xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง :‘สหรัฐฯ’มอง‘จีน’เป็นคู่แข่งสำคัญในการชิงชัยด้านอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>ยานสำรวจดวงจันทร์ “อี้ว์ทู่ 2” ของจีน ทิ้งรอยล้อให้เห็นภายหลังเคลื่อนออกมาจากยานฉางเอ๋อ 4 ซึ่งลงจอดบนพื้นผิวด้านมืด (ด้านที่ไม่เคยหันมาหาโลก) ของดวงจันทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ม.ค.) ในภาพที่เผยแพร่โดยสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติของจีน ผ่านทางสำนักข่าวซินหวา  </i>
ในช่วงสงครามเย็น สายตาของสหรัฐฯจ้องเขม็งไปที่บรรดาจรวดและดาวเทียมของสหภาพโซเวียต แต่ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ พวกโครงการอวกาศทั้งหลายแหล่ของจีนต่างหาก ซึ่งสร้างความวิตกกังวลอย่างมากที่สุดให้แก่เหล่านักยุทธศาสตร์อเมริกัน

ประเทศจีน ซึ่งความพยายามด้านอวกาศอยู่ในการดูแลรับผิดชอบของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนนั้น ทุกวันนี้เป็นชาติที่ส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศมากยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในโลกไปแล้ว โดยในปีที่แล้วได้ยิงไป 39 ครั้ง เปรียบเทียบกับสหรัฐฯซึ่งอยู่ที่ 31 และรัสเซียที่ 20 ครั้ง ขณะที่ยุโรป 8 ครั้ง

เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ม.ค.) ที่ผ่านมา ยานสำรวจอวกาศลำหนึ่งของแดนมังกรประสบความสำเร็จในการลงจอดที่ด้านมืด (ด้านที่ไม่เคยหันหน้ามาหาโลก) ของดวงจันทร์ กลายเป็นชาติแรกที่ทำเช่นนี้ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ปักกิ่งยังวางแผนการจะสร้างสถานีอวกาศที่โคจรอยู่รอบๆ โลกขึ้นมาภายในทศวรรษนี้ แล้วในทศวรรษถัดไปก็หวังที่จะส่งมนุษย์อวกาศชาวจีนลงไปที่พื้นดวงจันทร์ ซึ่งหากทำได้มนุษย์ก็จะกลับไปเหยียบดาวเคราะห์บริวารของโลกดวงนี้กันอีกครั้งหนึ่งหลังจากปี 1972 เป็นต้นมา

เวลานี้จีนใช้จ่ายในโครงการอวกาศทั้งด้านพลเรือนและด้านการทหารของตน มากกว่างบประมาณด้านนี้ของรัสเซียหรือญี่ปุ่นแล้ว ถึงแม้ยังมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน แต่ตามการประมาณการขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) งบใช้จ่ายในเรื่องนี้ของแดนมังกรอยู่ที่ 8,400 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2017

ตัวเลขนี้ยังคงห่างไกลสุดกู่จากจำนวน 48,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งสหรัฐฯใช้จ่ายในโครงการอวกาศเพื่อการทหารและด้านพลเรือนของตน นักวิเคราะห์ ฟิล สมิธ แห่งบริษัทที่ปรึกษา ไบรซ์ สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี ตั้งข้อสังเกต แต่มันก็ยังคงเป็นกว่า 2 เท่าตัวของงบประมาณโครงการอวกาศด้านพลเรือนของรัสเซีย ซึ่งได้ถูกตัดลดลงมาจนอยู่ในระดับ 3,000 ล้านดอลลาร์แล้ว

เพื่อวิ่งไล่กวดให้ทันภายหลังถูกนำหน้าทิ้งห่างมายาวนานหลายทศวรรษ พวกผู้นำจีนได้ตัดสินใจเลียนแบบอย่างเป็นระบบระเบียบ ในเรื่องขั้นตอนต่างๆ ของการพัฒนาทางด้านอวกาศที่มหาอำนาจชาติอื่นๆ ได้กระทำกันมา กล่าวคือ ปักกิ่งส่งดาวเทียมดวงแรกของตนในปี 1970, ดำเนินภารกิจในอวกาศที่มีมนุษย์ติดไปด้วยเป็นเที่ยวแรกในปี 2003, ส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์อยู่ด้วยขึ้นไปประกบต่อกับโมดูลที่โคจรอยู่กลางอวกาศได้สำเร็จเป็นเที่ยวแรกในปี 2012, และในปี 2012 เช่นกันก็เริ่มกดปุ่มใช้งานระบบนำทางผ่านดาวเทียม “เป๋ยโต่ว” ซึ่งเป็น “จีพีเอส” ของจีนเอง

“ถ้าพวกเขายังคงเดินหน้าไปตามแนวโคจรนี้แล้ว พวกเขาก็กำลังจะข่มรัสเซียจนมิดไปอย่างรวดเร็ว ในเรื่องสมรรถนะต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของพวกเขา” เป็นความเห็นของ ท็อดด์ แฮร์ริสัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงการอวกาศเพื่อการทหาร แห่ง ศูนย์กลางเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) คลังสมองชื่อดังที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน

ทรัพยากรต่างๆ บนดวงจันทร์

ในปัจจุบันจีนยังไม่ได้ตั้งท่าจะเป็นภัยคุกคามใดๆ แก่ตลาดส่งดาวเทียมเชิงพาณิชย์ ซึ่งยังคงถูกครอบงำโดยพวกบริษัทอย่างเช่น สเปซเอ็กซ์ ของสหรัฐฯ, เอเรียนสเปซ ของยุโรป, ตลอดจนรัสเซีย

อีกทั้งความก้าวหน้าในเรื่องการสำรวจอวกาศของจีน ก็ไม่ได้กดข่มความสำเร็จอันเลอเลิศต่างๆ ของสหรัฐฯ

ผู้อำนวยการขององค์การการบินและอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้แสดงความยินดีกับจีน เมื่อตอนที่ปักกิ่งประสบความสำเร็จในการส่งยาน ฉางเอ๋อ 4 ไปลงบนดวงจันทร์ ทว่ากฎหมายฉบับที่ออกในปี 2011 มีบทบัญญัติห้ามไม่ให้ร่วมมือทางด้านอวกาศกับจีน กฎหมายนี้ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ถึงแม้รัฐสภาย่อมสามารถลงมติเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องนี้ได้

การแข่งขันที่แท้จริงนั้นมีอยู่ใน 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ในระยะสั้น จะเป็นเรื่องการใช้อวกาศเพื่อประโยชน์ทางการทหาร และในระยะยาว จะเป็นเรื่องการสำรวจขุดค้นหาทรัพยากรต่างๆ ในอวกาศ

เรื่องการทำเหมืองขุดค้นหาแร่ธาตุต่างๆ หรือกระทั่งน้ำบนดวงจันทร์และบนดาวเคราะห์น้อยต่างๆ ซึ่งน่าจะนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงของจรวดได้นั้น ยังคงเป็นสิ่งที่ห่างไกลทีเดียว กระนั้นพวกบริษัทสตาร์ทอัปอเมริกันจำนวนหนึ่ง ก็กำลังทำงานในเรื่องนี้กันแล้ว

ไม่เหมือนกับในช่วงสงครามเย็น การพิชิตอวกาศของยุคนี้ส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะเจาะเข้าไปในบริเวณที่ถือเป็นสุญญากาศทางระเบียบกฎหมาย

ในทศวรรษ 1960 และ 1970 ซึ่งเป็นยุคสงครามเย็นนั้น วอชิงตันกับมอสโกมีการเจรจาทำสนธิสัญญาว่าด้วยอากาศหลายต่อหลายฉบับ หลักๆ แล้วเพื่อเป็นการประกันว่าจะมีความร่วมมือกันทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อห้ามไม่ให้ใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายร้ายแรงในอวกาศ

อย่างไรก็ดี ฟรานส์ ฟอน เดอร์ ดังค์ อาจารย์ด้านกฎหมายอวกาศแห่งมหาวิทยาลัยเนแบรสกา-ลินคอล์น, สหรัฐฯ บอกว่า “สนธิสัญญาเหล่านี้มีเนื้อหาที่คลุมเครือเกินกว่าที่จะระบุได้จริงๆ ว่าจะเกิดผลทางกฎหมายอะไรขึ้นมาแน่ๆ สำหรับการดำเนินการบางสิ่งบางอย่าง เป็นต้นว่าเรื่องการทำเหมืองในอวกาศ”
<i>ยานสำรวจดวงจันทร์ “อี้ว์ทู่ 2” ของจีน ทิ้งรอยล้อให้เห็นภายหลังเคลื่อนออกมาจากยานฉางเอ๋อ 4 ซึ่งลงจอดบนพื้นผิวด้านมืด (ด้านที่ไม่เคยหันมาหาโลก) ของดวงจันทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ม.ค.) ในภาพที่เผยแพร่โดยสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติของจีน ผ่านทางสำนักข่าวซินหวา  </i>
<i>ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 6 พ.ย. 2018  แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งของแบบจำลองสถานีอวกาศของจีน ซึ่งนำไปตั้งแสดงที่งานแอร์โชว์ ไชน่า 2018 ณ เมืองจู๋ไห่ มณฑลกวางตุ้ง </i>
สงครามในอวกาศ

ยิ่งกว่านั้น สนธิสัญญาเหล่านี้ยังได้ถูกแซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว โดยพวกเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางการทหาร ไม่ว่าจะเป็น อาวุธเลเซอร์พิฆาตดาวเทียม, การโจมตีทางไซเบอร์, การรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์, และการยิงขีปนาวุธจากพื้นโลกเพื่อทำลายดาวเทียมในอวกาศ –อย่างที่จีนได้ทำการทดสอบเมื่อปี 2007

สงครามความขัดแย้งบนโลกนั้น มีกฎการปะทะกฎแห่งการทำสงครามคอยกำกับตีวงอยู่ ทว่าในอวกาศไม่มีอะไรเช่นนี้ และคำถามที่ไม่มีคำตอบนั้นยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก

ถ้าดาวเทียมดวงหนึ่งชนปะทะกับดาวเทียมอีกดวงหนึ่งในอวกาศ เรื่องนี้เท่ากับ “การโจมตี” หรือไม่? การตอบโต้ที่เหมาะสมสมควรแก่เหตุนั้น น่าจะเป็นอย่างไร? พวกดาวเทียมพลเรือนย่อมควรที่จะได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการตอบโต้แก้เผ็ด แต่สำหรับดาวเทียมซึ่งใช้ประโยชน์ได้สองทางทั้งทางพลเรือนและทางการทหารล่ะ? หากถูกโจมตีทางไซเบอร์โดยที่ไม่ทราบแหล่งที่มาอันแน่นอน ประเทศหนึ่งๆ ควรที่จะดำเนินการตอบโต้อย่างไร?

“มันเป็นเรื่องยากลำบากมากๆ ที่จะแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นอาวุธและสิ่งที่ไม่ได้เป็นอาวุธ เมื่ออยู่ในอวกาศ” แจ็ค เบียร์ด อาจารย์ผู้หนึ่งในโครงการกฎหมายอวกาศของมหาวิทยาลัยเนแบรสกา กล่าวแจกแจง

อย่างไรก็ตาม “ช่างโชคร้ายที่มันยากเย็นเหลือเกินสำหรับการวาดภาพออกมาว่า การสู้รบขัดแย้งด้วยอาวุธขนาดใหญ่ใดๆ บนโลก จะไม่ขยายตัวเข้าสู่อวกาศด้วย” เขากล่าวต่อ “ฝ่ายจีนกำลังเตรียมตัวสำหรับรับมือกับผลขั้นสุดท้ายไม่ว่ามันจะเป็นอย่างไรที่อาจจะเกิดขึ้นมาในอนาคต และ ...พวกเขากำลังทดลอบระบบต่างๆ ที่จะแทรกแซงก่อกวนการสื่อสารของเรา, การถ่ายทอดสัญญาณของเรา ตั้งแต่ดาวเทียมไปจนถึงพวกโดรน”

ทางด้านแฮร์ริสันแห่งซีเอสไอเอส สำทับว่า “สหรัฐฯไม่ได้มีการเตรียมพร้อมอย่างเพียงพอเพื่อรับมือกับภัยคุกคามซึ่งมีแก่ระบบอวกาศต่างๆ ของเรา” และด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นจุดอ่อนของสหรัฐฯ

เวลาเดียวกันนั้น การสนทนาระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งในด้านนี้ ในทางเป็นจริงแล้วคือไม่มีเลย ซึ่งตรงกันข้ามกับช่วงสงครามเย็นที่วอชิงตันมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับมอสโก

“ถ้าเกิดวิกฤตการณ์ในอวกาศขึ้นมาโดยเกี่ยวข้องกับจีนแล้ว มันไม่มีความชัดเจนเอาเสียเลยว่า ฝ่ายทหารของเรารู้หรือไม่ว่าใครที่ควรจะติดต่อพูดจาด้วย” แฮร์ริสันบอก

กระนั้น ผู้สังเกตการณ์อื่นๆ หลายรายแสดงทัศนะข้องใจสงสัยมากกว่านี้ เกี่ยวกับการวาดภาพให้จีนกลายเป็นศัตรูผู้ก้าวร้าวของสหรัฐฯ

ไบรอัน วีเดน แห่งมูลนิธิรักษาโลกให้ปลอดภัย (Secure World Foundation) ซึ่งตั้งสำนักงานในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า พวกที่ป่าวร้องเสนอความเห็นว่าจีนเป็นภัยคุกคามนั้น มีบางรายกระทำเช่นนั้นเพื่อเป็นหนทางหนึ่งสำหรับให้องค์การนาซาได้รับเงินงบประมาณจากรัฐสภาที่เข้มงวดเรื่องการใช้จ่าย

พวกเขา “คิดว่ามันจะเป็นแรงจูงใจให้สหรัฐฯก้าวย่างออกมา และทำสิ่งต่างๆ ในอวกาศซึ่งพวกเขาต้องการที่จะให้ทำ” วีเดน กล่าว

“พวกเขามองเรื่องการแข่งขันกับจีนว่า เป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่จะใช้ไขปลดล็อกเจตนารมณ์ทางการเงินและเงินทองซึ่งจะนำมาสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่พวกเขาต้องการจะเห็น”

(เก็บความจากเรื่อง In space, the US sees a rival in China ของสำนักข่าวเอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น