xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารกลางประเทศต่างๆ กว้านซื้อทองคำ 651.5 ตันเมื่อปีที่แล้ว สูงสุดในรอบ 50 ปี ผวาสงครามการค้า-เบร็กซิตที่ยังวุ่นวาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี/MGR ออนไลน์ - ธนาคารกลางต่างๆ เมื่อปีที่แล้วพากันกว้านซื้อทองคำกันเป็นปริมาณมากที่สุดในรอบระยะเวลาเกือบ 50 ปี สืบเนื่องจากคุณค่าในฐานะเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยของโลหะชนิดนี้ สภาทองคำโลก (World Gold Council หรือ WGC) ระบุในรายงานซึ่งนำออกเผยแพร่วันนี้ (31 ม.ค.) ท่ามกลางความตึงเครียดทางด้านการค้า และความไม่แน่นอนในเรื่องสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต)

ในรายงาน “แนวโน้มอุปสงค์ทองคำ” (Gold Demand Trends) ทางสภาทองคำโลกระบุว่า ปี 2018 ทองคำสำรองอย่างเป็นทางการของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ได้เพิ่มปริมาณขึ้น 651.5 ตัน สูงขึ้นกว่าเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้นถึง 74% อีกทั้งถือเป็นปีที่พวกธนาคารกลางกว้านซื้อทองคำสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 เท่าที่มีบันทึกกันมา ทั้งนี้ ปีที่สูงสุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นปี 1967 เมื่อทองคำสำรองของพวกธนาคารกลางต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น 1,404 ตัน

รายงานของ WGC ระบุด้วยว่า เวลานี้พวกธนาคารกลางเหล่านี้ถือครองทองคำเอาไว้รวมกันเป็นปริมาณเกือบๆ 34,000 ตัน

สำหรับอุปสงค์ทองคำโดยรวมทั้งหมดในปี 2018 นั้น รายงานฉบับนี้บอกว่าขึ้นไปอยู่ที่ 4,345.1 ตัน เพิ่มขึ้น 4.0%

“การ (ที่อุปสงค์ทองคำ) เพิ่มขึ้นในรอบปี (2018) เช่นนี้ มีแรงขับดันมาจากการเข้าซื้อของพวกธนาคารกลางที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบระยะเวลาหลายสิบปี ตลอดจนการเร่งตัวของการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำระหว่างช่วงครึ่งหลังของปี (2018)” รายงานของ WGC ระบุ โดยที่ครึ่งหลังของปีที่แล้วเป็นระยะเวลาที่เกิดความตึงเครียดในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมทั้งความไม่แน่นอนในเรื่องเบร็กซิต ได้กลายเป็นสาเหตุสร้างความปั่นป่วนผันผวนไปทั่วตลาดการเงิน นอกจากนั้นยังมีความวิตกเกี่ยวกับการที่อัตราเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกทำท่าชะลอตัวลงอีกด้วย

รายงานฉบับล่าสุดของ WGC นี้บอกว่า ในปี 2018 อุปสงค์ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4.0% หรือคิดเป็นปริมาณ 1,090 ตัน

สำหรับในสหราชอาณาจักร การลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำในรอบปีที่แล้ว พุ่งขึ้น 12% มาอยู่ที่ 11.6 ตัน “ขณะที่พวกนักลงทุนมองล่วงหน้าไปยังวันที่ 29 มีนาคม 2019 อันเป็นวันที่สหราชอาณาจักรมีกำหนดจะถอนตัวอกจากอียู ด้วยความรู้สึกอกสั่นหวั่นไหว” รายงานกล่าว

ในยุโรปโดยรวมนั้น อุปสงค์ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำได้ลดลงมา 11% ในปี 2018

อลิสแตร์ เฮวิตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรองตลาด ของ WGC กล่าวว่า “ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวในอัตราการเติบโตของทั่วโลก, ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มทวีขึ้น และความปั่นป่วนผันผวนของตลาดการเงิน ทำให้อุปสงค์ของพวกธนาคารกลางพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ... ปี 1971” ทั้งนี้ ปี 1971 คือปีซึ่งสหรัฐฯ ยุติการปฏิบัติตามข้อตกลงเบรตตันวูดส์ ที่ให้นำเงินดอลลาร์มาแลกคืนเป็นทองคำได้

รัสเซียคือแชมป์กว้านซื้อทองคำ

รายงานฉบับล่าสุดของ WGC แจกแจงว่า การซื้อทองคำของพวกธนาคารกลางต่างๆ ในปี 2018 มีแบบแผนทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ นั่นคือการกว้านซื้อส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการของธนาคารกลางของชาติต่างๆ ไม่กี่แห่ง โดยเฉพาะรัสเซีย, ตุรกี และคาซัคสถาน

“รัสเซียซึ่งกำลังอยู่ใน ‘กระบวนการลดการใช้เงินดอลลาร์’ มาเป็นทุนสำรองของตน ได้ซื้อ (ทองคำ) เป็นจำนวน 274.3 ตันในปี 2018 โดยใช้เงินเกือบทั้งหมดที่ได้มาจากการขายพอร์ตพันธบัตรคลังสหรัฐฯของตน” รายงานนี้ระบุ พร้อมกับชี้ว่า ปริมาณที่ซื้อในปีที่แล้วถือเป็นระดับการซื้อสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และก็เป็นปีที่ 4 ต่อเนื่องกันแล้วซึ่งรัสเซียซื้อมากกว่าปีละ 200 ตัน จากการที่ทุนสำรองทองคำของรัสเซียเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันมา 13 ปีแล้ว ทำให้ ณ สิ้นปี 2018 มีปริมาณยอดรวมทั้งสิ้น 2,113 ตัน สูงขึ้น 1,726.2 ตันในช่วง 13 ปีดังกล่าว

ขณะที่ธนาคารกลางของตุรกีมีทองคำสำรองเพิ่มขึ้น 51.5 ตันในปี 2018 ถือเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องกันที่มีการซื้อสุทธิ ถึงแม้ปริมาณที่กว้านซื้อจะต่ำลงกว่าระดับ 85.9 ตันซึ่งซื้อในปี 2017 อันเป็นปีที่แบงก์ชาติตุรกีเข้าสู่ตลาดอีกครั้งภายหลังหายหน้าไปเกือบ 25 ปี

สำหรับทองคำสำรองของธนาคารกลางคาซัคสถาน รายงานนี้ระบุว่าเพิ่มขึ้น 50.6 ตันในปีที่แล้ว เป็น 350.4 ตัน โดยที่ปี 2018 ถือเป็นปีที่ 8 ต่อเนื่องกันซึ่งคาซัคสถานมีทองคำสำรองเพิ่มขึ้น

ในส่วนของจีน รายงานนี้กล่าวว่าหลังจากหยุดไปนับแต่เดือนตุลาคม 2016 จีนประกาศว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2018 ว่า ทุนสำรองทองคำของตนได้เพิ่มขึ้นเกือบๆ 10 ตัน ทำให้ยอดรวมอยู่ที่ 1,852.2 ตัน โดยที่ทองคำคิดเป็น 2.4% ของทุนสำรองทั้งหมดของแดนมังกรในตอนสิ้นปี สูงขึ้นจากระดับ 2.3% เมื่อสิ้นปี 2017 ขณะที่ทุนสำรองในรูปเงินตราต่างประเทศในปี 2018 ได้ลดลง 67,000 ล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์

รายงานของ WGC บอกว่า ถึงแม้ในปี 2018 รัสเซีย, คาซัคสถาน และตุรกี ยังคงคิดเป็นสัดส่วนที่สูงมากในอุปสงค์ความต้องการทองคำของพวกธนาคารกลาง แต่ปรากฏว่าส่วนแบ่งของพวกเขาได้ลดลงเหลือ 58% จากที่เคยเป็น 94% ของยอดรวมการซื้อทองคำของพวกธนาคารกลางเมื่อปี 2017 ทั้งนี้เนื่องจากธนาคารกลางแห่งอื่นๆ พากันเพิ่มทองคำสำรองของพวกเขาขึ้นมาอย่างสำคัญ ซึ่งเสริมส่งความสำคัญของทองคำในฐานะสินทรัพย์เพื่อการเป็นทุนสำรอง


กำลังโหลดความคิดเห็น