xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” ลั่นทุ่มงบเกทับรัสเซียพัฒนานุก ขณะมอสโกเปิดแผนสร้างขีปนาวุธใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 ขีปนาวุธแพทริออตของสหรัฐฯ
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - “ทรัมป์” โว อเมริกาจะทุ่มงบพัฒนาขีปนาวุธเกทับรัสเซีย หากปราศจากข้อตกลงควบคุมอาวุธระหว่างประเทศฉบับใหม่ ขึ้นมาใช้แทนที่สนาธิสัญญายุคสงครามเย็นซึ่งวอชิงตันประกาศถอนตัวออกไป เขาพูดเรื่องนี้ระหว่างการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาเมื่อคืนวันอังคาร (6 ก.พ.) ภายหลังรัฐมนตรีกลาโหมแดนหมีขาวอวดแผนการออกแบบจัดสร้างขีปนาวุธภาคพื้นดินใหม่ 2 ระบบภายใน 2 ปีนี้ จนตอกย้ำสร้างความกังวลว่า ชาติมหาอำนาจของโลกกำลังหวนคืนเข้าสู่การแข่งขันสะสมอาวุธ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศอย่างเป็นทางการว่า สหรัฐฯกำลังเริ่มกระบวนการถอนตัวจากสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (ไอเอ็นเอฟ) ที่จะใช้เวลาทั้งสิ้น 6 เดือน โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อตอบโต้ที่รัสเซียยังคงพัฒนาระบบขีปนาวุธใหม่ซึ่งถือว่าละเมิดสนธิสัญญานี้ ถึงแม้สหรัฐฯร้องเรียนมาหลายครั้งแล้ว

ต่อมาระหว่างการแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ทรัมป์กล่าวสำทับว่า คณะบริหารของเขาจะไม่รู้สึกเสียใจไม่มีกล่าวขอโทษใดๆ ในการเดินหน้าเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของอเมริกา

“บางทีเราอาจสามารถเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงที่แตกต่างออกไป ซึ่งครอบคลุมจีนและประเทศอื่นๆ หรือบางทีเราอาจไม่สามารถ (ทำข้อตกลงเช่นนั้นในสำเร็จ) - ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลัง เราก็จะจัดสรรงบประมาณใช้จ่ายให้มากกว่าและสร้างนวัตกรรมให้ยิ่งกว่าชาติอื่นๆ ทั้งหมดอย่างชนิดไกลสุดกู่” ทรัมป์กล่าว

ถึงแม้วอชิงตันกำลังชี้นิ้วไปที่รัสเซีย แต่พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯแสดงความกังวลว่า สนธิสัญญาไอเอ็นเอฟนั้นไม่ได้ครอบคลุมถึงจีน ที่กำลังแผ่แสนยานุภาพทางทหารอย่างรวดเร็วโดยพึ่งพิงขีปนาวุธพิสัยกลางเป็นส่วนแกนกลางส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์กลาโหมของตน

สนธิสัญญาปี 1987 ฉบับนี้ ซึ่งสาระสำคัญคือห้ามสหรัฐฯกับรัสเซียติดตั้งประจำการขีปนาวุธที่ยิงจากภาคพื้นดินอันมีพิสัยทำการ 500-5,500 กิโลเมตร ถือเป็นมรดกตกทอดมาจากช่วงระยะเวลาซึ่งสงครามเย็นกำลังสิ้นสุดลง โดยที่มิคาอิล กอร์บาชอฟ และโรนัลด์ เรแกน ผู้นำรัสเซียและอเมริกาขณะนั้น ต้องการให้ยุโรปคลายความกังวลว่า การแข่งขันสะสมอาวุธอาจสร้างความเสียหายให้เมืองต่างๆ ในภูมิภาคดังกล่าว

ทางฝ่ายรัสเซียนั้น เมื่อวันเสาร์ (2) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ตอบโต้ทรัมป์ด้วยการประกาศว่า มอสโกจะถอนตัวจากไอเอ็นเอฟเช่นเดียวกัน
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะทุ่มงบพัฒนาขีปนาวุธเกทับรัสเซีย หากปราศจากข้อตกลงควบคุมอาวุธระหว่างประเทศฉบับใหม่  ขึ้นมาใช้แทนที่สนาธิสัญญายุคสงครามเย็นซึ่งวอชิงตันประกาศถอนตัวออกไป  เขาพูดเรื่องนี้ระหว่างการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาเมื่อคืนวันอังคาร (6 ก.พ.)
ต่อมาในวันอังคาร (5) เซียร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมแดนหมีขาว บอกกับพวกเจ้าหน้าที่กลาโหมของรัสเซียว่า ปูตินได้อนุมัติแผนการพัฒนาขีปนาวุธใหม่ๆ พร้อมแจกแจงว่า ระหว่างปี 2019-2020 รัสเซียจะพัฒนาระบบคาลิบร์ซึ่งเป็นขีปนาวุธพิสัยกลางชนิดติดตั้งบนเรือรบ ให้เป็นเวอร์ชั่นยิงจากภาคพื้นดิน และประกอบเข้ากับขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลซึ่งได้เคยแสดงให้เห็นผลงานอย่างยอดเยี่ยมมาแล้วในซีเรีย

ชอยกูกล่าวอีกว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น รัสเซียจะยังสร้างระบบขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นดิน ซึ่งติดตั้งขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก พิสัยไกล ทั้งนี้ไฮเปอร์โซนิกหมายถึงความเร็วเหนือเสียงตั้งแต่ 5 เท่าขึ้นไป

“การใช้ขีปนาวุธแบบยิงจากเรือในทะเล และแบบยิงจากอากาศ (มาพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นยิงจากภาคพื้นดิน) จะทำให้เราลดระยะเวลาอันจำเป็นสำหรับการผลิตขีปนาวุธแบบใหม่ๆ นี้ ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายสำหรับเรื่องนี้ลงไปได้อย่างสำคัญ” เขากล่าว

ชอยกูสำทับด้วยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กลาโหมเพิ่มพิสัยทำการของขีปนาวุธติดตั้งภาคพื้นดินที่กำลังพัฒนาอยู่ ขึ้นไปสู่ระดับสูงสุด

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมหลายคนแสดงความเห็นพ้องว่า วิธีการพัฒนาระบบขีปนาวุธเช่นนี้ของรัสเซียจะทำให้แดนหมีขาวได้เปรียบอย่างมาก เนื่องจากจะผลิตขีปนาวุธดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำกว่า จึงสามารถติดตั้งขีปนาวุธที่มีพิสัยทำการและเล็งเป้าหมายครอบคลุมยุโรปได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากๆ

อย่างไรก็ดี ปูตินยืนยันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มอสโกจะไม่ติดตั้งขีปนาวุธในยุโรปหรือภูมิภาคอื่นๆ หากอเมริกาไม่เริ่มก่อน

ในอีกด้านหนึ่ง เอ็ดการ์ รินเควิกส์ รัฐมนตรีต่างประเทศลัตเวีย สาธารณรัฐติดทะเลบอลติกซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แต่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กล่าวแสดงความหวังว่า วอชิงตันและมอสโก รวมถึงมหาอำนาจอื่นๆ จะร่วมกันสร้างข้อตกลงควบคุมอาวุธฉบับใหม่

เช่นเดียวกับพันธมิตรนาโตชาติอื่นๆ ลัตเวียสนับสนุนอเมริกาที่กล่าวหารัสเซียละเมิดไอเอ็นเอฟด้วยการพัฒนาระบบขีปนาวุธรุ่นใหม่แบบ 9เอ็ม729 โดยข้อกล่าวหานี้มีมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา

กระนั้น รินเควิกส์ไม่คิดว่า การล้มเลิกไอเอ็นเอฟจะส่งผลกระทบในทันที โดยที่รัสเซียมีเคลื่อนไหวทางทหารชัดเจนขึ้นอยู่แล้วนับจากเข้าผนวกไครเมียเมื่อปี 2014 นอกจากนั้นเขายอมรับว่า ข้อตกลงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอาจไม่มีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวางเหมือนไอเอ็นเอฟ


กำลังโหลดความคิดเห็น