xs
xsm
sm
md
lg

“สี จิ้นผิง” นัดพบทีมเจรจาการค้ามะกัน “ทรัมป์” ก็แย้มอาจยืดเส้นตายทำข้อตกลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

(แฟ้มภาพ) โต๊ะเจรจาการค้าสหรัฐฯและจีนเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่่ผ่านมา
เอเจนซีส์ - เจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนในปักกิ่ง บรรยากาศเพิ่มความหวังในทางสดใส สื่อฮ่องกงเผยสี จิ้นผิง มีแผนพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกาปลายสัปดาห์นี้ ขณะที่ทรัมป์ส่งสัญญาณอาจเลื่อนเส้นตายข้อตกลงการค้าถ้าการเจรจามีความคืบหน้า ด้านขุนคลังอเมริกันซึ่งเป็นหนึ่งในคณะหารืออเมริกัน แสดงความหวังว่าการพูดจาจะเป็นไปด้วยดี

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ ของฮ่องกง รายงานเมื่อวันพุธ (13 ก.พ.) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน จะพบปะกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงผู้แทนการค้าสหรัฐฯ โรเบิรต ไลต์ไฮเซอร์ และรัฐมนตรีคลัง สตีเวน มนูชิน ในวันศุกร์ (15) นี้

ไลต์ไฮเซอร์ และมนูชิน ที่อยู่ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายสหรัฐฯ เดินทางถึงกรุงปักกิ่งตั้งแต่วันอังคาร (12) เพื่อร่วมเจรจาการค้ากับรองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ และผู้ว่าการธนาคารกลางจีน อี้ กัง ในวันพฤหัสบดี และศุกร์ (14-15)

คณะเจรจาของทั้งสองฝ่ายอยู่ภายใต้ความกดดันที่จะต้องบรรลุข้อตกลงกันก่อนเส้นตายวันที่ 1 มีนาคมตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคาร (12) ประมุขสหรัฐฯ เผยว่า อาจขยายเส้นตายออกไปเล็กน้อย หากการเจรจาที่ปักกิ่งมีความคืบหน้าอย่างแท้จริง

ทั้งนี้เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทรัมป์สั่งชะลอแผนการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ จากที่ขึ้นไปแล้ว 10% ขยับให้เป็น 25% โดยการระงับชั่วคราวนี้กินเวลา 3 เดือนเพื่อให้คณะผู้แทนสองประเทศเจรจาผ่าทางตัน

ในวันพุธ มนูชินยังพูดที่ปักกิ่งโดยแสดงความหวังว่า การประชุมการค้ากับจีนจะบรรลุผล แต่เขาไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายระบุว่า การเจรจารอบก่อนที่กรุงวอชิงตันเมื่อเดือนที่แล้วมีความคืบหน้าบางประการ แต่ยังไม่มีข้อตกลง และอเมริกาประกาศว่า ยังมีอะไรอีกมากที่จะต้องทำ

วอชิงตันนั้นเรียกร้องให้ปักกิ่งเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติทางการค้าซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรม โดยครอบคลุมถึงการขโมยเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างอุปสรรคการค้ามากมายที่บริษัทต่างชาติในจีนต้องเผชิญ การบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีและความลับทางการค้า

ขณะที่จีนพยายามผ่อนคลายสถานการณ์ด้วยการเสนอซื้อสินค้าจำนวนมากจากสหรัฐฯ กระนั้น เป็นที่คาดว่า อเมริกาจะยังคงยืนกรานให้จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เช่น ลดการอุดหนุนของภาครัฐ
(แฟ้มภาพ) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน(ซ้าย) นำคณะเจรจา พบปะหารือกับคณะผู้แทนเจรจาของสหรัฐฯที่นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รอบนอกการประชุมจี20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมปีก่อน
ในช่วงประมาณครึ่งปีที่ผ่านมา สองประเทศนี้แลกหมัดกันด้วยการใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับสินค้าเข้าของอีกฝ่ายหนึ่งรวมแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 360,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้สร้างความกดดันให้ภาคการผลิตของทั้งสองฝ่าย อีกทั้งทำให้ตลาดการเงินโลกระส่ำระสาย

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (10) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า เศรษฐกิจโลกอาจเผชิญพายุจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจลดต่ำ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเนื่องจากข้อพิพาททางการค้าจีน-สหรัฐฯ

สำหรับการเจรจาการค้ารอบล่าสุดในปักกิ่งคราวนี้ เริมขึ้นตั้งแต่วันจันทร์โดยเป็นการเจรจาระดับคณะทำงานเพื่อหารือในรายละเอียดด้านเทคนิค ซึ่งรวมถึงกลไกในการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงที่อาจจะเกิดขึ้นมา

เจมส์ กรีน นักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำปักกิ่ง เชื่อว่า จีนต้องการให้สีกับทรัมป์ประชุมกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการบรรลุข้อตกลงกันโดยเร็ว แม้ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไม่มีแผนพบกับผู้นำจีนก่อนเส้นตายการเจรจาการค้า 1 มีนาคม ก็ตาม

กรีนชี้ว่า ในสหรัฐฯนั้นทั้งฝ่ายรีพับลิกันและฝ่ายเดโมแครตต่างมีความกังวลร่วมกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับ การที่เศรษฐกิจของจีนถูกภาครัฐเข้าควบคุมมากขึ้นทุกที การที่จีนเพิ่มทวีกิจกรรมทางทหารในทะเลจีนใต้ รวมทั้งประเด็นปัญหาความมั่นคงที่เกี่ยวเนื่องจากการก้าวผงาดขึ้นมาบริษัทเทคโนโลยีแดนมังกร

เขาจึงเชื่อว่า แม้ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ในเรื่องภาษีศุลกากร แต่ไม่ได้หมายความว่า ความขัดแย้งทางการค้าจะสิ้นสุดลงแล้ว

“ผมคิดว่าไม่ว่าเราจะได้อะไรจากข้อตกลงก็ตามที มันก็จะเป็นเพียงการหยุดพักชั่วขณะเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯยังกำลังเดินหน้าไปในภาคโทรคมนาคม ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการทางกฎหมาย และในประเด็นซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรการคว่ำบาตร” กรีนกล่าว

ทั้งนี้เห็นชัดว่าเขากำลังหมายถึงการรณรงค์ของคณะบริหารทรัมป์ที่มุ่งประทับตราบริษัทหัวเว่ยของจีนว่าเป็นภัยด้านความมั่นคง และโน้มน้าวชักจูงให้ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯอย่าใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย โดยเฉพาะในการพัฒนาเครื่อข่ายสื่อสารไร้สายเจเนอเรชั่นหน้ารุ่น 5 จี ท่ามกลางการจับตามองว่าวอชิงตันกระทำเช่นนี้ด้วยความวิตกเรื่องความมั่นคงจริงๆ หรือแฝงด้วยความมุ่งมั่นที่จะรักษาฐานะการครอบงำทางเศรษฐกิจโลกของตนเอาไว้

ความพยายามทางด้านนี้ของวอชิงตัน มีตัวอย่างได้เห็นจากการที่ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เรียกร้องเมื่อวันจันทร์ระหว่างเยือนยุโรปกลาง ให้ชาติพันธมิตรเลือกระหว่างอเมริกากับการใช้ระบบสื่อสารของบริษัทจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเว่ย เทคโนโลยีส์

อเมริกาและชาติตะวันตกเชื่อว่า จีนใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยเป็นเครื่องมือในการสอดแนม ทว่า ทั้งปักกิ่งและผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ ต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐฯแฉหลักฐานพิสูจน์เรื่องนี้ออกมาให้เห็นกันชัดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น