xs
xsm
sm
md
lg

'ออสซี่'สงสัย'จีน'มีเอี่ยวแฮ็กรัฐสภา แต่'อังกฤษ'กลับแย้งมะกัน ระบุความเสี่ยงอุปกรณ์หัวเว่ย 'คุมได้'

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - ออสเตรเลียชี้มี “ตัวแสดงที่เป็นรัฐ” เจาะระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐสภาและหลายพรรคการเมืองสำคัญแดนจิงโจ้ โดยผู้เชี่ยวชาญระบุผู้ต้องสงสัยหนึ่งในสองคือจีน ร้อนถึงปักกิ่งต้องออกมาตอกกลับว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีหลักฐานแต่เป็นความพยายามให้ร้ายตน ขณะเดียวกันมีข่าวว่า หน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์ของอังกฤษระบุว่า สามารถควบคุมความเสี่ยงจากอุปกรณ์หัวเว่ย ซึ่งเท่ากับเป็นการบ่อนทำลายความพยายามของอเมริกาในการชักชวนนานาชาติขึ้นบัญชีดำบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ของแดนมังกรแห่งนี้

นายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน แถลงต่อสมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียเมื่อวันจันทร์ (18 ก.พ.) ว่า จากการตรวจสอบกรณีที่มีการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐสภาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ทำให้พบว่า ระบบข้อมูลของพรรคการเมืองสำคัญบางพรรคถูกเจาะเช่นเดียวกัน และเชื่อว่า เป็นฝีมือของ “ตัวแสดงที่เป็นรัฐ” อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่า มีการแทรกแซงการเลือกตั้งที่กำลังจะจัดขึ้นในแดนจิงโจ้อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

หน่วยงานความมั่นคงของออสเตรเลียยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่รู้ว่า ใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ รวมทั้งไม่รู้ว่า มีข้อมูลใดถูกโจรกรรมไปบ้าง ผู้บุกรุกแอบเจาะระบบมานานแค่ไหนก่อนถูกตรวจพบ และเหตุการณ์นี้ทำให้นักการเมืองบางคนเสี่ยงต่อการถูกขู่กรรโชกหรือไม่

ต้นเดือนนี้ ออสเตรเลียรายงานว่า เครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรัฐสภาประสบปัญหาด้านความปลอดภัย บีบให้ผู้ใช้ ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต้องเปลี่ยนรหัสผ่านและเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอื่นๆ

เฟอร์กัส แฮนสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย เตือนว่า การติดตามตัวผู้เจาะระบบอาจยากลำบากและใช้เวลานาน อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่า มีผู้เล่นเพียง 1-2 รายเท่านั้นที่ทำการโจมตีระดับนี้ได้ โดยผู้ต้องสงสัยรายแรกคือจีน แต่ก็ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ว่า รัสเซียอาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ทางด้าน เกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาตอบโต้ระหว่างการแถลงข่าวตามปกติในวันเดียวกันที่ปักกิ่งว่า การคาดเดาเช่นนี้ไร้ความรับผิดชอบเนื่องจากไม่มีหลักฐาน และเป็นความพยายามที่จะให้ร้ายจีน

เกิ่งยังเรียกร้องสื่อให้หยุดใช้ประเด็นการรั่วไหลของข้อมูลในระบบไซเบอร์และการเจาะระบบ เพื่อมาทำลายความน่าเชื่อถือของจีน รวมทั้งยุติการบ่อนทำลายผลประโยชน์ของจีน และความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนกับประเทศที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน ปักกิ่งและแคนเบอร์รามีข้อพิพาทกันตั้งแต่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การอ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเล ไปจนถึงการที่แดนจิงโจ้กล่าวหาทางการจีนใช้บริษัทเทคโนโลยีท้องถิ่นเป็นเครื่องมือ

ความสัมพันธ์ของสองประเทศตึงเครียดยิ่งขึ้นหลังจากออสเตรเลียตัดสินใจห้ามไม่ให้ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ของจีน เข้าร่วมโครงการ 5จีของออสเตรเลีย ท่ามกลางความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ รวมทั้งการสั่งขับ หวง เซียน มหาเศรษฐีจีนที่บริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์ให้พรรคการเมืองในออสเตรเลีย ออกนอกประเทศ

ออสเตรเลียกำลังจะจัดเลือกตั้งกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นว่า แฮ็กเกอร์อาจพยายามครอบงำผลการเลือกตั้งหรือเปลี่ยนสาระการโต้วาที

ทั้งรัสเซียและจีนต่างเคยใช้ปฏิบัติการไซเบอร์เพื่อส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในดินแดนประชาธิปไตยตะวันตกมาแล้ว ตัวอย่างเช่น สายลับปักกิ่งถูกกล่าวหาว่า พุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่ไต้หวันก่อนการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่ชาวรัสเซียหลายคนถูกฟ้องข้อหาพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 นอกจากนั้นรัสเซียยังถูกกล่าวหาว่า มีส่วนก้าวก่ายในการทำประชามติของอังกฤษในการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ในปีเดียวกัน ซึ่งข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้มอสโกได้ออกมาปฏิเสธ

อลาสแตร์ แมคกิบบอน ผู้อำนวยการศูนย์ความมั่นคงทางไซเบอร์ของออสเตรเลีย กล่าวว่า สถาบันการเมืองของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายข่าวกรอง “ไฟฟ์อายส์” ที่ยังรวมถึงอังกฤษ แคนาดา นิวซีแลนด์ และอเมริกา เป็นเป้าหมายใหญ่ของต่างชาติ กระนั้น เขายืนยันว่า ออสเตรเลียมีระบบตรวจจับและรับมือการโจมตีทางไซเบอร์

แมคกิบบอนเสริมว่า แฮ็กเกอร์ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีล่าสุดมีเทคนิคซับซ้อนมากพอที่จะเจาะเข้าระบบ แต่ไม่มากจนสามารถหลบเร้นการตรวจจับของออสเตรเลียได้

ในอีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ ของอังกฤษรายงานในวันจันทร์ (18) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ศูนย์ความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติของอังกฤษ (เอ็นซีเอสซี) ได้ข้อสรุปว่า อังกฤษมีวิธีการในการจำกัดความเสี่ยงจากการใช้อุปกรณ์หัวเว่ยในเครือข่าย 5จี

ด้านโฆษกของเอ็นซีเอสซีกล่าวถึงรายงานนี้เพียงว่า ทางศูนย์ฯ มุ่งมั่นในการปกป้องความปลอดภัยของเครือข่ายข้อมูลของสหราชอาณาจักร และมีความสามารถในการกำกับดูแลและทำความเข้าใจวิศวกรรมของหัวเว่ย รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์

เห็นกันว่าข้อสรุปของอังกฤษครั้งนี้น่าจะบ่อนทำลายความพยายามของอเมริกาที่กำลังเที่ยวป่าวประกาศให้ชาติพันธมิตรขึ้นบัญชีดำอุปกรณ์หัวเว่ย โดยอ้างว่า อุปกรณ์เหล่านั้นถูกปักกิ่งใช้เป็นเครื่องมือเข้าถึงระบบสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศต่างๆ

นอกจากอเมริกาแล้ว ยังมีออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสาธารณรัฐเช็กที่แบนอุปกรณ์เครือข่ายหัวเว่ย

เดือนธันวาคมที่ผ่านมา บีที ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ประกาศถอนการติดตั้งอุปกรณ์หัวเว่ยจากเครือข่าย4จีของบริษัท หลังจากหน่วยข่าวกรองต่างชาติระบุว่า บริษัทแห่งนี้เป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคง
กำลังโหลดความคิดเห็น