นิวยอร์กไทม์ส/MGROnline - ทีมตบแต่งอาคารพบภาพวาดสีน้ำมันอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี ถูกซ่อนอยู่ในผนังอาคารที่กำลังถูกปรับปรุงเป็นร้านของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังใจกลางเมืองหลวงฝรั่งเศส
อเล็กซ์ โบเลน ผู้บริหารห้องเสื้อชั้นระดับตำนาน ออสการ์ เดอ ลา เรนตา (Oscar de la Renta) มีแผนที่จะเปิดตัวร้านใหม่ในกรุงปารีสราวๆ สัปดาห์นี้ ทว่าเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาเขาได้รับโทรศัพท์จาก นาตาลี ไรอัน สถาปนิกผู้ดูแลการตกแต่งร้าน --- “เราเจออะไรบางอย่าง” เธอว่าอย่างนั้น
คำพูดคลุมเครือทำให้ โบเลน ถึงกับใจแป้ว คราวก่อนที่เขาได้รับโทรศัพท์ลักษณะนี้ แผนรื้อผนังของร้านสาขาหนึ่งก็ต้องหยุดชะงักเพราะมีความเสี่ยงที่อาคารทั้งหลังจะถล่มลงมา
เขาถามว่าเธอเจออะไร และได้รับคำตอบเพียงสั้นๆ ว่า “คุณต้องมาดูเอง”
โบเลน ตัดสินใจบินจากนิวยอร์กมาปารีส และเมื่อขึ้นไปยังชั้น 2 ของอาคาร พวกคนงานที่กำลังเคลียร์เศษขยะก็ชี้ไปที่ด้านในสุดของห้อง ภาพที่ปรากฏแก่สายตาทำให้ซีอีโอผู้นี้ถึงกับอุทานด้วยความพิศวง “ไม่จริง เป็นไปไม่ได้”
สิ่งที่ซ่อนอยู่หลังกำแพงที่ถูกรื้อคือภาพเขียนสีน้ำมันของชายซึ่งแต่งกายคล้ายขุนนางชั้นมาร์ควิส (marquis) ในศตวรรษที่ 17 กำลังขี่ม้าตรงเข้าไปยังนครเยรูซาเลมพร้อมกับขบวนผู้ติดตาม
เบอนัวต์ ฌ็องซง ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูงานศิลปะจากองค์กร Nouvelle Tendance ระบุว่า “มันเป็นผลงานที่หาได้ยากยิ่ง และมีความพิเศษในหลายๆด้าน”
งานตกแต่งอาคารทั่วไปมักประสบปัญหาล่าช้าและใช้งบประมาณเกินกว่าที่ตั้งไว้ แต่ก็ไม่บ่อยนักที่ความล่าช้าจะเกิดขึ้นจากผลงานศิลปะลึกลับอายุกว่า 300 ปีที่ถูกซ่อนเอาไว้หลังกำแพง ราวกับเป็นปริศนาจากนวนิยายสืบสวนของ แดน บราวน์
โบเลน มองหาทำเลสำหรับเปิดร้านเสื้อในกรุงปารีสมานานพอสมควร ก่อนหน้านี้บริษัทของเขาเคยมีร้านเล็กๆ อยู่ที่นี่เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 ตอนที่ ออสการ์ เดอ ลา เรนตา ดีไซเนอร์ชาวโดมินิกันผู้ก่อตั้งแบรนด์ ยังทำงานออกแบบเสื้อผ้าให้กับห้องเสื้อบัลแมง (Balmain) แต่หลังจากที่เขาลาออกในปี 2002 ร้านก็ถูกปิดตัวไป
เขาได้รับคำแนะนำเมื่อปี 2017 ให้มาเซ้งร้านเก่าของ รีด คราคอฟฟ์ บนถนนมารีญอง (Rue de Marignan) ซึ่งเป็นถนนสายเล็กๆ ใกล้กับแยก อเวนิว มงแตญ (Avenue Montaigne) และมีภัตตาคารหรู L’Avenueตั้งอยู่ตรงหัวถนนพอดี
โบเลน ตั้งใจจะทำบันไดขนาดใหญ่เชื่อม 2 ชั้นเข้าด้วยกัน โดยพื้นที่ชั้นล่างและบางส่วนของชั้น 2 จะตบแต่งเป็นร้านเสื้อผ้า ส่วนห้องด้านในสุดของชั้น 2 จะใช้เป็นโชว์รูมหรือห้องจัดกิจกรรม โดยเหลือพื้นที่สำหรับทำออฟฟิศและพื้นที่เก็บของนิดหน่อย
หลังจากงานรื้อถอนเริ่มขึ้นไม่นานนัก คนงานที่รื้อเพดานห้องในสุดชั้น 2 ก็พบว่าข้างในมีฝ้าเพดานที่ทำจากไม้สี่เหลี่ยม 29 แผ่นซุกซ่อนอยู่ ไม้แต่ละแผ่นถูกตบแต่งเป็นลวดลายสัญลักษณ์ต่างๆ และแผ่นตรงกลางเป็นรูปเพชร เพดานไม้นี้สร้างขึ้นเมื่อราวกลางศตวรรษที่ 19 และยังมีสภาพสมบูรณ์เนื่องจากถูกเพดานชั้นนอกปิดทับเอาไว้
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกเสียทีเดียวสำหรับอาคารเก่า สิ่งที่น่าพิศวงจริงๆ ปรากฏขึ้นหลังจากคนงานเริ่มรื้อแผ่นไม้ปาร์ติเกิลด้านข้าง และทำให้ผนังบางส่วนหลุดล่อนออกมา
ที่ด้านในกำแพงมีภาพเขียนสีน้ำมันขนาด 10 X 20 ฟุต กินพื้นที่จากผนังด้านหนึ่งไปจรดอีกด้านหนึ่ง
“โอพระเจ้า นี่มัน... ว้าว!” ไรอัน ซึ่งเคยเป็นสถาปนิกตบแต่งภายในให้กับดิออร์ (Dior) ก่อนจะมาเปิดบริษัทของตนเองโดยใช้ชื่อว่า Kirei Studio เมื่อปี 2010 กล่าว
“เวลาคุณเข้าไปต่อเติมปราสาทเก่าๆ ก็อาจพบอะไรทำนองนี้ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแค่เตาผิงที่ถูกซ่อน หรือถ้าในอิตาลีก็อาจเป็นพวกภาพเขียนสีบนปูนเปียก (Fresco)... แต่ในอพาร์ตเมนต์หรือร้านค้าเนี่ยนะ?”
เจียง คิม นักออกแบบจาก Oro Studio ซึ่งรับหน้าที่ตบแต่งภายใน ระบุว่า “พวกเราแทบสติแตก รู้สึกเหมือนค้นพบมัมมี่ยังไงยังงั้น ฉันรีบปิดมือถือเพื่อที่จะยืนดูมันชัดๆ ตั้งแต่ทำงานมายังไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน”
โบเลน สั่งให้ช่างหยุดการรื้อถอนทั้งหมดเพื่อตรวจสอบว่าภาพเขียนที่พบเป็นภาพอะไร และมาซ่อนอยู่ในตึกที่ควรจะเป็นแค่ร้านค้าธรรมดาๆ ได้อย่างไร เขายอมรับว่าภาพของขุนนางฝรั่งเศสบนหลังม้าและมัสยิดที่เป็นฉากหลังชวนให้นึกจินตนาการไปถึงนักรบครูเสดและอัศวินเทมพลาร์
เขาได้รับคำแนะนำจากญาติห่างๆ ซึ่งทำงานอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ให้ลองติดต่อนักประวัติศาสตร์ที่ชื่อ สเตฟาน ปินตา (Stephane Pinta) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาพวาดโบราณ
จากการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดทำให้ ปินตา ฟันธงว่าภาพนี้ถูกวาดขึ้นในปี ค.ศ. 1674 ด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ และศิลปินผู้สร้างผลงานก็คือ อาร์โนลด์ เดอ วูเอซ (Arnold de Vuez) จิตรกรที่เคยทำงานร่วมกับ ชาร์ลส เลอ บรุน (Charles Le Brun) ศิลปินหลวงในราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และมัณฑนากรผู้ออกแบบตกแต่งภายในพระราชแวร์ซายส์
ปินตา ยังสืบค้นต่อจนไปพบภาพซึ่งถูกตีพิมพ์เมื่อปี 1900 ในหนังสือของ อัลเบิร์ต แวนดัล เรื่อง “Odyssey of an Ambassador: The Travels of the Marquis de Nointel, 1670-1680” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของ ชาร์ลส มารี ฟรองซัวส์ เดอ โอลิเยร์ (Charles-Marie-François Olier) มาร์ควิสแห่งนวงเตลและดองเฌวิลลิเยร์ ซึ่งเป็นทูตที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักออตโตมัน ในหน้าที่ 129 ของหนังสือเล่มนี้มีภาพพิมพ์กราวัวร์ที่จำลองภาพเขียนรูปมาร์ควิสแห่งนวงเตลขณะเดินทางถึงนครเยรูซาเลม --- ซึ่งก็คือภาพวาดที่ถูกซ่อนอยู่ในผนังนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครตอบได้ว่าภาพนี้มาโผล่อยู่ในผนังตึกได้อย่างไร และเหตุใดจึงต้องซุกซ่อนขนาดนี้ แต่สิ่งที่ทุกคนรู้แน่ก็คือ การเคลื่อนย้ายภาพซึ่งติดแน่นอยู่กับผนังอาจจะก่อความเสียหายรุนแรงต่อผลงานศิลปะที่ประเมินค่ามิได้
เอลิซา ภรรยาของโบเลน เตือนสามีของเธอว่า “ถ้าคุณขืนดึงภาพนั้นลงมาละก็ คุณจะต้องซวยไปอีก 100 ปี” ซึ่งเขาคิดว่าเธอพูดถูก
โบเลน ได้ทำข้อตกลงกับเจ้าของตึกว่าจะบูรณะซ่อมแซมภาพวาดนี้ หากพวกเขาอนุญาตให้เก็บภาพเอาไว้ในร้านจนกว่าจะหมดสัญญาเช่า 10 ปี
การค้นพบภาพวาดในผนังทำให้ทีมงานต้องปรับแผนตกแต่งภายในเสียใหม่ โดยมีการประมูลซื้อเฟอร์นิเจอร์เก่าในยุคสมัยต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน
“เราไม่เอาเสื้อผ้ามาแขวนบังไว้ที่ด้านหน้าแน่ๆ” ไรอัน กล่าว
ทางร้านจะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย และนำกระจกนิรภัยสูงจากพื้นจรดเพดาน 10 แผ่นมาติดตั้งให้เสร็จก่อนถึงกำหนดเปิดร้านในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ