ของเพนตากอน ผู้ไม่สามารถแม้กระทั่งกำกับตรวจสอบว่าโบอิ้งตลอดบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทำอะไรไปบ้างในสิ่งที่ฝ่ายทหารของสหรัฐฯเรียกร้องต้องการ

อย่างไรก็ดี มีหลักฐานปรากฏชัดเจนออกมาแล้วว่า เขายินดีจะทำอะไรอย่างอื่นทว่าไม่มีทางถอยฉากออกมาจากการเข้ากำกับดูแลบริษัทเก่าของเขา ซึ่งก็หนีไม่พ้นการโปรโมตส่งเสริมบริษัทเก่าของเขานั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น เอฟ-15 เอ็กซ์ (F-15X) ของโบอิ้ง ถึงแม้เป็นการขัดต่อความประสงค์ของกองทัพอากาศ [11] แต่เพนตากอนก็ได้ตัดสินใจที่จะลงทุนเป็นมูลค่าอย่างน้อย 1,200 ล้านดอลลาร์ในเครื่องบินขับไล่แบบนี้ ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นอัปเกรดของ โบอิ้ง เอฟ-15 ซี/ดี (F-15C/D) ที่ได้ถูกยื้อแย่งเข้าแทนที่โดย เอฟ-35 (F-35) ใหม่ของล็อกฮีด มาร์ติน ไปแล้ว ทว่าเอฟ-35 เองก็มีปัญหาเยอะแยะมากมายเหมือนกัน[12] มีรายงานหลายกระแสว่า ในการถกเถียงอภิปรายกันภายในเพนตากอน แชนาแฮนได้โยนล็อกฮีด ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญที่สุดของโบอิ้ง ลงถังขยะไปเรียบร้อยแล้ว [13] ตามรายงานของบลูมเบิร์กนิวส์ (Bloomberg News) [14] การตัดสินใจซึ่งทำให้การลงทุนใน เอฟ-15 เอ็กซ์ เกิดขึ้นมาได้นั้น อย่างน้อยที่สุดส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เขา “ตบหลังตบไหล่ให้กำลังใจ” โครงการนี้ เมื่อครั้งที่เขายังเป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหมอยู่

แล้วนี่ยังเป็นแค่หนึ่งในบรรดาสัญญาขนาดใหญ่ๆ จำนวนมากซึ่งโบอิ้งกวาดไปได้ในปีที่ผ่านมา โดยสัญญาฉบับอื่นๆ ยังมีดังเช่น โครงการมูลค่า 9,200 ล้านดอลลาร์สำหรับเครื่องบินเพื่อใช้ฝึกรุ่นใหม่ของกองทัพอากาศ [15], สัญญามูลค่า 805 ล้านดอลลาร์ในเรื่องโดรนใช้เติมน้ำมันกลางอากาศสำหรับกองทัพเรือ [16], เครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดี “แอร์ ฟอร์ซ วัน” (Air Force One) เครื่องใหม่จำนวน 2 ลำที่มีราคาอย่างน้อยที่สุด 3,900 ล้านดอลลาร์[17], และงบประมาณก้อนใหม่ที่มากเอาการทีเดียวสำหรับเครื่องบินเพื่อการเติมน้ำมันทางอากาศแบบ เคซี-46 (KC-46) ซึ่งเป็นเครื่องบินที่เจอปัญหามากมายแต่กองทัพอากาศก็เปิดไฟเขียวให้ดำเนินการผลิตอย่างเต็มตัวแล้วถึงแม้ยังคงมีข้อบกพร่องฉกรรจ์ๆ ที่จะต้องคอยแก้ไขกันต่อไปอีก [18]

ขณะที่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ซึ่งชี้ออกมาชัดๆ ว่า ตัวแชนาแฮนเองได้หาทางเบี่ยงเบนตาชั่งไปในทางทำให้โบอิ้งเป็นฝ่ายได้เปรียบในการประกวดราคาระบบใดๆ เหล่านี้ แต่ภาพที่ออกมาก็ยังดูไม่ดีอยู่นั่งเอง ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหม เขาย่อมถูกผูกพันให้สามารถเรียกตัวไปเป็นกรรมการตัดสินปัญหาใหญ่ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในโครงการต่างๆ เหล่านี้อยู่แล้ว และในตอนนั้นแหละคำถามเรื่องฉันทาคติดเอนเอียงไปเข้าข้างโบอิ้ง จะปรากฏออกมาให้เห็นกันอย่างตรงๆ

พวกที่คอยแก้ต่างปกป้องให้แก่การแต่งตั้งแชนาแฮน ในการเข้าเป็นผู้บริหารเพนตากอนซึ่งเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้คือกระทรวงที่ใหญ่ที่สุดในรัฐบาลส่วนกลางของสหรัฐฯ พูดเสนอแนะว่าการตัดสินสำคัญๆ ทั้งหลายเกี่ยวกับโบอิ้งนั้น จริงๆ แล้วย่อมจะต้องยุติลงที่ระดับล่างๆ และจะไปไม่ถึงโต๊ะทำงานของเขาเสียด้วยซ้ำ[19] อย่างไรก็ตาม นี่คือข้อโต้แย้งที่ผิดพลาดอย่างล้ำลึกด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ เริ่มต้นเลยคือ เมื่อมีการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว พวกผู้บริหารระดับล่างลงมา ย่อมจะต้องตระหนักอยู่แล้วถึงสายสัมพันธ์ชั่วชีวิตที่เจ้านายของพวกเขามีอยู่กับโบอิ้ง –โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีรายงานว่าแชนาแฮนคอยยกย่องสรรเสริญบริษัทเก่าของเขาไม่ขาดปากเมื่ออยู่ในเพนตากอน ตัวอย่างเช่น เขายืนยันเรื่อยมาว่า โครงการ เอฟ-35 ที่ใช้จ่ายเงินงบประมาณไปอย่างมากมายมหาศาล จะไม่เจอปัญหาสาหัสใดๆ ที่เวลานี้กำลังคอยตามรังควาญอยู่เลย ถ้าหากได้โบอิ้งเป็นผู้บริหารโครงการ[20]

นอกจากนั้น แชนาแฮนย่อมจะต้องเป็นผู้พัฒนาจัดทำนโยบายต่างๆ และโครงการต่างๆ ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าจะส่งผลกระทบกระเทือนโดยตรงต่อผลกำไรขาดทุนของบริษัทแห่งนี้ ในบรรดานโยบายและโครงการดังกล่าวนี้ เขาจะเป็นผู้จัดลำดับความสำคัญของกระทรวงกลาโหมในการรับมือกับสิ่งที่มองเห็นรับรู้กันว่าเป็นภัยคุกคามทั้งหลาย เป็นต้นว่า ข้อความแรกสุดในวันแรกที่เขารับตำแหน่งเป็นรักษาการรัฐมนตรี ถูกสรุปย่อความออกมาว่า “จีน, จีน, จีน” [21] แล้วจากนี้ไป ใช่หรือไม่ว่าเขาจะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ แก่การปั๊มระบบอาวุธราคาแพงๆ อย่างเช่น เครื่องบินตรวจการณ์แบบ พี-8 โพไซดอน (P-8 Poseidon) ของโบอิ้ง ซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับการเฝ้าติดตามกิจกรรมทางทหารของจีน ?

ในทำนองเดียวกัน เขายังเป็นผู้สนับสนุนตัวกลั่นที่สุดของเพนตากอนเมื่อมาถึงเรื่องการพัฒนาเพื่อสร้างกองกำลังอวกาศ (Space Force) ขึ้นมาเป็นเหล่าทัพใหม่อีกเหล่าทัพหนึ่ง[22] ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ตื่นเต้นพออกพอใจมาก[23] ตัวอย่างเช่น เขาเป็นผู้สนับสนุนให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาด้านอวกาศ (Space Development Agency) หน่วยงานซึ่งจะรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาทรัพย์สินด้านอวกาศที่ใช้ทางการทหาร มีอำนาจหน้าที่แบบ “ใช้สารสเตียรอยด์” (“on steroids”)[24] นั่นคือมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานซึ่งเป็นอิสระมากกว่าหน่วยงานปกติ แล้วก็จะได้ผลักดันให้เกิดสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในฐานะที่โบอิ้งเป็นผู้ผลิตดาวเทียมทางทหารรายหนึ่ง บริษัทย่อมกลายมีศักยภาพที่จะกลายเป็นผู้รับผลประโยชน์รายใหญ่ของพัฒนาการในทิศทางเช่นนี้

นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องระบบการป้องกันขีปนาวุธ ซึ่งเป็นของโปรดอย่างใหม่อีกอย่างหนึ่งของประธานาธิดีทรัมป์[25] แชนาแฮนนั้นเป็นประธานของหน่วยงานด้านระบบการป้องกันขีปนาวุธของบริษัทโบอิ้ง[26] ในเวลาที่หนึ่งในระบบซึ่งกำลังพัฒนากันอยู่คือ อาวุธเลเซอร์ยิงจากอากาศ (Airborne Laser)[27] ซึ่งหมายถึงการสอยทำลายขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่ถูกข้าศึกยิงออกมา โดยใช้แสงเลเซอร์ซึ่งติดตั้งอยู่บนเครื่องบินโบอิ้ง 747 โครงการนี้ซึ่งกลายเป็นความล้มเหลวอย่างน่าศร้าใจ ได้ถูกยกเลิกไปภายหลังได้ใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากเงินของผู้เสียภาษีอย่างสูญเปล่าไปเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า เทคโนโลยีล่าสุดของเพนตากอนในการต่อสู้ขีปนาวุธด้วยสไตล์ของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ชุด “สตาร์วอร์ส” ซึ่งประธานาธิบดีเพิ่งแถลงว่าจะพัฒนาออกมานั้น กำหนดให้ลงทุนขนาดใหญ่ในเทคโนโลยีชุดหนึ่งที่ดูไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งานจริงพอๆ กัน ในราคาซึ่ง โจเซฟ เซอรินซิโอเน (Joseph Cirincione) แห่งกองทุนเพลาจ์แชร์ส ฟันด์ (Ploughshares Fund) ชี้ว่าอาจจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียวในระยะเวลาหลายสิบปีจากนี้ไป[28]

ในบรรดาโครงการระบบป้องกันขีปนาวุธที่โบอิ้งรับผิดชอบอยู่ในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือ ระบบป้องกันชนิดติดตั้งทางภาคพื้นดิน ที่มุ่งยิงทำลายขีปนาวุธของศัตรูเมื่ออยู่ในระยะ “มิดคอร์ส” (Ground-Based Midcourse Defense System) แต่ในการทดสอบที่ผ่านมา ระบบนี้ซึ่งประกอบไปด้วยขบวนแถวของจรวดสกัดกั้นชนิดยิงจากพื้นดินจำนวนหนึ่ง ได้ประสบความล้มเหลวเกินกว่าครึ่งหนึ่ง[29] นอกจากนั้นระบบอาวุธนี้ยิ่งดูจะไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นไปใหญ่ เมื่อคำนึงว่าในสถานการณ์ที่หัวรบข้าศึกซึ่งกำลังพุ่งทะยานเข้ามานั้น ข้าศึกยังจะต้องปล่อยพวกวัตถุตัวหลอกออกมาพร้อมกันเป็นจำนวนมากอีกด้วย สำนักงานงบประมาณแห่งรัฐสภา (Congressional Budget Office หรือ CBO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้ชื่อว่าทำงานแบบไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองฝ่ายใด ระบุเอาไว้ว่าการยกเลิกโครงนี้ถือเป็นการตัดสินใจทางหนึ่งที่เห็นชัดเจน ซึ่งจะสามารถประหยัดเงินงบประมาณได้อย่างมากมายทีเดียว[30] ทว่ามีโอกาสสักแค่ไหนนักเชียวที่แชนาแฮนจะสนับสนุนการตัดสินใจเช่นนี้ เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาหลายๆ ปีซึ่งเขาได้อุทิศให้แก่ระบบป้องกันขีปนาวุธระบบนี้ตอนที่เขายังทำงานอยู่ในบริษัทโบอิ้ง ?

หรือหากพิจารณาถึงนโยบายทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ บริษัทเก่าของเขาคือ 1 ใน 2 บริษัทที่เข้ารอบสุดท้ายในโครงการสร้างขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile หรือ ICBM) รุ่นใหม่ พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ระบบอาวุธยิงจากภาคพื้นดินเช่นนี้ อย่างเช่น วิลเลียม เพอร์รี (William Perry)[31] รัฐมนตรีกลาโหมในยุคคณะบริหารของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ชี้เอาไว้ว่า ในบรรดาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯทั้งหลาย ซึ่งเรียกกันว่ามีกันอยู่ 3 ขา อันได้แก่ อาวุธที่ใช้ยิงจากภาคพื้นดิน, จากทางทะเล, และจากทางอากาศ นั้น ICBM คือขาที่มีอันตรายที่สุดและไร้ความจำเป็นอย่างที่สุด เนื่องจากในสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นมานั้น จำเป็นที่จะต้องยิงอาวุธนิวเคลียร์ออกไปให้ได้ภายในเวลาไม่กี่นาทีภายหลังได้เกิดสถานการณ์ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาวุธเหล่านี้ก็จะต้องถูกทำลายโดย “นุก” ของข้าศึกซึ่งกำลังพุ่งทะยานเข้ามา กระทั่งพวกผู้สนับสนุนระบบอาวุธประเภทนี้บางรายยังตั้งคำถามขึ้นมาว่า มีความจำเป็นอะไรต้องพัฒนา ICBM รุ่นใหม่เอี่ยมถอดด้าม ในเมื่อระบบเก่าๆ ยังสามารถอัปเกรดขึ้นไปได้[32] ในที่สุดแล้วกระทั่งพวกสายเหยี่ยวเรียกร้องต้องการอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหลายก็ยังอาจถูกโน้มน้าวให้ต้องปรับเปลี่ยนความคิดมาสู่จุดยืนทำนองนี้ด้วยเหมือนกัน เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพนตากอนต้องใช้ในการปรับปรุงคลังแสงนิวเคลียร์ของตนให้ทันสมัยอย่างทั่วถ้วน (รวมไปถึงการผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิด, ขีปนาวุธ, และหัวรบนิวเคลียร์รุ่นใหม่ๆ) นั้นจะต้องใช้งบประมาณถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์[33] ซึ่งจะเริ่มต้นส่งผลกระทบกระเทือนเรื่องที่มีลำดับความสำคัญสูงในด้านอื่นๆ ของกระทรวงแล้ว กระนั้นก็ตาม มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่แชนาแฮนจะยินยอมกระทำอย่างจริงจังตามทัศนะของพวกนักวิพากษ์วิจารณ์แม้กระทั่งในรายที่ดูมีความคิดเห็นแค่พอประมาณไม่สุดโต่ง ในเมื่อมันเป็นการคุกคามที่จะทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินก้อนโตๆ ในวันจ่ายเงินเดือนของโบอิ้งได้?

ท้ายที่สุดแล้ว ยังมีประเด็นปัญหาเรื่องการที่สหรัฐฯให้ความสนับสนุนสงครามอันเหี้ยมโหดในเยเมนซึ่งเปิดฉากขึ้นโดยซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตลอดระยะเวลาเกือบๆ 4 ปีที่ผ่านมา เครื่องบินรบ, ลูกระเบิด, และเฮลิคอปเตอร์โจมตีซึ่งผลิตโดยโบอิ้ง ได้แสดงบทบาทเป็นแกนหลัก [34]ในการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ ซึ่งได้สังหารพลเรือนเสียชีวิตไปเป็นหมื่นๆ คน เวลาเดียวกันการที่ซาอุดีอาระเบียปิดล้อมประเทศนี้ก็ทำให้ผู้คนเป็นล้านๆ คนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภาวะอดอยากขาดแคลนอาหาร ยิ่งกว่านั้น โบอื้งยังคงได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากสัญญามูลค่า 480 ล้านดอลลาร์เพื่อให้บริการแก่พวกเครื่องบินขับไล่ เอฟ-15 ที่บริษัทเป็นผู้ขายให้กองทัพอากาศซาอุดีอาระเบีย[35]

ตรงนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะอยู่ข้างฝ่ายบริษัท โดยเขากล่าวว่า “โบอิ้ง, ล็อกฮีด, เรย์เธออน … ผมไม่ต้องการให้กระทบกระเทือนเรื่องตำแหน่งงาน” เขากล่าวในรายการ “60 มินิตส์” (60 Minutes) “ไม่ต้องการที่จะสูญเสียใบสั่งซื้ออย่างนั้น (อย่างที่มาจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย)”[36] ก่อนที่เขาจะลาออกจากตำแหน่งไป เจมส์ แมตทิส ผู้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนก่อน ได้เรียกร้องอยู่เป็นประจำให้วิจารณ์เรื่องการทำสงครามของซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งเข้าช่วยเหลือจัดวางนโยบายของสหรัฐฯที่มีต่อซาอุดีฯและยูเออี[37] สำหรับแชนาแฮนล่ะ จะยืนอยู่ตรงไหนในสงครามซึ่งโหมฮือลุกไหม้ขึ้นมาเนื่องจากสมรรถนะของผลิตภัณฑ์ของบริษัทเก่าของเขา?

อันที่จริง เคยมีตัวอย่างมาก่อนอยู่เหมือนกัน เกี่ยวกับสถานการณ์อันเลวร้ายที่แชนาแฮนต้องตัดสินใจเช่นนี้ โดยที่ทั้ง อินเทอร์เซปต์ (Intercept)[38] และ วอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) [39] ต่างรายงานกันทั้งคู่ว่า ชาร์ลส์ โฟลค์เนอร์ (Charles Faulkner) รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการนิติบัญญัติ ซึ่งเคยเป็นนักล็อบบี้ให้บริษัทเรย์เธออน ได้ประกาศสนับสนุนการให้คำรับรองแก่ซาอุดีอาระเบียว่ามีความใสสะอาดผุดผ่องในความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการโจมตีถูกพลเรือนในเวลาทำการโจมตีทางอากาศในเยเมน ทั้งนี้เนื่องจากไม่เช่นนั้นแล้วเรย์เธออนก็ต้องสูญเสียสัญญาขายลูกระเบิดที่สามารถทำกำไรได้อย่างงามๆ

ปัญหาเรื่องบุคลากรข้ามฟากไปมาระหว่างเพนตากอนกับอุตสาหกรรมอาวุธ

แชนาแฮน กับ โฟลค์เนอร์ ไม่ใช่เป็นเพียงอดีตผู้บริหารหรือนักล็อบบี้ให้อุตสาหกรรมอาวุธแค่ 2 คนเท่านั้นซึ่งเปิดประตูเชื่อมต่อเข้าไปร่วมอยู่ในทีมงานของคณะบริหารทรัมป์ [40] รัฐมนตรีทบวงทหารอากาศ (Secretary of the Air Force) ฮีเธอร์ วิลสัน (Heather Wilson) ก็เป็นนักล็อบบี้เก่าของล็อกฮีด มาร์ติน ขณะที่ เอลเลน ลอร์ด (Ellen Lord) ซึ่งเป็นหัวหน้าด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่เพนตากอน เคยทำงานอยู่กับเท็กซ์ทรอน (Textron) ผู้ผลิตลูกระเบิดและเฮลิคอปเตอร์ทหาร รัฐมนตรีทบวงทหารบก (Secretary of the Army) มาร์ค เอสเพอร์ (Mark Esper) –ผู้ตกเป็นข่าวลือว่าเป็นไปได้ที่จะแซงโค้งเข้าแทนที่แชนาแฮนในตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม[41]— ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักล็อบบี้ระดับท็อปคนหนึ่งของเรย์เธอออน ปลัดกระทรววงกลาโหมฝ่ายนโยบาย (Undersecretary of Defense for Policy) จอห์น รูด (John Rood) เคยเป็นรองประธานบริหารอาวุโสคนหนึ่งอยู่ที่ ล็อกฮีด มาร์ติน และบุคคลซึ่งเข้าร่วมในสโมสรนี้คนล่าสุด ได้แก่ ชาร์ลส์ คุปเพอร์แมน (Charles Kupperman) [42] ผู้ได้รับการทาบทามให้มานั่งเก้าอี้รองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ อาชีพการงานที่ผ่านมาของเขานั้น รวมถึงการเคยนั่งอยู่ที่โบอิ้งและก็ล็อกฮีด มาร์ติน ด้วย (คำพูดอวดอ้างที่ทำให้ผู้คนจดจำเขากันได้มากคือ การกล่าวยืนกรานว่าสหรัฐฯสามารถที่จะชนะสงครามนิวเคลียร์ได้)

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งแพทริก แชนาแฮน ด้วย ได้เดินข้ามประตูเชื่อมต่อที่ขึ้นชื่อลือฉาวระหว่างเพนตากอนกับอุตสาหกรรมอาวุธ โดยเปิดประตูก้าวเข้าสู่ฝั่งตำแหน่งหน้าที่ในฝ่ายรัฐบาล แต่จริงๆ แล้ว มีอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมตลอดจนนายทหารระดับท็อปจำนวนมากซึ่งได้ข้ามประตูเชื่อมโดยเปิดประตูออกไปสู่อีกฝั่งหนึ่งกันมานานแล้ว ตัวอย่างเช่น ในปี 1969 วิลเลียม พร็อกซ์ไมร์ (William Proxmire) วุฒิสมาชิกสหรัฐฯจากรัฐวิสคอนซิน ซึ่งถือเป็นนักเฝ้าจับตามองเพนตากอนระดับตำนานคนหนึ่ง ได้เคยบรรยายปัญหาเช่นนี้เอาไว้แล้ว [43] ดังนี้:

“การที่นายทหารยศสูงๆ สามารถเข้าไปคว้าตำแหน่งงานในพวกบริษัทรับเหมาด้านกลาโหมรายใหญ่ๆ ได้อย่างง่ายดาย ตลอดจนความเคลื่อนไหวในทำนองกลับกันของพวกผู้บริหารระดับท็อปในบริษัทรับเหมาด้านกลาโหมรายใหญ่ ซึ่งเข้าสู่ตำแหน่งงานระดับสูงของเพนตากอน นี่แหละคือหลักฐานอันหนักแน่นที่แสดงให้เห็นการปฏิบัติการ ของการผนึกรวมตัวกันระหว่างฝ่ายทหารกับอุตสาหกรรมจนกลายเป็นสถาบันที่มีผลประโยชน์อันแนบแน่น (military-industrial complex) มันเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อผลประโยชน์ของสาธารณชน เนื่องจากมันเพิ่มโอกาสที่จะเกิดการใช้อำนาจอย่างมิชอบ ... เป็นเรื่องยากเย็นที่จะต่อรองถึงขนาดไหน สำหรับนายทหารหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในการวางแผนด้านจัดซื้อจัดจ้างหรือในการขับดันคุณสมบัติของอาวุธ เมื่อพวกเขาเหลือเวลาก่อนเกษียณอายุเพียง 1 หรือ 2 ปี และมีตัวอย่างให้พบเห็นจากการที่มีเพื่อนนายทหารหรือเจ้าหน้าที่จำนวนมากกว่า 2,000 คน[44] กำลังไปได้ดีในงานที่อยู่ข้างนอกนั่นภายหลังเกษียณอายุแล้ว?”

หรืออย่างที่บันทึกภายในของกองทัพอากาศอากาศเมื่อปี 1983 พูดเอาไว้ว่า “ถ้านาวาอากาศเอกสักคนหนึ่งหรือนายพลสักคนหนึ่งลุกขึ้นมาและบ่นอุตลุดเกี่ยวกับต้นทุนสูงและคุณภาพต่ำ ก็จะไม่มีคนดีๆ น่ารักๆ คนไหนมาเยี่ยมเขาหรอกเมื่อเขาปลดเกษียณ”

ในขณะยังมีฐานะเป็นผู้แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนรับรู้รับทราบเกี่ยวกับปัญหาอันชัดแจ้งเรื่องประตูต่อเชื่อมอันอื้อฉาวนี้ และได้เสนอแผนการปฏิรูปทางจริยธรรม 5 ประการเพื่อชะลอเรื่องนี้ลง[45] ถ้าหากไม่สามารถที่จะปิดประตูนี้ลงไปเสียเลย ทว่าโชคร้าย คำสั่งฝ่ายบริหารเรื่องหลักจริยธรรมที่เขาประกาศใช้ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่งนั้น[46] มีเนื้อหาที่ห่างกันไกลเหลือเกินจากความทะเยอทะยานที่เขาประกาศในช่วงรณรงค์หาเสียง และยังคงปล่อยให้ประตูต่อเชื่อมนี้เปิดเข้าเปิดออกกันอย่างสนุกสนานต่อไป รายงานฉบับใหม่ฉบับหนึ่ง [47]จาก “โครงการว่าด้วยการกำกับตรวจสอบรัฐบาล” (Project On Government Oversight) ได้รวบรวมจัดทำหลักฐานเกี่ยวกับกรณีต่างๆ รวม 645 กรณี เฉพาะในปี 2018 ปีเดียวเท่านั้น ซึ่งอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลได้เข้าไปรับตำแหน่งต่างๆ ในบริษัทรับเหมาระดับ ท็อป 20 ของเพนตากอน สำหรับบริษัทซึ่งมีการรับอดีตเจ้าหน้าที่เหล่านั้นมากมายกว่าเพื่อนนะรึ? คุณๆ คงจะไม่ประหลาดใจอะไรหรอกเมื่อคำเฉลยคือ โบอิ้ง ซึ่งเป็นผู้จ้างงานคนเหล่านี้ 84 ราย

พลเรือโท เจฟฟรีย์ เวียริงกา (เกษียณอายุ) (Retired Vice Admiral Jeffrey Wieringa) [48] ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าของสำนักงานส่งเสริมการขายอาวุธของเพนตากอน คือหนึ่งในกรณีเหล่านั้น จากบทบาทหน้าที่ตอนยังอยู่ที่กระทรวงกลาโหม เขาได้ช่วยโปรโมตการขายอาวุธอเมริกันในทั่วโลก บางทีอาจจะเป็นผลลัพธ์จากเรื่องเช่นนี้เอง เขาจึงได้ “หาเลี้ยง” ตัวเขาเองด้วยการนั่งตำแหน่งประธานบริหารด้านการบริการและการสนับสนุนทั่วโลก อยู่ที่โบอิ้ง ในเวลาไม่ถึง 1 ปีภายหลังเกษียณอายุ แน่นอนทีเดียวว่าตัวอย่างทำนองนี้ไม่ใช่มีแต่เขาเพียงคนเดียวหรอก พลเรือตรี โดนัลด์ แกดดิส (เกษียณอายุ) (Retired Rear Admiral Donald Gaddis)[49] นายทหารด้านโครงการผู้หนึ่งสำหรับระบบทางอากาศของกองทัพเรือสหรัฐฯ ก็เข้าทำงานในบริษัทแห่งนั้นด้วย เช่นเดียวกับ พลอากาศตรี แจ็ก แคตทัน จูเนียร์ (เกษียณอายุ) (Air Force Major General Jack Catton, Jr.) [50] ที่เคยทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างให้แก่กองบัญชาการการสู้รบทางอากาศ[51] (Air Combat Command) ก่อนย้ายมาทำงานให้โบอิ้ง พลเรือโท มาร์ค ฮาร์นิตเชค (เกษียณอายุ) (Retired Vice Admiral Mark Harnitchek)[51] อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งกำลังบำรุงกลาโหม (Defense Logistics Agency) ที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการสินค้าและบริการต่างๆ ตลอดทั่วทั้งกระทรวงกลาโหมซึ่งมีมูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียวนั้น [52] ก็ได้เข้าทำงานเป็นประธานบริหารคนหนึ่งของโบอิ้งเช่นเดียวกัน

ชะลอการต่อเชื่อมระหว่างเพนตากอนกับอุตสาหกรรมอาวุธ

โดนัลด์ ทรัมป์ ในตอนที่ยังเป็นแค่ผู้สมัคร มองเห็นประตูเชื่อมต่อระหว่างรัฐบาลกับอุตสาหกรรมว่าเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข “ผมคิดว่าใครก็ตามซึ่งเป็นผู้ตัดสินให้สัญญาจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าสูงพวกนั้น ในระหว่างช่วงชีวิตของพวกเขาก็ไม่สมควรเลยเป็นอันขาด ที่จะได้รับอนุญาตให้ทำงานกับบริษัทด้านกลาโหม ให้กับบริษัทซึ่งเป็นคนทำผลิตภัณฑ์อันนั้น”[53] เขาเคยกล่าวเอาไว้เช่นนี้ อย่างไรก็ตาม จากการที่ยังมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากมายเดินผ่านประตูดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มันย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้อยู่ในตัวว่า เมื่อทรัมป์เปลี่ยนแปลงฐานะมาเป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาก็ยังไม่ได้ทำอะไรในเรื่องนี้อย่างจริงจังเลย

เพื่อที่จะทำเรื่องเช่นนี้ให้สำเร็จ อันดับแรกเลย เขาควรที่จะต้องนำคณะบริหารของเขาโฟกัสไปที่การปิดช่องโหว่รูรั่วต่างๆ จำนวนมากในประดากฎหมายด้านจริยธรรมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯในปัจจุบัน ทั้งนี้ถึงแม้กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้มีความสมบูรณ์ แต่ก็ได้หาทางจำกัดควบคุมเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อันบังเกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งโยกย้ายไปรับตำแหน่งในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน มาตรการจำกัดไม่ให้พวกอดีตเจ้าหน้าที่กลับมาทำหน้าที่ล็อบบี้ให้แก่อุตสาหกรรมนั้นยังสามารถที่จะหลบหลีกหนีเลี่ยงกันได้ ถ้าหากบุคคลเหล่านี้ประทับติดตราพวกเขาเองว่าเป็น “ที่ปรึกษา” หรือ “ผู้บริหารด้านการพัฒนาธุรกิจ” ในทำนองเดียวกัน พวกอดีตเจ้าหน้าที่เพนตากอนยังสามารถที่จะไปทำงานให้บริษัทผลิตอาวุธที่พวกเขาเคยตัดสินให้ชนะได้สัญญาจัดซื้อจัดจ้างไป หากพวกเขาถูกว่าจ้างโดยฝ่ายอื่นแผนกงานอื่นของบริษัทแห่งนั้น นอกจากนี้แล้ว ขณะที่รัฐสภาเรียกร้องกำหนดให้เพนตากอนต้องคอยติดตามจับตาใครก็ตามที่กำลังก้าวผ่านประตูเชื่อมต่อดังกล่าว แต่ฐานข้อมูลสำหรับเรื่องนี้กลับทั้งไม่มีความสมบูรณ์และไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าไปดู[54]

ทรัมป์ในฐานะผู้สมัครนั้นเคยแตะต้องบางสิ่งบางอย่างซึ่งเข้าท่าเข้าทางทีเดียว อย่างไรก็ดี แทนที่จะพยายามจำกัดผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างโจ่งแจ้งที่ติดแน่นแฝงฝังลึกอยู่ในประตูเชื่อมต่อดังกล่าว –มันเป็นสัญลักษณ์ขั้นสูงสุดของการปฏิบัติการ ของการผนึกรวมตัวกันระหว่างฝ่ายทหารกับอุตสาหกรรมจนกลายเป็นสถาบันที่มีผลประโยชน์อันแนบแน่น— ในความเป็นจริงแล้วประธานาธิบดีทรัมป์กลับกำลังเร่งเครื่องเพิ่มทวีเรื่องนี้เสียฉิบ อเมริกาจึงกำลังกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งจริงๆ ถ้าหากคุณเกิดเป็นหนึ่งในบรรดาพวกซึ่งโชคดีเพียงพอที่จะได้เคลื่อนย้ายไปๆ มาๆ ระหว่างตำแหน่งงานแสนเลอเลิศในเพนตากอนและในอุตสาหกรรมอาวุธ

แมนดี้ สมิธเบอร์เกอร์ เป็นผู้อำนวยการของโครงการการปฏิรูปทางทหารสเตราส์ ( Straus Military Reform Project) แห่ง “โครงการว่าด้วยการกำกับตรวจสอบรัฐบาล” (Project On Government Oversight หรือ POGO)
วิลเลียม ดี. ฮาร์ตุง ซึ่งเป็นนักเขียนประจำของเว็บไซต์ ทอม ดิสแพตช์ เป็นผู้อำนวยการของโครงการอาวุธและความมั่นคง (Arms and Security Project) ที่ ศูนย์กลางเพื่อนโยบายระหว่างประเทศ (Center for International Policy) และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Prophets of War: Lockheed Martin and the Making of the Military-Industrial Complex

(อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่เว็บไซต์ www.tomdispatch.com )

เชิงอรรถ

[1]https://dod.defense.gov/About/Biographies/Biography-View/Article/1252116/patrick-shanahan/

[2] https://www.fpds.gov/fpdsng_cms/index.php/en/reports.html

[3] https://www.pogo.org/press/release/2009/white-house-waiver-for-dod-appointee-lynn-undermines-white-house-ethics-standards-and-sends-wrong-message/

[4] https://www.pogo.org/analysis/2015/01/ashton-carter-takes-revolving-door-to-higher-level/

[5] https://dod.defense.gov/About/Biographies/Biography-View/Article/602796/

[6] https://www.cato.org/publications/policy-analysis/risky-business-role-arms-sales-us-foreign-policy

[7] https://history.defense.gov/Multimedia/Biographies/Article-View/Article/571268/charles-e-wilson/

[8] https://history.defense.gov/Multimedia/Biographies/Article-View/Article/571271/robert-s-mcnamara/

[9]https://www.bizjournals.com/wichita/news/2019/01/03/acting-defense-secretary-shanahan-stepping-aside.html

[10] https://www.usaspending.gov/#/recipient/e476b836-dc7b-9b88-2e6a-950711779386-P

[11] https://www.defensenews.com/digital-show-dailies/air-force-association/2018/09/12/air-force-not-considering-new-f-15-or-hybrid-f-22f-35-top-civilian-says/

[12] https://nationalinterest.org/blog/buzz/f-35-stealth-fighter-not-ready-war-40857

[13] https://www.politico.com/story/2019/01/09/defense-patrick-shanahan-boeing-pentagon-1064203

[14] https://about.bgov.com/blog/pentagon-billion-new-boeing-fighters/

[15] https://www.reuters.com/article/us-usa-boeing-trainingjet-exclusive/exclusive-boeing-wins-9-2-billion-contract-for-new-air-force-training-jet-u-s-official-idUSKCN1M72MP

[16] https://www.defensenews.com/naval/2018/08/30/us-navy-selects-builder-for-new-mq-25-stingray-aerial-refueling-drone/

[17] https://www.cnn.com/2018/02/27/politics/boeing-air-force-one-donald-trump/index.html

[18] https://www.seattletimes.com/business/boeing-aerospace/the-air-force-finally-takes-ownership-of-its-first-boeing-tanker-with-some-misgivings/

[19] https://www.thedailybeast.com/patrick-shanahan-can-boeings-favorite-defense-secretary-hang-on?ref=author

[20] https://www.politico.com/story/2019/01/09/defense-patrick-shanahan-boeing-pentagon-1064203

[21] https://breakingdefense.com/2019/01/acting-secdef-shanahans-first-message-china-china-china/

[22] https://spacenews.com/shanahan-keeps-tight-grip-on-space-force-planning/

[23]http://www.tomdispatch.com/blog/176472/tomgram%3A_william_hartung%2C_to_boldly_go_nowhere/

[24] https://www.defensenews.com/digital-show-dailies/air-force-association/2018/09/19/shanahan-downplays-disagreements-over-space-force-structure/

[25] https://www.whitehouse.gov/briefings-statements/remarks-president-trump-vice-president-pence-announcing-missile-defense-review/

[26] https://dod.defense.gov/About/Biographies/Biography-View/Article/1252116/patrick-shanahan/

[27]https://www.armscontrol.org/act/2012_03/Airborne_Laser_Mothballed

[28] https://www.newsweek.com/donald-trump-space-missile-defense-plan-expensive-wont-work-border-wall-1296406

[29] https://thebulletin.org/2018/06/us-ground-based-midcourse-missile-defense-expensive-and-unreliable/

[30] https://www.cbo.gov/system/files?file=2018-12/54667-budgetoptions-DiscretionarySpendingOptions.pdf

[31] https://www.nytimes.com/2016/09/30/opinion/why-its-safe-to-scrap-americas-icbms.html

[32] https://www.defensenews.com/space/2017/09/22/4-alternatives-to-the-pentagons-new-icbm-modernization-plan/

[33] https://www.armscontrol.org/issue-briefs/2017-08/trillion-half-dollar-triad

[34]https://www.washingtonpost.com/business/2018/10/25/defense-contractors-stand-with-white-house-saudi-arms-sales/?utm_term=.a3b30eb3ee36

[35]https://www.nytimes.com/2018/12/25/world/middleeast/yemen-us-saudi-civilian-war.html

[36] https://www.cbsnews.com/news/donald-trump-full-interview-60-minutes-transcript-lesley-stahl-2018-10-14/

[37] https://news.yahoo.com/despite-denials-documents-reveal-u-s-training-uae-forces-combat-yemen-171513437.html

[38] https://theintercept.com/2018/09/21/mike-pompeo-yemen-war-raytheon/

[39] https://www.wsj.com/articles/top-u-s-diplomat-backed-continuing-support-for-saudi-war-in-yemen-over-objections-of-staff-1537441200?mod=hp_listb_pos3

[40] https://about.bgov.com/blog/revolving-door-trump-pentagon-contractors-spins-faster/

[41] https://www.star-telegram.com/news/local/community/fort-worth/article223380240.html

[42] https://www.politico.com/story/2019/01/11/deputy-national-security-adviser-kupperman-1097506

[43] https://www.republicreport.org/2012/four-decades-ago-senator-warned-revolving-door-militaryindustrial-complex/

[44] https://www.gao.gov/assets/280/275717.pdf

[45]https://web.archive.org/web/20161201141002/https:/www.donaldjtrump.com/press-releases/donald-j.-trumps-five-point-plan-for-ethics-reform

[46] https://www.pogo.org/analysis/2017/01/trump-fails-to-expand-definition-of-lobbyist-in-ethics-order/

[47] https://www.pogo.org/report/2018/11/brass-parachutes/

[48] https://www.pogo.org/database/pentagon-revolving-door/people/jeffrey-a-wieringa/

[49] https://www.pogo.org/database/pentagon-revolving-door/people/donald-gaddis/

[50] https://www.pogo.org/database/pentagon-revolving-door/people/jack-j-catton/

[51] https://www.pogo.org/database/pentagon-revolving-door/people/mark-d-harnitchek/

[52] http://www.dla.mil/AtaGlance.aspx

[53] https://www.pogo.org/report/2018/11/brass-parachutes/

[54] https://www.pogo.org/analysis/2014/04/dod-revolving-door-database-needs-to-get-into-gear/


กำลังโหลดความคิดเห็น