xs
xsm
sm
md
lg

เสนอคุมเข้มลดอำนาจ “กูเกิล-เฟซบุ๊ก” คุ้มครองการทำข่าวอิสระมีคุณภาพ แก้ปัญหาข่าวปลอมข่าวขยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - ประธานของหน่วยงานกำกับตรวจสอบเรื่องการแข่งขันและคุ้มครองผู้บริโภคของออสเตรเลีย กล่าวเตือนในวันจันทร์ (11 ก.พ.) ว่า จำเป็นต้องออกระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่เข้มงวดมาใช้กับพวกยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่าง กูเกิล และเฟซบุ๊ก ทั้งนี้เพื่อปกป้องคุ้มครองอนาคตของการทำข่าวและวารสารศาสตร์ที่มีอิสระ

ร็อด ซิมส์ ประธานของคณะกรรมการเพื่อการแข่งขันและผู้บริโภคออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission หรือ ACCC) กล่าวว่า อำนาจตลาดที่อยู่ในเงื้อมมือของพวกแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเช่น กูเกิล และ เฟซบุ๊ก กำลังส่งผลกระทบที่สร้างความวิบัติหายนะให้แก่สื่อทางด้านข่าวของออสเตรเลีย

ซิมส์ชี้ว่า ขณะที่จำนวนนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่ว่าจ้างโดยพวกหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียได้ลดลง 20% ในช่วงนับจากปี 2014 ถึงปี 2017 สืบเนื่องจากรายรับจากค่าโฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์ลดต่ำลงฮวบฮาบ ปรากฏว่า กูเกิล กับ เฟซบุ๊ก รวมกันแล้วเป็นผู้ที่คว้าเอาเงินค่าใช้จ่ายการโฆษณาทางออนไลน์ไปเกือบๆ 70% ของทั้งหมด

“การปรับเปลี่ยนเช่นนี้ในเรื่องรายรับทางการโฆษณาออนไลน์ และในเรื่องการไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ได้ลดทอนความสามารถของบรรดาธุรกิจสื่อในการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ข่าวและแก่วารสารศาสตร์” ซิมส์ระบุเช่นนี้ในสุนทรพจน์ซึ่งเตรียมไว้สำหรับกล่าวต่อสถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยการสื่อสาร (International Institute of Communications) ในนครซิดนีย์

“เราไม่สามารถที่จะยอมปล่อยทิ้งให้การผลิตข่าวและวารสารศาสตร์ตกอยู่ในอำนาจของตลาดเท่านั้น” นี่เป็นความเห็นของซิมส์ ซึ่งหน่วยงานของเขากำลังดำเนินการตรวจสอบอย่างยาวนานในเรื่องผลกระทบของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีต่ออุตสาหกรรมด้านข่าวในออสเตรเลีย

ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้สามารถดึงดูดเอารายรับค่าโฆษณาส่วนใหญ่ไปได้อย่างมากมาย แต่พวกเขากลับไม่ได้สร้างสรรค์ผลิตข่าวจริงๆ แท้ๆ ขึ้นมาแต่อย่างใด ซิมส์ชี้ “พวกเขาเพียงแต่คัดสรร, รักษาดูแล, ประเมินค่า, จัดอันดับ, และเรียงลำดับชิ้นข่าวต่างๆ ซึ่งผู้ที่ผลิตออกมาคือฝ่ายที่สาม” เขาระบุพร้อมกับบอกว่า อำนาจตลาดในลักษณะเช่นนี้เพิ่ม “ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเครื่องกรองข่าวล้นเกิน และข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือขึ้นบนแพลตฟอร์มดิจิทัล”

“การมีฐานะอันสำคัญยิ่งยวดเช่นนั้นทั้งในสื่อและในตลาดการโฆษณา ส่งผลให้ต้องมีความรับผิดชอบอย่างเป็นพิเศษ” เขาบอก

สถาบัน ACCC ของซิมส์ ได้เริ่มการศึกษาสืบสวนอำนาจของแพลตฟอร์มดิจิทัลตั้งแต่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นขั้นสุดท้ายจากพวกผู้เล่นในอุตสาหกรรมไปจนถึงสิ้นสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะนำรายงานสุดท้ายของสถาบันออกมาเผยแพร่ในเดือนมิถุนายน

แต่ซิมส์ส่งสัญญาณอยู่ในสุนทรพจน์คราวนี้ของเขาว่า ข้อเสนอแนะสุดท้ายของรายงานฉบับนี้ จะมีทั้งข้อเรียกร้องให้ออกกฎระเบียบที่มีเนื้อหากว้างขวางฉบับใหม่ๆ เพื่อกำกับดูแลยักษ์ใหญ่ดิจิทัลเหล่านี้ รวมทั้งขั้นตอนวิธี (algorithms) อันคลุมเครือไม่เป็นที่กระจ่างชัด ซึ่งพวกเขาใช้ในการแพร่กระจายข่าวและในการแพร่กระจายโฆษณา

“ในทางเป็นจริงแล้ว ไม่มีกฎระเบียบด้านสื่อใดๆ เลยที่นำมาประยุกต์ใช้กับพวกแพลตฟอร์มดิจิทัล และสภาพเช่นนี้มีส่วนทำให้เกิดความไม่เสมอภาคทางด้านกฎระเบียบระหว่างสื่อภาคส่วนต่างๆ โดยที่ดูจะเป็นการทำให้พวกแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม” เขากล่าว

ซิมส์เสนอว่า หน่วยงานกำกับตรวจสอบสื่อควรที่จะมีอำนาจบังคับให้แพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหลายต้องเปิดเผยวิธีการในการจัดลำดับข่าวที่ปรากฏเป็นผลลัพธ์ออกมาจากการสืบค้น (เสิร์ช) รวมทั้งในเรื่องที่ว่าเนื้อหาซึ่งได้เงินทุนสนับสนุนจากพวกลงโฆษณานั้นได้รับการจัดลำดับให้อยู่สูงกว่าเนื้อหาที่จ่ายเงินซื้อโดยทั่วไปหรือไม่ ตลอดจนเนื้อหาข่าวที่เป็นข่าวจริงๆ แท้ๆ มีอันดับต่ำกว่าพวกข่าวที่เป็นการก๊อบปี้ลอกเลียน ตลอดจนข่าวประเภทมุ่งหลอกล่อให้คนคลิกเข้าไปอ่านเพื่อเรียกยอดทราฟฟิก หรือที่เรียกกันว่า “คลิกเบต” (clickbait) หรือเปล่า

รายงานของ ACCC ยังอาจจะเสนอแนะให้พวกแพลตฟอร์มดิจิทัลจัดทำป้าย “คุณภาพ” เอาไว้ติดข้างๆ เนื้อหาซึ่งผลิตโดยสื่อด้านข่าวที่ได้รับการยอมรับ โดยถือเป็นมาตรการในการตอบโต้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผิดๆ

ในตอนท้าย ซิมส์ยังระบุข้อเสนอแนะชุดหนึ่งซึ่งมุ่งสนับสนุนวารสารศาสตร์ที่เป็นอิสระและเป็นของท้องถิ่น เป็นต้นว่า การลดหย่อนภาษีให้คนที่บอกรับเป็นสมาชิกสื่อด้านข่าวซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานคุณภาพที่กำหนดกันขึ้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น