(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Huawei CEO breaks silence on daughter’s arrest with praise for Trump
By Asia Times staff
16/01/2019
เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย พบปะสนทนาเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงกับพวกนักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ โดยกล่าวปกป้องวิธีปฏิบัติต่างๆ ของยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมสัญชาติจีนรายนี้ว่า ไม่ได้ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติอื่นอย่างที่ฝ่ายตะวันตกนำโดยสหรัฐฯกล่าวหา รวมทั้งปฏิเสธเรื่องที่หัวเว่ยถูกโจมตีว่ามีความผูกพันใกล้ชิดกับรัฐบาลแดนมังกร
เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) บุรุษผู้กุมบังเหียน หัวเว่ย บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมสัญชาติจีน เมื่อวันอังคาร (15 ม.ค.) ได้กระทำสิ่งซึ่งนานปีทีหนจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง นั่นคือการออกมาปรากฏตัวพูดคุยสนทนากับพวกนักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ในขณะที่กรณีแคนาดาจับกุมบุตรสาวของเขา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของบริษัท ตามหมายจับของสหรัฐอเมริกา ยังคงส่งผลพวงต่อเนื่องอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่ายๆ
เหรินปฏิเสธแข็งขันต่อข้อกล่าวหาของพวกรัฐบาลต่างประเทศบางรายนำโดยสหรัฐฯ ที่ว่าหัวเว่ยมีท่าทางจะกลายเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงแห่งชาติ ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากการที่ตัวเหรินเองมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน
“ผมรักประเทศชาติของผม ผมสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ผมจะไม่ทำอะไรที่เป็นภัยต่อโลกหรอก” เหรินกล่าวเป็นภาษาจีนโดยมีล่ามคอยแปล ระหว่างการพบปะกับพวกผู้สื่อข่าว ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทหัวเว่ย ในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก “ผมไม่ได้มองหรอกว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดระหว่างความเชื่อทางการเมืองส่วนตัวของผม กับธุรกิจต่างๆ ของหัวเว่ย” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.bloomberglaw.com/tech-and-telecom-law/huaweis-founder-breaks-silence-to-deny-spying-praise-trump-3-1
เขาย้ำว่า เขาจะปฏิเสธ “อย่างแน่นอน” ถ้ามีคำขอจากรัฐบาลจีนให้บริษัทส่งมอบข้อมูลของยูสเซอร์
ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ เหรินกล่าวด้วยว่า “ในจีนไม่มีกฎหมายที่กำหนดบังคับให้บริษัทใดๆ ก็ตามต้องติดตั้งประตูหลัง (ซึ่งสามารถใช้ในการสอดแนมทำจารกรรมได้)” พร้อมกับชี้ว่า หัวเว่ย “ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ทางด้านความมั่นคงที่ร้ายแรงใดๆ เลย”
เมื่อถูกถามถึงคดีของบุตรสาวของเขา เมิ่ง หว่านโจว ซีเอฟโอของหัวเว่ย เหรินซึ่งปัจจุบันมีอายุ 74 ปี แสดงความลังเลไม่ต้องการพูดในรายละเอียด เขาบอกว่าเขาคิดถึงบุตรสาวคนโตของเขาผู้นี้ “เป็นอย่างมาก” โดยที่เมิ่งได้รับอนุญาตจากศาลให้ประกันตัว แต่ยังคงต้องอยู่ที่เมืองแวนคูเวอร์เพื่อรอขึ้นศาลแคนาดาที่จะพิจารณาว่าจะส่งเธอไปให้สหรัฐฯในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่
กระนั้นเหรินกล่าวว่า เขา “ไว้เนื้อเชื่อใจ” ในความเปิดกว้างของระบบยุติธรรมของสหรัฐฯและแคนาดา และจะรอดูผลการตัดสินวินิจฉัยของศาล ทั้งนี้ตามรายงานของโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี (ดูเพิ่มเติมรายงานของซีเอ็นบีซีได้ที่ https://www.cnbc.com/2019/01/15/huawei-ceo-we-would-refuse-a-chinese-government-request-for-user-data.html)
เมื่อถูกถามถึงการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีว่าเขาอาจจะเข้าแทรกแซงในคดีของเมิ่ง หากนั่นจะช่วยแก้ไขคลี่คลายสงครามขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กันที่วอชิงตันทำอยู่กับปักกิ่ง เหรินตอบว่า เขาจะรอดูว่าทรัมป์จะแสดงบทบาทอย่างไรหรือไม่
เหรินยังกล่าวแสดงความยกย่องสรรเสริญประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ โดยบอกว่าเป็นประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง
“สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ในฐานะของตัวบุคคล ผมยังคงเชื่อว่าเขาเป็นประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง” เขากล่าว “ในแง่ที่ว่าเขามีความห้าวหาญในการตัดลดภาษี และผมคิดว่าเรื่องนี้ส่งผลนำไปสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมต่างๆ ในสหรัฐฯ”
รอยเตอร์รายงานว่า เหรินบอกว่า “ข้อความที่ผมต้องการส่งออกไปสื่อสารกับสหรัฐฯก็คือ มาร่วมมือกันและประสบความสำเร็จร่วมกัน ในโลกแห่งไฮเทคของพวกเรานั้น มันเป็นไปไม่ได้ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ สำหรับบริษัทเดี่ยวๆ แห่งใดแห่งหนึ่งหรือประเทศเดี่ยวๆ แห่งใดแห่งหนึ่ง ที่จะประคับประคองหรือที่จะให้การสนับสนุนแก่ความต้องการของทั้งโลกได้”
ท่ามกลางการรณรงค์ซึ่งนำโดยสหรัฐฯที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในเวลานี้ เพื่อส่งเสียงเตือนภัยชาติพันธมิตรต่างๆ ของอเมริกาเกี่ยวกับความเสี่ยงในการใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย เหรินกล่าวยอมรับว่าบริษัทของเขาในปีนี้อาจจะเผชิญกับอุปสรรคที่ส่งผลชะลอความเร็วของการเติบโต
“ในปี 2019 เราคงจะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ และความยากลำบากต่างๆ ในบรรดาตลาดระหว่างประเทศ นี่แหละคือเหตุผลที่ทำไมผมจึงพูดว่า ... การเติบโตของเราในปีหน้าจะน้อยกว่า 20%” เขาบอก
อย่างไรก็ดี เหรินกล่าวด้วยว่า เขาไม่ได้วิตกกังวลเรื่องที่บางประเทศห้ามใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย พร้อมกับคาดการณ์ว่ารายรับของบริษัทของเขาน่าจะขยายตัวไปอยู่ที่ระดับเกิน 100,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้วเมื่อปีที่แล้ว และจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 125,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2019
“หัวเว่ยไม่ใช่บริษัทมหาชน เราจึงไม่จำเป็นต้องมีรายงานด้านรายได้ที่ดูสวยสดงดงาม” เขากล่าว
“ถ้าพวกเขาไม่ต้องการหัวเว่ยเข้าไปยังตลาดบางแห่ง เราก็สามารถที่จะลดขนาดขอบเขตลงมาหน่อย ตราบใดที่เราสามารถอยู่รอดต่อไปได้ และเลี้ยงดูพวกลูกจ้างพนักงานของเราได้ มันก็จะมีอนาคตสำหรับเรา” เขากล่าว ทั้งนี้ตามรายงานของบลูมเบิร์ก
ทางด้านรอยเตอร์ระบุว่า เหรินไม่ได้ให้น้ำหนักอะไรนักแก่เรื่องที่หัวเว่ยกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกสกัดกั้นจากบางประเทศไม่ให้ใช้อุปกรณ์เครือข่ายการสื่อสารรุ่น 5 จี ของบริษัท
“มันก็เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยนั่นแหละ คุณไม่สามารถทำงานกับทุกๆ คนได้หรอก ... เราก็จะปรับเปลี่ยนโฟกัสของเราไปให้บริการที่ดียิ่งขึ้นแก่ประเทศอื่นๆ ซึ่งยินดีต้อนรับหัวเว่ย” เขากล่าว พร้อมกับเสริมว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญากับพวกบริษัทให้บริการต่างๆ 30 รายจากทั่วโลกแล้ว เพื่อสร้างเครือข่าย 5 จี และได้จัดส่งสถานีฐาน (base station) ไปแล้ว 25,000 ชุด
สำนักข่าวเอพีได้รายงานบรรยากาศของการสนทนากับสื่อมวลชนต่างประเทศคราวนี้ โดยบอกว่า เหริน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารชาวจีนอายุมากที่สุดที่ยังคงทำงานอยู่ มีท่าทางเบิกบานร่าเริงและมีชีวิตชีวาในช่วงการพบปะซึ่งกินเวลารวม 2 ชั่วโมง 20 นาที เขาสวมเสื้อนอกสปอร์ตสีน้ำเงินและเสื้อเชิร์ตสีฟ้าอ่อนโดยไม่ผูกเนคไท นอกจาก เหริน แล้ว ยังมีกรรมการบริหารของหัวเว่ยเข้าร่วมการพบปะนี้อีก 2 คน คือ เฉิน หลี่ฟาง (Chen Lifang) และ วิลเลียม สีว์ (William Xu) ตลอดจนบุคลากรระดับผู้จัดการของบริษัทอีกหลายคน
เหรินเล่าว่า เขาเข้าเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงต้นทศวรรษ 1980 หลังจากสื่อของรัฐตีพิมพ์เผยแพร่รายงานข่าวเรื่องที่เขาพัฒนาเครื่องมือสำหรับใช้วัดให้แก่โครงการทางวิศวกรรมโครงการหนึ่ง ก่อนหน้านี้ เขาไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกพรรคได้ เพราะคุณพ่อของเขาถูกตราหน้าว่าเป็น “ผู้เดินหนทางทุนนิยม” แต่ว่าพรรคมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนคนหนุ่มสาวที่มีความรู้ความสามารถ ภายหลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรมซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรงยุติลงในปี 1976
เขายืนยันว่าถึงแม้เขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่การตัดสินของหัวเว่ยนั้นอิงอยู่กับความต้องการของพวกลูกค้าของบริษัท
บริษัทหัวเว่ยระบุว่า ตนเป็นบริษัทที่พวกลูกจ้างพนักงานเป็นเจ้าของ รอยเตอร์กล่าวว่า เหรินบอกว่าเขาเป็นเจ้าของหุ้นบริษัทแห่งนี้อยู่เพียง 1.14% ขณะที่เอพีก็อ้างคำพูดของผู้ก่อตั้งผู้นี้ซึ่งบอกว่า ไม่มีหน่วยงานใดๆ ของรัฐบาลจีน ตลอดจนไม่มีนักลงทุนอื่นๆ ใดๆ ซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานลูกจ้างในปัจจุบันหรือในอดีตของบริษัท เป็นเจ้าของ “หุ้นหัวเว่ยแม้แต่เซนต์เดียว”
เหรินยืนยันว่า หัวเว่ยไม่มีความร่วมมือด้านการวิจัยใดๆ กับกองทัพปลดแอกประชาชาจีน และบริษัทก็ไม่มีหน่วยงานใดๆ ซึ่งอุทิศตนมุ่งทำผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่วยให้แก่ฝ่ายทหารของจีนโดยเฉพาะ รวมทั้งเขาก็ไม่เคยทราบเลยว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีการซื้อเทคโนโลยีพลเรือนใดๆ
เขาปกป้องการตัดสินใจของหัวเว่ยที่จะยังคงเป็นบริษัทเอกชน ไม่ใช่บริษัทมหาชนไม่ใช่บริษัทที่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีการแจ้งผลประกอบการของตนต่อสาธารณชนอยู่เป็นระยะๆ ถึงแม้มันจะเป็นสถานะซึ่งถูกมองอย่างระแวงโดยเฉพาะในโลกตะวันตกว่าก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของบริษัท รวมทั้งเกิดปุจฉาคาใจว่าใครคือผู้ควบคุมหัวเว่ยกันแน่ โดยเหรินยืนยันว่า การเป็นบริษัทเอกชนซึ่งผู้ถือหุ้นคือลูกจ้างพนักงานนั้น ช่วยให้หัวเว่ยสามารถรักษาโฟกัสระยะยาวของตนในเรื่องการให้บริการแก่ลูกค้าและในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
พวกบริษัทที่สาธารณชนหรือมหาชนเป็นเจ้าของนั้น จะต้องคอยคำนึงถึงเรื่อง “การมีงบดุลบัญชีที่สวยงาม” มากกว่า ขณะที่หัวเว่ยสามารถโฟกัสเรื่อง “โครงสร้างทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งได้” เขากล่าว พร้อมกับย้ำว่า “ทุน (capital) เป็นสิ่งที่มีความโน้มเอียงไปสู่ความตะกละละโมบ”
เหรินยังกล่าวเตือนแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปล่อยให้เรื่องความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคง มาเป็นตัวแบ่งแยกโลกออกเป็นตลาดหลายๆ ส่วนที่แยกห่างจากกันโดยแต่ละส่วนต่างมีมาตรฐานทางเทคโนโลยีซึ่งไม่สามารถเข้ากันได้ --อันเป็นฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์ซึ่งบางคนบางฝ่ายชี้ว่าอาจจะเกิดขึ้นมาจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีน
“การแบ่งแยกโลกตามอำเภอใจให้กลายเป็นค่ายเทคโนโลยี 2 ค่ายนั้น รังแต่จะเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ต่างๆ ของสังคมทั่วทั้งหมดเท่านั้น” เขากล่าว
เหรินยังพูดพาดพิงถึงกรณีที่สหรัฐฯต้องการให้แคนาดาส่งตัวบุตรสาวของเขาไปดำเนินคดีในข้อหาละเมิดมาตรการลงโทษคว่ำบาตรที่อเมริกาประกาศใช้กับอิหร่าน เป็นต้น โดยบอกว่า “ถ้าบริษัทต่างๆ เกิดความตกใจกลัวจากกรณีการคุมขังบุคคลบางคนแล้ว พวกนักลงทุนก็อาจจะหวาดผวาหนีหายไป และนี่ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ”
เขากล่าวว่าเขาไม่เชื่อว่าหัวเว่ยจะประสบกับการถูกลงโทษจากสหรัฐฯ ในลักษณะเดียวกับที่เกือบทำให้ แซดทีอี คอร์ป คู่แข่งสัญชาติจีนที่มีขนาดเล็กกว่าหัวเว่ยได้เคยเผชิญมาจนเกือบถึงขั้นไปไม่รอดต้องออกจากธุรกิจ ทั้งนี้วอชิงตันได้สั่งปิดตายไม่ให้แซดทีอีสามารถซื้อเทคโนโลยีอเมริกันอย่างเช่น ชิป ได้ สืบเนื่องจากบริษัทแอบส่งออกไปยังอิหร่านและเกาหลีเหนือ ทว่าในเวลาต่อมาก็ได้รับการผ่อนปรนให้กลับเข้าถึงสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯได้ใหม่ ภายหลังแซดทีอียอมจ่ายค่าปรับ 1,000 ล้านดอลลาร์, เปลี่ยนทีมผู้บริหารของบริษัท, และจัดตั้งกลไกที่สหรัฐฯเป็นผู้คัดเลือกเพื่อคอยติดตามว่าแซดทีอีปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับแซดทีอีนั้น ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับหัวเว่ย” เหรินบอก อย่างไรก็ดี เขากล่าวด้วยว่า “ถ้าหากมันเกิดขึ้นกับหัวเว่ยจริงๆ ผมก็ไม่เชื่อว่าผลกระทบจะมีความสำคัญอะไรมากมาย ผมเชื่อว่าพวกผู้ให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมจะยังคงไว้วางใจหัวเว่ยต่อไป”
เหรินกล่าวว่า หัวเว่ยไม่ต้องการให้ปักกิ่งตอบโต้แก้เผ็ดการที่พวกต่างประเทศจำกัดบีบคั้นบริษัท ด้วยการสกัดกั้นขัดขวางการเข้าถึงตลาดแดนมังกรของพวกบริษัทอย่าง แอปเปิล อิงค์ ตลอดจนคู่แข่งรายอื่นๆ
“ถึงแม้ประสบความเพลี่ยงพล้ำในบางประเทศ แต่เรายังคงสนับสนุนให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นอีก”
เหรินก่อตั้งหัวเว่ยขึ้นมาเมื่อปี 1987 เพื่อจำหน่ายพวกอุปกรณ์ถ่ายทอดสัญญาณด้านสื่อสารโทรคมนาคม (telecom switching gear) ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ให้แก่พวกบริษัทโทรศัพท์จีน ภายหลังจากกองทัพปลดแอกประชาชนได้ยุบเลิกหน่วยงานด้านวิศวกรรมของกองทัพที่เหรินทำงานอยู่ สำนักข่าวเอพีระบุโดยอ้างอิงตามข้อมูลของบริษัทหัวเว่ยเอง
เอพีบอกด้วยว่า ตลาดสหรัฐฯของหัวเว่ยได้เหือดแห้งหายวับไปเมื่อปี 2012 หลังจากคณะทำงานของรัฐสภาสหรัฐฯชุดหนึ่งระบุว่า บริษัทนี้และแซดทีอี กำลังกลายเป็นความเสี่ยงทางด้านความมั่นคง พร้อมกับเรียกร้องบริษัทโทรศัพท์ทั้งหลายในอเมริกาหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ของบริษัทจีนทั้ง 2 แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าหัวเว่ยยังคงสามารถแซงหน้า อิริคสัน แห่งสวีเดน กลายเป็นซัปพลายเออร์เรื่องอุปกรณ์เครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก ส่วนแบรนด์สมาร์ตโฟนของหัวเว่ยก็เข้าแทนที่ แอปเปิล อิงค์ เมื่อปีที่แล้ว ในการมียอดขายทั่วโลกสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองลงมาจาก ซัมซุงแห่งเกาหลีใต้เท่านั้น
(ผู้แปลได้เพิ่มเติมเนื้อหาจากรายงานข่าวของสำนักข่าวเอพี, รอยเตอร์, และเอเอฟพี )