xs
xsm
sm
md
lg

‘หัวเว่ย VS สหรัฐฯ’ ใครจะยืดใครจะจ๋อย? ลุ้นกันที่งานนิทรรศการใหญ่ 5 จี บาร์เซโลนา สิ้น กพ.นี้

เผยแพร่:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์


‘หัวเว่ย VS สหรัฐฯ’ ใครจะยืดใครจะจ๋อย? ลุ้นกันที่งานนิทรรศการใหญ่ 5 จี บาร์เซโลนา สิ้น กพ.นี้

โดย กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Huawei gets support ahead of big 5G exhibition
By Asia Times staff
09/02/2019

มีรายงานว่าทำเนียบขาวพร้อมแล้วที่จะประกาศห้ามใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย ทว่ายุโรปยังคงปฏิเสธที่จะเดินตาม ละครบู๊ดุเดือดเรื่องยาว “หัวเว่ย VS สหรัฐฯ” เข้าสู่ช่วงตอนใหม่ในงาน “โมบายล์ เวิลด์ คองเกรส” ที่บาร์เซโลนา สิ้นเดือนกุมพาพันธ์นี้

ตอนล่าสุดในเรื่องราวของ หัวเว่ย VS สหรัฐฯ กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเร็วๆ นี้ ขณะที่คณะบริหารทรัมป์ยังคงพยายามต่อไปในการถล่มโจมตีใส่บริษัทเทเลคอมแดนมังกรรายนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศจีน

เป็นที่คาดหมายกันว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารสัปดาห์หน้า ซึ่งจะห้ามอย่างเป็นทางการไม่ให้เครือข่ายสื่อสารไร้สายของสหรัฐฯซื้อหาอุปกรณ์ของบริษัทหัวเว่ย โดยที่รายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏออกมาในวันพฤหัสบดีที่ 7 ก.พ. โดยสื่อ “โพลิติโค” (Politico)

พวกบริษัทให้บริการสื่อสารไร้สายขนาดใหญ่ของสหรัฐฯได้ถูกขัดขวางจนกระทั่งในทางปฏิบัติไม่ได้มีการทำงานกับบริษัทแชมเปี้ยนแห่งชาติของจีนรายนี้อยู่แล้ว ทว่ายังมีบริษัทขนาดย่อมๆ ลงมาของอเมริกัน พึ่งพาอาศัยอุปกรณ์ของหัวเว่ยที่ราคาถูกกว่าซัปพลายเออร์เจ้าอื่นๆ

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ซึ่งอันที่จริงก็เป็นที่คาดการณ์กันมานานพอดูแล้ว กล่าวกันว่าตั้งใจจะให้ออกมาก่อนหน้างาน “โมบายล์ เวิลด์ คองเกรส” (Mobile World Congress) งานนิทรรศการใหญ่ของอุตสาหกรรมการสื่อสารไร้สาย ซึ่งกำหนดจัดขึ้นที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ตอนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมเทเลคอมซึ่งทราบเรื่องดีรายหนึ่ง บอกกับเอเชียไทมส์ว่า หัวเว่ยก็จะใช้งานนี้เพื่ออวดโอ่ให้เห็นว่าบริษัทวิ่งนำหน้าทิ้งคู่แข่งไปไกลถึงขนาดไหนแล้วในเรื่องของเทคโนโลยี 5 จี พวกผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องกันอย่างกว้างขวางว่า หัวเว่ยอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากตรงแถวหน้าของการจัดตั้งเครือข่ายสื่อสารไร้สายเจเนอเรชั่นที่ 5 ขึ้นมาในตลอดทั่วทั้งโลก ยกเว้นแต่ในพวกประเทศซึ่งบริษัทถูกกีดกันด้วยข้อหาเป็นภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัย

แต่ถึงแม้พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันได้ใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นเป็นอันมากในการกดดันเหล่าชาติพันธมิตร ก็ดูเหมือนยังคงประสบความล้มเหลว โดยเฉพาะในยุโรป ออสเตรเลียนั้นได้ห้ามใช้อุปกรณ์หัวเว่ยในเครือข่าย 5 จีของตนไปแล้ว และแคนาดาก็เป็นที่คาดหมายกันมากว่าจะกระทำตาม อย่างไรก็ดี เยอรมนี, อิตาลี, และสหราชอาณาจักร ส่งสัญญาณออกมาในสัปดาห์นี้ว่าพวกเขาจะไม่สั่งห้ามใช้อุปกรณ์ของบริษัทแดนมังกรรายนี้

รัฐบาลเยอรมนีได้ออกคำแถลงเผยแพร่ถึงสื่อมวลชนในสัปดาห์นี้ ระบุว่าพวกเขาไม่ได้มองหาทางกีดกั้นไม่ให้หัวเว่ยขายอุปกรณ์ในแดนดอยช์ ส่วนอิตาลีก็ยืนยันว่าไม่ได้มีแผนการขัดขวางผู้ผลิตอุปกรณ์เทเลคอมสัญชาติจีนรายนี้ อันเป็นการปฏิเสธรายงานข่าวก่อนหน้านี้ซึ่งพูดเอาไว้เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ทั้งหมดเหล่านี้ปรากฏออกมา ถึงแม้มีความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าของวอชิงตันที่จะบีบคั้นพวกชาติพันธมิตรให้ยินยอมตามข้อเรียกร้องของตน โดยเฉพาะในวันพฤหัสบดีที่ 7 ก.พ. เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหภาพยุโรป ไปไกลถึงขนาดข่มขู่ที่จะใช้ “มาตรการตอบโต้” หากประเทศในยุโรปยังเลือกที่จะ “ทำธุรกิจกับฝ่ายจีน”

“ผมไม่เห็นว่ามีเหตุผลที่หนักแน่นต้านทานไม่อยู่ใดๆ เลย ซึ่งทำให้จะต้องทำธุรกิจกับฝ่ายจีน ตราบเท่าที่พวกเขายังคงมีโครงสร้างอันพรักพร้อมสำหรับการเจาะเข้าไป และบงการ หรือสอดแนมสืบความลับจากพวกลูกค้าของพวกเขา” เอกอัครราชทูต กอร์ดอน ซอนด์แลนด์ (Gordon Sondland) กล่าวในการให้สัมภาษณ์วันพฤหัสบดี (7 ก.พ.) ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (ดูรายละเอียดข่าวนี้ได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-02-07/huawei-deals-for-tech-will-have-consequences-u-s-warns-eu) [1]

เขากล่าวต่อไปอีกว่า “พวกที่กำลังบุกหน้าไปอย่างมืดบอด และกำลังต้อนรับเทคโนโลยีของจีนโดยไม่ได้คำนึงถึงความวิตกกังวลเหล่านี้ อาจจะต้องพบว่าพวกเขาอยู่ในจุดที่เสียเปรียบในเวลาติดต่อกับเรา”

กระนั้นยังปรากฏว่าเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ก.พ. ผู้บริหารระดับท็อปรายหนึ่งของ บีที กรุ๊ป (BT Group) บริษัทผู้ให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ออกมาแสดงท่าทีอย่างเปิดเผยว่าเข้าร่วมกับอิตาลีและเยอรมนีในการ “เชิดใส่” สหรัฐฯเกี่ยวกับประเด็นนี้

“ตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมาซึ่งเราได้ทำงานกับหัวเว่ย เรายังไม่เคยพบเห็นอะไรเลยซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เราเกิดความกังวล” มาร์ค อัลเลอรา (Marc Allera) ซีอีโอด้านแบรนด์ลูกค้าของบีที บอกกับโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น

ณ งานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ตอนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ฉากใหม่ในละครบู๊ดุเดือดเรื่องยาว “หัวเว่ย VS สหรัฐฯ” น่าที่จะเผยให้เห็นกันได้ว่า ฝ่ายใดจะต้องโดดเดี่ยวได้รับการต้อนรับอย่างเย็นชา

หมายเหตุผู้แปล

[1] เกี่ยวกับความพยายามของสหรัฐฯในการสกัดกั้นกีดกันหัวเว่ย ไม่ให้ผงาดขึ้นครองฐานะโดดเด่นเหนือเทคโนโลยี 5 จีในทั่วโลกนี้ เอเชียไทมส์ได้เผยแพร่ข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งซึ่งวิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้


สหรัฐฯสกัด ‘หัวเว่ย’ไม่ให้ครองตลาด‘5จี’ เพื่อปิดบังความล้มเหลวทางนโยบายของตัวเอง
โดย เดวิด พี. โกลด์แมน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

US closes the barn door after Huawei has bolted
By David P. Goldman
26/01/2019

ความพยายามของวอชิงตันที่จะสกัดขัดขวางไม่ให้หัวเว่ยขึ้นสู่ฐานะโดดเด่นครอบงำทั่วโลกในด้าน 5 จี ไม่ใช่อะไรอื่นเลยนอกจากเป็นการมุ่งหน้าหันเหความสนใจให้ออกมาจากความบกพร่องล้มเหลวทางนโยบายอย่างฉกรรจ์ของตัวเองซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงขั้นวิบัติหายนะเท่านั้น

“หัวเว่ย” บริษัทเทคโนโลยีระดับ “เรือธง” ของประเทศจีน คือบริษัทแดนมังกรแห่งแรกซึ่งสามารถสถาปนาตัวเองขึ้นสู่ฐานะโดดเด่นเหนือกว่าใครๆ ในโลกทางด้านเทคโนโลยีอันทรงความสำคัญระดับสามารถเปลี่ยนเกมการแข่งขัน นั่นก็คือ เทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายรุ่น 5 จี ความพยายามต่างๆ ของวอชิงตันที่จะกีดกันขัดขวางการผงาดขึ้นของหัวเว่ยนั้น เป็นเพียงแค่การเสแสร้งแกล้งทำอันน่าหัวเราะเยาะของสถาบันความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ภายหลังจากที่โอกาสและความเป็นจริงได้ผ่านเลยไปเสียแล้ว ทั้งนี้เพื่อมุ่งรักษาความน่านับถือของพวกเขาเอาไว้ และหันเหเบี่ยงเบนเสียงประณามติเตียนสำหรับความล้มเหลวเชิงนโยบายของพวกเขาซึ่งเกิดผลลัพธ์ต่อเนื่องในขั้นวิบัติหายนะ คาดหมายได้ว่าประเทศอื่นๆ ในโลกจะพากันพยักพเยิดแต่ขยิบตาและถองศอกใส่กันเพื่อล้อเลียนยิ้มเยาะสหรัฐฯ แล้วก็จะทำธุรกิจกับยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนรายนี้ต่อไป

พวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอเมริกันเตือนว่า การที่หัวเว่ยสามารถมีฐานะครอบงำในเรื่องบรอดแบนด์ 5 จี จะทำให้จีนมีศักยภาพในการเข้าสอดแนมสืบความลับจากการสื่อสารโทรคมนาคมของโลกตะวันตก บางทีนี่อาจจะเป็นความจริงอยู่ ทว่ามันก็ถือเป็นเพียงส่วนน้อยนิดที่สุดของปัญหาต่างๆ ซึ่งอเมริกาจะต้องเผชิญ การสื่อสารโทรคมนาคมระดับ 5 จีนั้นทำให้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งเจเนอเรชั่นทีเดียวกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ขึ้นมา รวมไปถึงการควบคุมต่างๆ ทางด้านอุตสาหกรรมด้วย ความเร็วของระบบ 5 จีในการดาวน์โหลดคำสั่งต่างๆ ด้วยอัตราซึ่งว่องไวอย่างมหาศาลยิ่งกว่าบรอดแบนด์ไร้สายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือรากฐานของสิ่งที่เรียกกันว่า “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” (Internet of Things)

จอห์น แมคคัลลัม (John McCallum) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำจีน (หมายเหตุผู้แปล – นักการเมืองชาวแคนาดาผู้มีประสบการณ์โชกโชนผู้นี้ต้องยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนี้ตามคำเรียกร้องของนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ในวันเดียวกับที่เอเชียไทมส์เผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้คือ 26 มกราคม 2019 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/John_McCallum ) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (วันที่ 23 มกราคม) ได้ติเตียนสหรัฐฯ โดยพูดกับสื่อภาษาจีนในกรุงออตตาวาว่า คดีความที่อเมริกาหยิบยกขึ้นมาใช้เล่นงาน เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเว่ย เป็นเพียงการใส่ร้ายป้ายสีเพื่อผลทางการเมืองเท่านั้น

ขณะถูกถามถึงการไต่สวนของศาลแคนาดาเพื่อพิจารณาคำร้องของฝ่ายอเมริกันที่จะให้ส่งตัวผู้บริหารชาวจีนผู้นี้ไปดำเนินคดีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แมคคัลลัมตอบว่า “ผมคิดว่าคุณเมิ่งมีเหตุผลข้อโต้แย้งสำหรับสู้คดีที่หนักแน่น”

“ข้อแรก มีการเข้ามายุ่งเกี่ยวในทางการเมืองจากการแสดงความเห็นของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในคดีของเธอ ข้อสอง คดีความของเธอมีแง่มุมที่อาจจะเป็นการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และข้อสาม คดีของเธอมีการเกี่ยวข้องพัวพันกับประเด็นปัญหาเรื่องการแซงก์ชั่นอิหร่าน โดยที่แคนาดาไม่ได้ลงนามเข้าร่วมในการแซงก์ชั่นอิหร่านเหล่านั้น” เขาอธิบาย “ดังนั้น ผมคิดว่าเธอมีเหตุผลโต้แย้งสำหรับใช้สู้คดีบางประการที่หนักแน่น ซึ่งเธอสามารถหยิบยกขึ้นมาให้ผู้พิพากษาพิจารณา”

ไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนเลย สำหรับการดูหมิ่นเหยียดหยามสหรัฐฯต่อหน้าสาธารณชนโดยหนึ่งในพันธมิตรผู้พูดภาษาอังกฤษของอเมริกาในลักษณะเช่นนี้ เราสามารถคาดทายได้อยู่แล้วว่า เอกอัครราชทูตแมคคัลลัมจะต้องถอยห่างจากการแสดงความเห็นเช่นนี้ของเขา โดยเขาประกาศในวันที่ 24 มกราคมว่า เขา “พูดผิด” กระนั้นมันก็ยังคงเป็นเรื่องแบบที่ว่า ระฆังเมื่อมันดังลั่นขึ้นมาแล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายหรอกที่จะไปกลบเกลื่อนว่ามันไม่ได้ดัง

เวลาเดียวกันนั้น เยอรมนีได้เสนอที่จะดำเนินการสอบสวนว่าหัวเว่ยเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือไม่ หลังจากที่ปฏิเสธไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯในเรื่องการกีดกันหัวเว่ยออกไปจากเรื่อง 5 จีในแดนดอยช์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

ในฐานะที่เป็นพันธมิตรรายหนึ่งของอเมริกัน เยอรมนีย่อมมีพันธะผูกพันที่จะต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของสหรัฐฯอยู่แล้ว แต่การที่เยอรมนีจะยินยอมโอนอ่อนผ่อนตามนั้น มีความเป็นไปได้น้อยนิดเหลือเกิน หัวเว่ยนั้นมีการปรากฏตัวอย่างใหญ่โตมหึมาในเยอรมนี แล้วก็เป็นสปอนเซอร์ระดับบริษัทรายหนึ่งของการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ ของพรรคคริสเตียนเดโมแครตยูเนียน (Christian Democratic Union) ซึ่งเป็นพรรคผู้นำของคณะรัฐบาลผสมที่ปกครองเยอรมนีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ตามข่าวของนิวยอร์กไทมส์ (ดูรายละเอียดข่าวนี้ได้ที่ https://www.nytimes.com/2019/01/22/technology/huawei-europe-china.html )

เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของชาติพันธมิตรในยุโรปรายหนึ่งของอเมริกา บอกกับผมว่าประเทศของเขาไม่สามารถยอมรับข้อเรียกร้องของอเมริกันที่ให้กีดกันหัวเว่ยออกไป

“เรากำลังพยายามอธิบายให้เพื่อนมิตรอเมริกันของเราฟังว่า ในช่วงคณะบริหารโอบามานั้น ไม่มีใครเลยที่ให้ความสนใจแก่ยุโรปกลางยกเว้นฝ่ายจีน และหัวเว่ยก็ได้เป็นผู้สร้างสถาปัตยกรรมด้านสื่อสารไร้สายทั้งหมดของเรา เราไม่สามารถที่จะกำจัดพวกเขาออกไปได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้นแล้ว พวกเขายังกำลังทำธุรกิจในประเทศของเราในฐานะที่เป็นบริษัทซึ่งจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเราไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายใดๆ เลยที่จะไปกีดกันกำจัดพวกเขา” เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้นี้บอก

รัฐบาลโปแลนด์นั้นเมื่อเดือนที่แล้วในจับกุมลูกจ้างพนักงานผู้หนึ่งของหัวเว่ย ในข้อหากระทำจารกรรม

เมื่อปี 2003 หัวเว่ยได้ประนอมยอมความในคดีที่ถูกซิสโก้ (Cisco) ฟ้องร้อง ภายหลังถูกจับได้ว่ากำลังใช้โค้ดของบริษัทอุปกรณ์เทเลคอมยักษ์ใหญ่อเมริกันรายนี้อยู่ ทว่าหลังจากเวลาผ่านพ้นไป 15 ปี หัวเว่ยกำลังใช้จ่ายระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในด้านการวิจัยและพัฒนา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gizchina.com/2018/09/09/huawei-to-spend-about-20-billion-yearly-for-rd-in-future/) เท่ากับประมาณ 4 เท่าตัวของที่อิริคสันหรือโนเกียใช้อยู่ โดยที่บริษัทยุโรป 2 รายหลังนี้คือผู้ท้าทายรายสำคัญเท่าที่มีอยู่ในตลาดอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ของบริษัทจีนซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งแห่งนี้

การประเมินเป็นการภายในของหัวเว่ยเองระบุว่า บริษัทนำหน้าทางเทคโนโลยีในด้านบรอดนแบนด์ไร้สาย 5 จี ชนิดทิ้งห่างไปไกลจนคู่แข่งขันเหล่านี้ไม่มีโอกาสในทางเป็นจริงที่จะไล่ตามทัน ตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ หัวเว่ยจะเปิดตัวโทรศัพท์ “ปาหลง” (Balong phone) ของตน ซึ่งติดตั้งชิปเซ็ต (chipset) ที่สามารถดำเนินการดาวโหลดด้วยความรวดเร็วคิดเป็นกว่าสิบเท่าตัวของอัตราเร็วของระบบ 4 จี แอลทีอี (4G LTE) ที่ดีที่สุด ขณะที่ทำงานกับเครือข่าย 4 จีได้ด้วย แหล่งข่าววงการอุตสาหกรรมนี้หลายรายบอกว่า หัวเว่ยกำลังเตรียมนำเอา ปาหลง เข้าสู่การผลิตกันเป็นจำนวนมากๆ ในปีนี้

ยิ่งไปกว่านั้น หัวเว่ยยังขายอุปกรณ์ในราคาที่ถูกกว่ามาก ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับอิริคสันหรือโนเกีย แถมเมื่อพิจารณาจากกรณีส่วนใหญ่ที่สุดแล้ว เครือข่ายของบริษัทนี้ยังมีความน่าเชื่อถือไว้วางใจได้มากกว่าของคู่แข่งชนิดทิ้งกันห่างอีกด้วย ยุทธศาสตร์การตลาดของหัวเว่ยจะมากจะน้อยก็อยู่ในลักษณะเดียวกันวิธีการซึ่ง ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (Hewlett-Packard หรือ HP) ใช้ในตลาดเครื่องพรินเตอร์ นั่นคือจำหน่ายอุปกรณ์พื้นฐานซึ่งก็คือตัวเครื่องพรินเตอร์ด้วยราคาถูกๆ และทำเงินจากการขายหมึกพิมพ์ที่ใช้กับพรินเตอร์เหล่านั้น

ถึงแม้พวกบริษัทให้บริการสื่อสารไร้สายรายใหญ่ที่สุดของอเมริกาต่างพากันบอยคอตต์อุปกรณ์หัวเว่ยมาป็นแรมปีแล้ว ภายใต้แรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่บริษัทจีนรายนี้ก็ยังคงมีผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่งในอเมริกา

ดังรายงานที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งตอนหนึ่งกล่าวว่า: “บริษัทเทครายใหญ่ที่สุดของจีนรายนี้ ผลิตอุปกรณ์สำหรับการทำเครือข่ายที่มีคุณภาพสูง ซึ่งบริษัทนำมาขายให้กิจการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในชนบท (รายเล็กๆ ในอเมริกา) ด้วยราคาต่ำกว่าของคู่แข่ง 20% ถึง 30% นี่เป็นคำบอกเล่าของโจเซฟ ฟราเนลล์ (Joseph Franell) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการใหญ่ของบริษัทอีสเทิร์น ออริกอน เทเลคอม (Eastern Oregon Telecom) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเฮอร์มิสตัน (Hermiston) มลรัฐออริกอน ศูนย์ปลูกแตงโมที่มีประชากรราว 18,000 คน อุปกรณ์ของหัวเว่ยนี้แหละกำลังช่วยพวกบริษัทเทเลคอมสหรัฐฯจำนวน 20 กว่าแห่ง ให้สามารถให้บริการทั้งสายโทรศัพท์บ้าน, บริการโทรศัพท์มือถือ, และการรับส่งสัญญาณข้อมูลไฮสปีด แก่พื้นที่จำนวนมากในบริเวณยากจนที่สุดและอยู่ห่างไกลที่สุดของประเทศ” (ดูรายละเอียดข่าวนี้ได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-01-24/huawei-stokes-u-s-fear-with-low-cost-networking-gear-that-works)

สำหรับการเจาะตลาดที่หัวเว่ยได้กระทำอยู่ในอเมริกาเหนือ ซึ่งชวนให้เกิดความรู้สึกน่าอับอายขายหน้าที่สุด โดยดำเนินไปอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าไม่มีสื่ออเมริกันรายงานข่าวกันเลย ได้แก่ การก่อสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์ระดับชาติในเม็กซิโก ซึ่งครอบคลุมถึงศักยภาพด้าน 5 จีด้วย เครือข่ายที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “เครือข่ายร่วม” (shared network หรือ Red Compartida) ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเม็กซิโกไปแล้วเมื่อต้นปี 2018 และเวลากำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หัวเว่ยคือผู้ซัปพลายหลักในเรื่องอุปกรณ์ โดยมีโนเกียขนาบข้าง

เครือข่ายร่วม เรด คอมปาร์ติดา นี้ จะทำหน้าที่สร้างเครือข่ายบรอดแบนด์ ทว่าไม่ได้ให้บริการด้วยตนเอง แต่จะเสนอให้บริษัทผู้ให้บริการเทเลคอมของเม็กซิโกทุกๆ รายเข้ามาใช้งานได้ ประธานของบริษัทให้บริการเช่นนี้รายหนึ่ง คือ มีเดียเทเลคอม (Mediatelecom) บอกกับนิตยสารธุรกิจ “เอ็กซ์ปานซิโอน” (Expansión) ว่า การรณรงค์ของวอชิงตันที่มุ่งต่อต้านหัวเว่ยนั้นไม่ได้บังเกิดผลอะไรในเม็กซิโก “เรื่องนี้ต้องเกี่ยวข้องกับสงครามระหว่างสหรัฐฯกับจีน แต่ผมเชื่อว่าในเม็กซิโกนั้น เราไม่ได้มีเหตุผลทางกฎหมายหรือเหตุผลทางการเมืองใดๆ เลยที่จะคิดไปได้ว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อเครือข่ายร่วม หรือซัปพลายเออร์ใดๆ ของเครือข่ายนี้” ทั้งนี้เครือข่ายร่วมมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเติมเต็มความต้องการของพื้นที่ต่างๆ ในเม็กซิโกซึ่งยังมีบริการเหล่านี้ไม่พอเพียง และตั้งเป้าจะขยายบรอดแบนด์ไร้สายให้ครอบคลุมประชากรเม็กซิโกจำนวน 92% ให้ได้ภายในปี 2025

ทำไมสหรัฐฯจึงยืนดูอยู่เฉยๆ ขณะที่จีนเข้าไปสร้างระบบบรอดแบนด์ตรงบริเวณชายแดนทางด้านใต้ของตน นี่คือคำถามซึ่งรบกวนใจเป็นอย่างมาก ถ้าหากสหรัฐฯไม่สามารถเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวเม็กซิโกให้กีดกันหัวเว่ยออกมาทั้งๆ ที่เม็กซิโกอยู่บ้านถัดไปแค่นี้ สหรัฐฯก็ย่อมมีความลำบากในการขู่เข็ญบังคับเยอรมนี

เมื่อปี 2014 ผมได้ร่วมคณะไปกับผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตของเม็กซิโกประจำฮ่องกง ในการเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของหัวเว่ยที่เมืองเซินเจิ้น หอแสดงนิทรรศการของบริษัทต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงทีเดียวในการทัวร์และชมผลิตภัณฑ์ที่อยากอวดทั้งหลายของหัวเว่ย จุดหนึ่งซึ่งน่าสนใจคือ มีกำแพงขนาดมหึมาตอนหนึ่งซึ่งปรากฏแผนที่ของนครกว่างโจว (กวางเจา เมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้ง) ที่มีไฟดวงเล็กๆ จำนวนเป็นหมื่นๆ ดวง “นี่คือสถานที่อยู่ในปัจจุบันของสมาร์ตโฟนทุกๆ เครื่องในเมืองนั้น เราใช้รายการซื้อผ่านออนไลน์และการเสิร์ชทางอินเทอร์เน็ตมาตีวงระบุสถานที่ตั้งออกมา”

ในท้ายที่สุดผู้แทนของเม็กซิโกท่านนั้นและผมก็มาถึงตอนท้ายสุดของการทัวร์ และได้รับเชิญให้นั่งอยู่ในโรงมหรสพครึ่งวงกลมขนาดเล็กๆ แห่งหนึ่ง ผู้บริหารของหัวเว่ยคนหนึ่งเดินมาที่แท่นพูด และนำเสนอพรีเซนเทชั่นด้วยเพาเวอร์พอยต์ เกี่ยวกับเศรษฐกิจของเม็กซิโก โดยพูดถึงเรื่องที่เม็กซิโกมีการเข้าถึงบรอดแบนด์ในอัตราต่ำที่สุดและมีต้นทุนสูงที่สุดในบรรดาระบบเศรษฐกิจขนาดเดียวกัน ผู้บริหารผู้นั้นกล่าวต่อไปว่า เมื่อใดที่หัวเว่ยได้รับความไว้วางใจมอบหมายให้รับผิดชอบ เม็กซิโกก็สามารถที่จะใช้บรอดแบนด์เชื่อมโยงทั่วทั้งประเทศเข้าด้วยกัน และหัวเว่ยก็จะนำเอาทั้ง อี-คอมเมิร์ช, อี-ไฟแนนซ์, ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เข้าไปยังเม็กซิโก เอาเราเข้าไป แล้วเราจะทำให้ท่านเติบโตแบบเดียวกับจีน ผู้บริหารผู้นี้กล่าวย้ำ

คณะชาวเม็กซิโกซึ่งนั่งกันอยู่ที่นั่นต่างตกอยู่ในอาการพิศวง “พวกคุณใช้เวลานานขนาดไหนในการทำเรื่องนี้” เอกอัครราชทูตถามขึ้น

“6 ถึง 7 ปี ราวๆ นั้น” ผู้บริหารคนนั้นของหัวเว่ยตอบ

“ในเม็กซิโก ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนไปเลย” เอกอัครราชทูตผู้นี้กล่าว

อย่างไรก็ดี มีหลักฐานอันชัดเจนว่าบางสิ่งบางอย่างได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จีนไม่ได้เพียงกำลังสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์ขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังกำลังให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่พวกผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ชตลอดทั่วทั้งภูมิภาคละตินอเมริกา เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของบรอดแบนด์นี้

“ขณะที่อเมริกากระเถิบถดถอยเข้าไปอยู่ในฉากหลัง การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของพวกบริษัทจีนในละตินอเมริกาและแคริบเบียน ได้พุ่งทะลุฟ้าในระยะ 10 ปีหลังมานี้ ทั้งนี้ตามรายงานฉบับหนึ่งเมื่อปี 2018 ของ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับละตินอเมริกาและแคริบเบียน (United Nations Economic Commission for Latin America and the Caribbean) จีนเข้าไปลงทุนคิดเป็นมูลค่าเกือบๆ 90,000 ล้านดอลลาร์ในภูมิภาคนี้ระหว่างปี 2005 ถึงปี 2016 ยิ่งเมื่อมีการเน้นย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคม การลงทุนของจีนในเทคโนโลยีเกิดใหม่นี้ก็ยิ่งกลายเป็นเชื้อเพลิงลำดับแรกสุดมากขึ้นทุกที ซึ่งอยู่เบื้องหลังการบูมทางด้านเทคโนโลยีของละตินอเมริกา” ดานิเอลา กุซมาน (Daniela Guzman) รายงานเอาไว้ในเช่นนี้ใน บลูมเบิร์กนิวส์ (Bloomberg News) เมื่อวันที่ 8 มกราคม

ต่อจากนั้นพวกบริษัทซอฟต์แวร์ของจีน กำลังเดินตามกิจการฮาร์ดแวร์เข้าไปยังละตินอเมริกา และน่าที่จะเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมบรรดาเศรษฐกิจเหล่านี้ ซึ่งเคยมีฐานะเพียงแค่อยู่แถวหลังบ้านของอเมริกามาแต่ไหนแต่ไร ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดในแง่มุมทางเศรษฐกิจ ลัทธิมอนโร (Monroe Doctrine) ก็ชำรุดไม่สามารถทำงานได้แล้ว

อเมริกาไม่ได้เป็นโรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมอีกต่อไปแล้ว –ซิสโก้นั้นได้ออกจากธุรกิจนี้มาเนิ่นนานหลายปี— ขณะที่คู่แข่งทั้งสองของหัวเว่ย ไม่ว่าจะเป็นโนเกียแห่งฟินแลนด์ หรืออิริคสันแห่งสวีเดน ก็มีขนาดเล็กเกินไป, เริ่มต้นสายเกินไป, และราคาแพงเกินไป แทบไม่มีโอกาสเอาเลยที่ความพยายามของวอชิงตันในการสยบกดข่มหัวเว่ยจะประสบความสำเร็จ ผมจึงอ่านสิ่งที่เกิดขึ้นว่า คือการตอบโต้ภายหลังจากที่โอกาสและความเป็นจริงได้ผ่านเลยไปเสียแล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งในการหันเหเบี่ยงเบนความสนใจของสถาบันความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้พวกเขาถูกจับจ้องว่าบกพร่องล้มเหลวไม่ได้ลงมืออย่างทันการณ์ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างความแตกต่างขึ้นมาได้จริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น