เอเจนซีส์ – ชาวเวเนซุเอลานับหมื่นชุมนุมในหลายเมืองทั่วประเทศเรียกร้องให้กองทัพทิ้งประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร และอ้าแขนรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะที่ ฮวน กวยโด ผู้นำฝ่ายค้านที่ประกาศตนเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาล อ้างว่าได้หารือลับและมีทหารบางส่วนยอมรับว่า ไม่อาจปล่อยให้บ้านเมืองเผชิญวิกฤตการณ์ต่อไป ด้านมาดูโรเผยพร้อมพบกับกวยโด หรือแม้แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สั่งการให้รัฐบาลโคลอมเบียตลอดจนมาเฟียของประเทศนั้นลอบสังหารตน
ประชาชนหลายหมื่นคนชุมนุมบนท้องถนนในกรุงการากัสและอีกหลายเมืองทั่วเวเนซุเอลานาน 2 ชั่วโมงเมื่อวันพุธ (30 ม.ค.) ตามคำชักชวนของฝ่ายค้าน เพื่อเรียกร้องให้กองทัพทิ้งมาดูโรซึ่งเป็นเผด็จการแย่งชิงอำนาจ และหันมาสนับสนุน กวยโด ประธานสมัชชาแห่งชาติที่ประกาศตนเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว
กวยโดส่งข้อความถึงกองทัพไม่ให้ทำร้ายประชาชน รวมทั้งยังเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ว่า การสนับสนุนจากกองทัพเป็นกุญแจสำคัญสำหรับความพยายามในการขับไล่มาดูโร พร้อมอ้างว่าได้หารือลับหลายครั้งกับพวกสมาชิกฝ่ายความมั่นคง โดยที่สมาชิกกองกำลังความมั่นคงส่วนใหญ่ที่ร่วมประชุมลับเห็นด้วยว่า ไม่อาจปล่อยให้ประเทศเผชิญวิกฤตการณ์ต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้ทหารกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านมาดูโรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และทูตทหารเวเนซุเอลาประจำวอชิงตันประกาศให้การสนับสนุนกวยโด แต่ขณะนี้บรรดานายทหารระดับผู้บัญชาการยังคงภักดีกับมาดูโร
กวยโด วัย 35 ปี พยายามกดดันให้มาดูโร วัย 56 ปี ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวและจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ เขาได้รับการสนับสนุนอย่างรวดเร็วจากอเมริกาและหลายประเทศในละตินอเมริกา พร้อมกันนี้ 6 ประเทศสำคัญของยุโรปยังขีดเส้นตายให้มาดูโรจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในสุดสัปดาห์นี้ ไม่เช่นนั้นจะให้การยอมรับกวยโดในตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาล
ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ทวิตหลังหารือทางโทรศัพท์กับกวยโดเมื่อวันพุธว่า การประท้วงขนาดใหญ่ทั่วเวเนซุเอลาเพื่อต่อต้านมาดูโรบ่งชี้ว่า การต่อสู้เพื่อเสรีภาพเริ่มต้นขึ้นแล้ว
ซาราห์ แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาวแถลงในเวลาต่อมาว่า ทรัมป์และกวยโดตกลงคงการติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ หลังจากทางการเวเนซุเอลาเปิดการสอบสวนที่อาจนำไปสู่การจับกุมกวยโด
ความวุ่นวายทางการเมืองทำให้สถานการณ์โดยทั่วไปในเวเนซุเอลาปั่นป่วนยิ่งขึ้น ทั้งที่ประเทศนี้มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกแต่เศรษฐกิจกลับล่มสลาย เงินเฟ้อรุนแรง และขาดแคลนสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ประชาชน 2.3 ล้านคนหนีออกนอกประเทศ กลายเป็นวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่ในอเมริกาใต้
การประท้วงเมื่อวันพุธเกิดขึ้นหลังจากมีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน และถูกควบคุมตัว 850 คนจากการปะทะกับกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ต้นสัปดาห์นี้ วอชิงตันออกมาตรการแซงก์ชันน้ำมันเพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงรัฐบาลมาดูโร
จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เตือนเมื่อวันพุธไม่ให้ธุรกิจอเมริกาซื้อขายน้ำมัน ทองคำ หรือสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ “มาเฟียมาดูโร” ปล้นมาจากชาวเวเนซุเอลา ภายหลังฝ่ายค้านเวเนซุเอลากังวลว่า เครื่องบินของสายการบินรัสเซียที่ไปถึงการากัสเมื่อต้นสัปดาห์อาจบ่งชี้ว่า รัฐบาลมาดูโรกำลังเตรียมขนย้ายทองคำสำรองออกนอกประเทศ หลังจากเมื่อปีที่แล้วส่งทองคำมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์ไปยังตุรกีเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคารกลาง
วอชิงตันยังเรียกร้องให้กองทัพเวเนซุเอลายอมรับการถ่ายโอนอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างสันติ และไม่ยืนยันว่า จะไม่ใช้ทางเลือกในการแทรกแซงทางทหาร
ระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บิลด์ของเยอรมนี กวยโดเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป เพิ่มมาตรการแซงก์ชันรัฐบาลมาดูโร และเผยว่า รัฐบาลเฉพาะกาลกำลังดำเนินการเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยเร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน เม็กซิโกและอุรุกวัยประกาศว่า จะร่วมกันจัดประชุมนานาชาติในหมู่ประเทศที่เป็นกลางเพื่อหารือวิกฤตเวเนซุเอลาที่กรุงมอนเตวิเดโอ ของอุรุกวัยในวันพฤหัสฯ หน้า (7) ตามที่อันโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ริเริ่มการเจรจา
ทางด้านมาดูโรให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอาร์ไอเอของรัสเซียที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันพุธว่า กองทัพยังคงภักดีต่อตน เช่นเดียวกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาสำทับว่า ทรัมป์สั่งให้รัฐบาลและมาเฟียโคลอมเบียลอบสังหารตน อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า ตนเองได้รับการอารักขาอย่างดี แต่ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวที่ว่า รัสเซียส่งบริษัททหารรับจ้างไปคุ้มกัน
มาดูโรยังบอกว่า พร้อมพบกับผู้นำสหรัฐฯ ไม่ว่าที่ไหน แต่คิดว่า คงเป็นไปได้ยากเนื่องจากบรรดาที่ปรึกษาทรัมป์พยายามขัดขวาง เขายังยินดีเจรจากับฝ่ายค้านเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และว่า เท่าที่รู้ยังไม่มีการดำเนินการเพื่อสอบสวนและจับกุมกวยโดแต่อย่างใด
กระนั้น มาดูโรปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ โดยยืนยันว่า การเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วบริสุทธิ์ยุติธรรม แม้ถูกกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่า มีการโกงซ้ำยังห้ามไม่ให้ผู้นำฝ่ายค้านหลายคนลงแข่งขันก็ตาม