xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: นายกฯ อังกฤษรอดมติไม่ไว้วางใจ หลังสภาโหวตคว่ำ ‘ข้อตกลงเบร็กซิต’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งอังกฤษ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวหลังได้รับชัยชนะในศึกลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อค่ำวานนี้ (16 ม.ค.) ที่ด้านหน้าอาคารหมายเลข 10 ถนนดาวนิงสตรีท
นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งอังกฤษ รอดจากจากถูกลงมติไม่ไว้วางใจมาได้อย่างหวุดหวิดในคืนวันพุธ (16 ม.ค.) ทว่าผลจากการที่สภาผู้แทนราษฎรโหวตคว่ำข้อตกลงเบร็กซิตของเธอด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายก่อนหน้านั้นก็ทำให้อังกฤษตกอยู่ในสภาพเคว้งคว้างไร้ทิศทาง ก่อนจะต้องถอนตัวออกจากสภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค. นี้

สภาสามัญชน (House of Commons) ได้ลงมติ 325 ต่อ 306 เสียงมอบความ ‘ไว้วางใจ’ ให้รัฐบาลของ เมย์ บริหารประเทศต่อไป เรียกเสียงเฮดังสนั่นจากบรรดาส.ส.อนุรักษ์นิยม ขณะที่ เมย์ ให้สัญญาว่าจะเดินหน้าทำงานหนักเพื่อปฏิบัติตามคำสัญญาต่อผลประชามติเบร็กซิต พร้อมเชิญผู้นำพรรคต่างๆ เข้าพบเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน

ก่อนหน้านั้นเพียง 24 ชั่วโมง เมย์ กลายผู้นำที่ประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษยุคใหม่ หลังจากที่สภาสามัญชนลงมติ 432 ต่อ 202 เสียงไม่รับข้อตกลงเบร็กซิตที่เธอทำไว้กับบรัสเซลส์เมื่อปลายปีที่แล้ว

สื่อชั้นนำของอังกฤษอย่างหนังสือพิมพ์เดอะซันรายงานว่า เมย์ นั้นถูก “บดขยี้” (crushed) จนยับเยิน ส่วนเดลิเมล์ระบุว่าอำนาจของนายกฯ หญิงเวลานี้ “แขวนอยู่บนเส้นด้าย” ด้านนักวิเคราะห์ของเดอะไทม์สถึงกับให้ฉายาใหม่แก่เธอว่า “นายกรัฐมนตรีซอมบี้”

เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานฝ่ายค้าน ร้องขอให้มีการโหวตญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมย์ หลังข้อตกลงเบร็กซิตถูกคว่ำไม่เป็นท่า ขณะที่นายกฯ หญิงยืนกรานจะเปิดหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อเสนอข้อตกลงเบร็กซิตใหม่ที่สามารถใช้ได้จริงในวันจันทร์หน้า (21 ม.ค.) สะท้อนให้เห็นว่าเธอเองก็มั่นใจอยู่พอสมควรว่าจะผ่านศึกไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไปได้

เมย์ ยังเตือนด้วยว่า การเลือกตั้งใหม่ในเวลานี้เลวร้ายที่สุดสำหรับอังกฤษ และจะทำให้กระบวนการเบร็กซิตยิ่งล้าช้าออกไปมาก

ทั้งนี้ มีรายงานว่าหากล้มรัฐบาล เมย์ ไม่สำเร็จ พรรคแรงงานได้เตรียมแผนสองในการผลักดันให้มีการทำประชามติว่าด้วยเบร็กซิตใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกสภาส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย โดยบางคนยังต้องการให้บรรจุทางเลือกในการยกเลิกเบร็กซิตไว้ในการลงประชามติรอบใหม่ด้วย

ฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เรียกร้องให้อังกฤษเร่งประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรต่อไป พร้อมย้ำว่าข้อตกลงเบร็กซิตที่คุยกันไว้แล้วนั้นคือการประนีประนอมที่เป็นธรรม และเป็นข้อตกลงที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะจะช่วยบรรเทาความสูญเสียต่อพลเมืองและภาคธุรกิจทั่วยุโรป และเป็นทางเดียวที่จะรับรองได้ว่าการถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษจะเป็นไปอย่างเรียบร้อย

ยุงเกอร์ ยอมรับว่า ผลโหวตของสภาสามัญชนเมื่อวันอังคาร (15) ทำให้อังกฤษเสี่ยงที่จะต้องถอนตัวโดยไร้แผนรองรับ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปจะเตรียมร่างแผนฉุกเฉินเพื่อให้มั่นใจว่าอียูพร้อมรับสถานการณ์เต็มที่

ด้านประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ชี้ว่าอังกฤษเป็นฝ่ายที่เผชิญแรงกดดันมากที่สุด และเตือนว่าการถอนตัวแบบไร้ข้อตกลงนั้นจะทำให้ชาวเมืองผู้ดีกลายเป็น “ผู้แพ้ตัวจริง”

“ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เราก็ต้องเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางในช่วงเปลี่ยนผ่านกับพวกเขา เพราะชาวอังกฤษคงยอมไม่ได้หากจะไม่มีเครื่องบินขึ้นและลงจอดที่สนามบินของพวกเขา และซุปเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษ 70 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องพึ่งสินค้าจากยุโรปภาคพื้นทวีป” มาครง กล่าว

มิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าผู้แทนเจรจาเบร็กซิตของอียู ระบุว่า ความเสี่ยงที่อังกฤษจะถูกผลักดันออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลงนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ และชาติยุโรปจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ขั้นเลวร้าย

เจ้าหน้าที่อียูเชื่อว่า หากอังกฤษยอมอยู่ในสหภาพศุลกากรหรือตลาดเดียวต่อไปอย่างถาวรก็จะช่วยลดความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นบริเวณพรมแดนไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ และบรรเทาข้อถกเถียงเรื่องมาตรการ ‘แบ็คสต็อป’ ซึ่ง ส.ส.อังกฤษส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

ภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นในช่วง 10 สัปดาห์สุดท้ายทำให้นักลงทุนบางคนเชื่อว่าอังกฤษอาจจะไม่สามารถอำลาอียูได้ในวันที่ 29 มี.ค.

ผู้นำยุโรปบางคนแสดงท่าทีเปิดกว้างให้อังกฤษขอเลื่อนเวลาเบร็กซิตออกไปอีกเล็กน้อย ทว่าไม่ควรเกิน 3 เดือน เพราะอาจกระทบการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปซึ่งจะมีขึ้นในราวๆ เดือน พ.ค.

คณะกรรมาธิการยุโรปชี้ว่าอังกฤษจะต้องเป็นผู้ร้องขอเลื่อนเวลาเบร็กซิต และต้องชี้แจงให้ได้ด้วยว่าการทำเช่นนั้นจะส่งผลดีอย่างไร

นักการเมืองยุโรปบางคนยังเรียกร้องให้อังกฤษพิจารณาจัดทำประชามติเบร็กซิตรอบสอง เพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองได้ตัดสินใจอีกครั้งว่ายังอยากจะถอนตัว หรือจะเปลี่ยนใจกลับมาล่มหัวจมท้ายกับอียูต่อไป

โดนัลด์ ทัสก์ ประธานสภายุโรป ระบุว่าความแตกแยกในอังกฤษอาจจะทำให้เบร็กซิตต้องถูกยกเลิกไปในที่สุด ขณะที่ ฟรานส์ ทิมเมอร์แมนส์ รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ยกข้อความจากนวนิยายแฟนตาซีของ ซี.เอส. ลิวอิส มาเตือนสติอังกฤษให้ละทิ้งอดีตและหวนกลับมาเริ่มต้นใหม่กับอียู

“คุณไม่สามารถย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงจุดเริ่มต้น แต่คุณสามารถเริ่มจากจุดที่คุณอยู่ และเปลี่ยนแปลงตอนจบได้” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี ไนเจล ฟาราจ อดีตหัวหน้าพรรค UKIP ซึ่งมีแนวคิดต่อต้านอียูและเป็นแกนนำค่ายโหวต ‘Leave’ ยืนยันกับสมาชิกสภายุโรปว่า ถ้ามีการจัดประชามติรอบสองชาวอังกฤษจะเลือกถอนตัวออกจากอียูล้นหลามเสียยิ่งกว่าครั้งแรก เพราะต่างก็ไม่พอใจจุดยืนในการเจรจาของอียู

“ชาวอังกฤษอาจดูเคร่งขรึม แต่ผมรับรองได้เลยว่า ถ้าสิงโตถูกกดดันมากๆ เข้ามันก็จะคำรามออกมา เราพร้อมจะสู้ยิ่งกว่าเดิมในประชามติรอบสอง และเราจะชนะด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่าเก่า” เขากล่าว

ผลประชามติในปี 2016 พบว่าชาวอังกฤษ 52% สนับสนุนการแยกตัว ขณะที่ 48% ต้องการอยู่ร่วมกับอียูต่อไป และแม้จะผ่านมาแล้วเกือบ 3 ปี แต่รัฐสภาก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางไหน โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์กับอียูซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ต้องการให้อังกฤษแยกตัวอย่างเด็ดขาด และฝ่ายที่สนับสนุนให้คงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอียูเอาไว้

ส.ส.อังกฤษจำนวนมากเห็นด้วยกับแผนจัดประชามติครั้งที่สอง เนื่องจากเชื่อว่าพลเมืองส่วนใหญ่จะเลือกอยู่กับอียูต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น