เอเอฟพี - ล่าสุดหลังเข้าทำงานในฐานะผู้นำสูงสุดของบราซิลเมื่อวันปีใหม่ ฌาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) ในวันพฤหัสบดี( 3 ม.ค) ออกคำสั่งปลดเจ้าหน้าที่รัฐที่มีแนวความคิดการเมืองปีกขวาของตัวเองออกไป พบมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วม 300 คนที่อยู่ในสัญญาว่าจ้างชั่วคราวได้รับผลกระทบ และในวันเดียวกันนี้ ได้ออกมายอมรับกับสาธารณะผ่านการให้สัมภาษณ์ว่า เขาพร้อมที่จะพูดคุยกับรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อให้เข้ามาตั้งฐานทัพในบราซิล
เอเอฟพีรายงานวันนี้(4 ม.ค) รัฐบาลการเมืองปีกขวาบราซิลได้เริ่มต้นการกวาดล้างครั้งใหญ่ภายในหน่วยงานรัฐตั้งแต่วันพฤหัสบดี(3) โดยในแถลงการณ์ระบุว่า จะทำการไล่ออกเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับการจัดจ้างชั่วคราว เพื่อที่จะกวาดล้างกลุ่มคนที่มีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเมืองปีกขวาของประธานาธิบดีบราซิลคนใหม่
โดย ออนนิกซ์ ลอเรนโซนี (Onyx Lorenzoni) หัวหน้าคณะชุดทำงานของประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรีได้กล่าวในงานแถลงข่าวหลังการประชุมคณะครม.ครั้งแรกเสร็จสิ้นว่า
“รัฐบาลจะเริ่มต้นทำความสะอาดบ้าน”
ลอเรนโซนีเสริมว่า “นี่เป็นหนทางเดียวที่จะควบคุมความคิดของพวกเรา แนวคิดของพวกเรา และนำสิ่งที่คนส่วนใหญ่ของสังคมบราซิลที่ได้ตัดสินแล้วให้เป็นจริงขึ้นมา”
เอเอฟพีชี้ว่า การปลดออกมีเป้าหมายไปที่ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐที่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองสายกลาง และพรรคการเมืองปีกซ้ายของบราซิล ซึ่งได้ปกครองประเทศแห่งนี้มาตั้งแต่บราซิลได้หลุดพ้นจากการปกครองด้วยเผด็จการทหารเมื่อปี 1985
ซึ่งทั้งโบลโซนารูและพรรคพวกมักตราหน้าพรรคเหล่านี้ โดยเฉพาะพรรคแรงงานบราซิลที่อยู่ในอำนาจปกครองประเทศระหว่างปี 2003 -2016ว่า เป็น พวกสังคมนิยมหรือไม่ก็คอมมิวนิสต์
ในการแถลง ลอเรนโซนีได้ออกมายอมรับว่า ได้มีการสั่งให้พนักงานรัฐตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 300 คนประจำกระทรวงที่เขานั่งดูแลให้ออกจากราชการภายใต้โครงการทำความสะอาดบ้าน แต่ยังชี้ว่า อาจจะสามารถได้รับการว่าจ้างกลับเข้ามาใหม่ได้หากว่าคนเหล่านี้ผ่านการสอบแนวความคิดทางการเมืองแล้ว
ลอเรนโซนียังกล่าวต่อว่า โครงการทำความสะอาดบ้านของรัฐบาลบราซิลอาจจะขยายไปยังกระทรวงอื่นๆก็เป็นได้
เอเอฟพีรายงานว่า ในวันพฤหัสบดี(3) ผู้นำบราซิลคนใหม่ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ SBT โดยชี้ว่า เขาพร้อมเปิดกว้างสำหรับการเจรจากับทางวอชิงตันในการเข้ามาตั้งฐานทัพในบราซิล เพื่อหวังให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นใมอนาคต
“มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งใครจะรู้ว่าเราอาจจะจัดการเจรจาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอนาคตก็เป็นได้” และเสริมต่อว่า “ปัญหาทางกายภาพเป็นแค่เชิงสัญลักษณ์ เพราะในเวลานี้ทั้ง กองกำลังอเมริกัน จีน และรัสเซียต่างปรากฎตัวอยู่ตามจุดต่างๆทั่วโลกโดยปราศจากการตั้งฐาน”
ทั้งนี้พบว่าในก่อนหน้าวันพุธ(2) ประธานาธิบดีบราซิลคนใหม่ได้กล่าวกับ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯว่า “ในเวลานี้ 2 ประเทศเป็นเพื่อนกัน” และได้แสดงความเป็นมิตรกับวอชิงตันด้วยการออกมาตำหนิการลงทุนของจีนในบราซิล และยังกล่าวตำหนิเลยไปถึงบรรดารัฐบาลเผด็จการแดนลาตินทั้งหลาย ได้แก่ เวเนซุเอลา คิวบา และนิการากัว
ซึ่งในการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังพิธีสาบานตนเมื่อวันปีใหม่ โบลโซนารูออกมาแสดงความวิตกเกี่ยวกับกองทัพอากาศรัสเซียได้ร่วมฝึกซ้อมรบกับกองทัพเวเนซุเอลาเกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
ในการเปิดใจท่างโทรทัศน์ ผู้นำบราซิลชี้ว่า การยื่นมือไปหาสหรัฐฯนั้นมีจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจ แต่ยังย้ำว่า “แต่ใครจะไปรู้ อาจมีการทหารเกี่ยวข้องด้วย” พวกเราไม่ต้องการชาติที่ยิ่งใหญ่ปรากฎในแถบแดนลาตินอเมริกา แต่ผมคิดว่าพวกเราคงต้องการที่เหนือคนอื่นทั้งหมด(supremacy)