เอเอฟพี - อิสราเอลประกาศร่วมมือกับสหรัฐฯ ขัดขวางความพยายามของปาเลสไตน์ในการเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ของสหประชาชาติ หลังจากปาเลสไตน์เผยว่าจะยื่นคำร้องในเรื่องดังกล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่นานนับจากนี้
ริยาด อัล-มาลิกิ รัฐมนตรีต่างประเทศของปาเลสไตน์เปิดเผยเมื่อวันพุธ (26 ธ.ค.) ว่าเขาจะยื่นคำร้องในเดือนหน้า ถึงคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ขอเป็นสมาชิกโดยสมบูณ์ในเดือนหน้า ตามรายงานของวาฟา สื่อมวลชนอย่างเป็นทางการของปาเลสไตน์
แดนนี ดานอน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติระบุในถ้อยแถลงว่า “เราเตรียมที่จะหยุดความคิดนี้ ปาเลสไตน์จ่ายเงินให้พวกก่อการร้ายและสนับสนุนความรุนแรง แล้วยังจะมาขอเป็นรัฐสมาชิกของสหประชาชาติอีก”
ดานอน ยังกล่าวหาพวกผู้นำปาเลสไตน์ด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายบ่อนทำลายต่างๆ ที่ปลุกปั่นเหตุโจมตีก่อการร้ายเร็วๆ นี้ และระบุว่าเขากำลังเพิ่มความกระตือรือร้นขัดขวางความพยายามดังกล่าวของปาเลสไตน์ ภายใต้การร่วมมือกับผู้แทนทูตสหรัฐฯ
พวกผู้แทนทูตให้ความเห็นว่าความพยายามใดๆของปาเลสไตน์ในการขอเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ของสหประชาชาติจะถูกวีโต้จากสหรัฐฯ ณ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ภายใต้กฎระเบียบของสหประชาชาติ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่จะเป็นผู้อนุมัติคำร้องขอเป็นรัฐสมาชิกของยูเอ็น อย่างไรก็ตาม คำร้องขอดังกล่าวจำเป็นต้องยื่นต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นลำดับแรก
ปาเลสไตน์ต้องการการสนับสนุนจากรัฐสมาชิกสภาความมั่นคงสหประชาชาติอย่างน้อย 9 ในจำนวน 15 รัฐ และต้องไม่ถูกวีโต้ใดๆจากสมาชิกถาวร 5 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วย อังฤกษ, ฝรั่งเศส, จีน, รัสเซีย และสหรัฐฯ
รัฐมนตรีต่างประเทศปาเลสไตน์เผยว่าเขามีแผนเดินทางไปยังนิวยอร์กในเดือนหน้า เพื่อยื่นคำร้องดังกล่าวด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นชัดเจนว่าคำร้องดังกล่าวจะถูกนำเข้าสู่การโหวตของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อใด
พวกผู้แทนทูตยูเอ็นบอกว่า ความเคลื่อนไหวขอเป็นสมาชิกยูเอ็นของปาเลสไตน์มีขึ้น หลังจากแอฟริกาและอินโดนีเซีย สองผู้สนับสนุนที่แข็งแกร่งของปาเลสไตน์ เตรียมขึ้นเข้ามานั่งเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขณะที่ทางคณะมนตรีฯมีกำหนดเปิดประจำรายเดือนในประเด็นความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ในวันที่ 22 มกราคมนี้
ปาเลสไตน์ได้รับอนุมัติในฐานะรัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิกของสหประชาชาติในปี 2012 จากการลงมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งไม่มีรัฐสมาชิกใดมีอำนาจวีโต้
สหรัฐฯ โหวตคัดค้านมติดังกล่าว ตามกรอบมุมมองที่มีมาอย่างช้านานของพวกเขา ที่ระบุว่านานาชาติไม่ควรให้การรับรองปาเลสไตน์จนกว่าปาเลสไตน์จะมีความก้าวหน้าในความพยายามสร้างสันติภาพกับอิสราเอลเสียก่อน
มุมมองดังกล่าวถูกย้ำให้หนักแน่นขึ้นภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเขาตัดลดเงินช่วยเหลือปาเลสไตน์และรับรองเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของอิสราเอล สร้างความขุ่นเคืองแก่ปาเลสไตน์ที่ต้องการให้เยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงรัฐในอนาคตของพวกเขา