เอเอฟพี - อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ เอ่ยเตือนวานนี้ (6 ก.พ.) ว่าความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับประชาคมข่าวกรองอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงในยามที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญวิกฤตการณ์
สัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ ออกมาตำหนิพวกผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองว่า “ไร้เดียงสา” และไล่ให้ “กลับไปเรียนมาใหม่” หลังถูกโต้แย้งมุมมองเรื่องภัยคุกคามจากอิหร่านและเกาหลีเหนือ
เจ้าหน้าที่สำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) หลายคนยอมรับว่า ความไม่ลงรอยระหว่างฝ่ายบริหารกับหน่วยข่าวกรองถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก
“การเปิดศึกเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในเรื่องข่าวกรองและนโยบายต่างๆ” จอร์จ บีบ (George Beebe) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์รัสเซียของซีไอเอ ระบุ
บีบ อธิบายว่า ในขณะที่หน่วยข่าวกรองจำเป็นต้องเตือนประธานาธิบดีให้ทราบถึงวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้น “แต่ความคิดแรกที่ผุดขึ้นในหัวของประธานาธิบดีคือ ‘คนพวกนี้กำลังเล่นเกมเพื่อสร้างปัญหาให้กับเรา’ ”
“ถ้าประชาคมข่าวกรองเตือนแล้ว แต่ผู้ฟังกลับไม่มีใจที่จะรับฟัง หรือทำหูทวนลมเสีย ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เหมือนไม่ได้เตือน” เขากล่าว
บีบ และอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเออีกหลายคนได้เข้าร่วมวงเสวนาที่ศูนย์เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ (Center for the National Interest) ซึ่งเป็นสถาบันคลังความคิดในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
เหล่าผู้บัญชาการข่าวกรองได้ส่งรายงานการประเมินภัยคุกคามทั่วโลก (Worldwide Threat Assessment) ต่อสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาโต้แย้งคำกล่าวอ้างของ ทรัมป์ ทั้งในเรื่องกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) เกาหลีเหนือ และอิหร่าน
รายงานฉบับนี้ระบุว่า ภัยคุกคามนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือยังคงมีอยู่ แต่ไม่พบหลักฐานว่าอิหร่านได้ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การสร้างระเบิดนิวเคลียร์ซึ่งจะเป็นการละเมิดข้อตกลงปี 2015
ทรัมป์ ออกมาตอกหน้าประชาคมข่าวกรองว่า “คิดผิด” ก่อนจะเรียก แดน โคตส์ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ และ จีนา แฮสเพล ผู้อำนวยการซีไอเอ เข้าพบเพื่อพูดคุยเรื่องนี้
“พวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองดูเฉื่อยชาและไร้เดียงสาเสียเหลือเกินเมื่อพูดถึงภัยคุกคามจากอิหร่าน พวกเขาคิดผิด!” ทรัมป์ โวยวายผ่านทวิตเตอร์
“บางทีพวกเขาน่าจะกลับไปเรียนมาใหม่!”
ทรัมป์ เคยโต้เถียงกับเหล่าผู้บัญชาการข่าวกรองของสหรัฐฯ มาแล้วหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นวิวาทะเกี่ยวกับผลสืบสวนของหน่วยข่าวกรองที่พบว่ารัสเซียแทรกแซงศึกเลือกตั้งปี 2016 ซึ่งช่วยให้ ทรัมป์ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
ทรัมป์ วิจารณ์ข้อสรุปของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ ว่า “มีจุดประสงค์ทางการเมือง” และเป็นแค่ “ข่าวลวง” (fake news) แต่กลับเอออวยคำพูดของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียที่ยืนกระต่ายขาเดียวว่ามอสโกไม่เคยแทรกแซงศึกเลือกตั้งในอเมริกา
มาร์ค โลเวนธัล อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ของซีไอเอ ระบุว่า แม้อดีตผู้นำสหรัฐฯ บางคนจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับซีไอเอ “แต่กับ ทรัมป์ นั้นไม่เหมือนกัน เราไม่เคยเห็นประธานาธิบดีคนไหนยืนกระทบไหล่ผู้นำต่างชาติ โดยเฉพาะผู้นำรัสเซีย และพูดว่าผมเชื่อเขา ผมไม่เชื่อหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ”
พอล พิลลาร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ซึ่งเคยทำงานกับซีไอเอมานานถึง 28 ปี ย้ำว่า การกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ คืออำนาจพิเศษที่ประธานาธิบดีได้รับ แต่ ทรัมป์ ก็ยังจำเป็นต้องรับฟังความเห็นของหน่วยข่าวกรองด้วย
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ ทรัมป์ ไม่พยายามรับข้อมูลใหม่ๆ ที่ถูกนำเสนอต่อเขา ทั้งในรูปข้อเขียนและการบรรยายสรุป นั่นทำให้เขาขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นไปของโลกในหลายๆ ด้าน” พิลลาร์ ระบุ
“ทรัมป์ ยังไม่เคยเผชิญวิกฤตการณ์ระดับนานาชาติอย่างแท้จริงมาก่อน และอีกอย่างที่เรากังวลก็คือ ข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองมักถูกดิสเครดิต หรือถูกมองด้วยความกังขา ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อแผนรับมือวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้น”