เอเอฟพี - รัสเซียในวันพฤหัสบดี (27 ธ.ค.) โอ้อวดแสนยานุภาพของขีปนาวุธเร็วเหนือเสียงใหม่ ว่าสามารถทำความเร็วได้สูงสุดมากกว่า 30,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท่ามกลางความตึงเครียดกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับสนธิสัญญาควบคุมอาวุธ
เมื่อวันพุธ (26 ธ.ค.) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้ร่วมสังเกตการณ์การทดสอบครั้งสุดท้ายขีปนาวุธเร็วเหนือเสียง (hypersonic missile) “อแวนการ์ด” ที่เขาอวดอ้างว่าสามารถเอาชนะระบบป้องกันขีปนาวุธทุกชนิดที่มีอยู่บนโลกใบนี้
ครั้งที่เปิดตัวอาวุธใหม่ดังกล่าวระหว่างการปราศรัยกับประชาชนทั่วประเทศเมื่อเดือนมีนาคม ปูติน ระบุว่าขีปนาวุธนี้มีความโฉบเฉี่ยวสูง สามารถโจมตีพื้นที่ไหนก็ได้บนโลกและสามารถหลบหลีกโล่ป้องกันขีปนาวุธที่สร้างโดยสหรัฐฯ พร้อมบอกด้วยว่ามันพุ่งด้วยความเร็วเหนือกว่าความเร็วเสียง 20 เท่า
ล่าสุด ยูริ โบริซอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ว่าขีปนาวุธข้ามทวีปดังกล่าวมีความเร็วมากกว่านั้น “ระหว่างการทดสอบ อแวนการ์ดทำความเร็วแตะระดับ 27 มัค หรือราว 33,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยความเร็วเช่นนี้จึงไม่มีขีปนาวุธสกัดกั้นใดๆ บนโลกที่สามารถสอยมันร่วงได้”
เขาอ้างว่าด้วยเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาความเคลื่อนไหวของขีปนาวุธอแวนการ์ด นั่นจึงหมายความว่าระบบป้องกันขีปนาวุธจวนที่จะล้าสมัยแล้ว
ปูตินให้คำจำกัดความการทดสอบครั้งสุดท้ายว่า “ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์” และเผยว่าขีปนาวุธอแวนการ์ดจะถูกส่งเข้าประจำการในปีหน้า
เดอะเบลล์ สื่อมวลชนอิสระ รายงานว่า ปูติน ตื่นเต้นมากกับผลการทดสอบเมื่อวันพุธ (26 ธ.ค.) ถึงขั้นอดใจไม่ไหวที่จะไปเล่าให้เหล่านักธุรกิจรัสเซียฟังในวันต่อมา และบอกว่าด้วยอาวุธล้ำสมัยดังกล่าว ตอนนี้คงไม่มีใครกล้ามาข่มขู่คุกคามรัสเซียอีกแล้ว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปูตินวางกรอบแผนงานของมอสโก สำหรับพัฒนาขปีนาวุธพิสัยกลางที่ถูกห้ามภายใต้สนธิสัญญาฉบับหนึ่งที่ทำไว้กับสหรัฐฯ เมื่อช่วงสงครามเย็น หากว่าวอชิงตันถอนตัวจากสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty - INF)
ข้อตกลงทวิภาคีดังกล่าวห้ามทั้งสองชาติครอบครองขีปนาวุธร่อนแบบยิงภาคพื้นทุกชนิด อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้ห้ามขีปนาวุธที่ยิงจากอากาศหรือทางทะเล
ปูตินกล่าวว่า ขีปนาวุธร่อนคาลิเบอร์ยิงจากทะเลและขีปนาวุธร่อน Kh-101 ยิงจากอากาศของรัสเซีย เช่นเดียวกับขีปนาวุธ เร็วเหนือเสียงล้ำสมัย “คินซัล” จะถูกดัดแปลงเป็นขีปนาวุธที่ยิงจากภาคพื้น หากว่าวอชิงตันละทิ้งสนธิสัญญา INF
สนธิสัญญาฉบับนี้ที่ลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน และ มิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำรัสเซีย ห้ามครอบครองขีปนาวุธแบบยิงภาคพื้นทุกชนิดที่มีพิสัยทำการระหว่าง 500 ถึง 5,500 กิโลเมตร
ข้อตกลงดังกล่าวช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่เริ่มขึ้นเมื่อช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากสหภาพโซเวียตนำขีปนาวุธพิสัยกลางติดหัวรบนิวเคลียร์ SS-20 มาประจำการโดยพุ่งเป้าโจมตีเมืองหลวงยุโรป อย่างไรก็ตาม มันไม่มีข้อจำกัดต่อชาติอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญด้านการทหาร อย่างเช่นจีน
อนึ่ง ทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นฝ่ายละเมิดสนธิสัญญา