รอยเตอร์/มาร์เกตวอตช์ - วอลล์สตรีทร่วงลง 4 วันติดในวันจันทร์ (24 ธ.ค.) ดาวโจนส์ปิดลบอีกกว่า 600 จุด นักลงทุนสงสัยความพยายามสร้างความอุ่นใจแก่ตลาดของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ความเคลื่อนไหวของตลาดทุนผลักทองคำพุ่งแรง ขณะที่น้ำมันดิ่งเหวอีก 3 ดอลลาร์ กังวลปัญหาเศรษฐกิจกระทบอุปสงค์
ดาวโจนส์ ลดลง 653.17 จุด (2.91 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 21,792.20 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 65.52 จุด (2.71 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,351.10 จุด แนสแดค ลดลง 140.08 จุด (2.21 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 6,192.92 จุด
สตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (24 ธ.ค.) ประชุมร่วมทางโทรศัพท์กับประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ธนาคารชั้นนำ 6 แห่ง ได้แก่ เจ.พี.มอร์แกน เชส แบงก์ ออฟ อเมริกา โกลด์แมน แซคส์ มอร์แกน สแตนเลย์ เวลลส์ ฟาร์โก และธนาคารซิตี้กรุ๊ป เพื่อหาทางบรรเทาภาวะปั่นป่วนของตลาดหุ้นและตลาดทุน รวมทั้งฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศให้กลับคืนมาเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม เหล่านักสังเกตการณ์ในตลาด มองว่าความพยายามมนูชิน กลับเป็นการเพิ่มข้อสงสัยใหม่ๆเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และปัจจัยนี้เองที่กระพือแรงเทขายซ้ำเติมในวันจันทร์
แรงเทขายในวันจันทร์ (24 ธ.ค.) เป็นการเคลื่อนไหวในทางลบต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่ได้เห็นดาวโจนส์และแนสแดค ทำสถิติเป็นสัปดาห์ที่ขยับลงมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินปลายปี 2008
ปัจจัยหลักๆ ที่ฉุดวอลล์สตรีทร่วงลงเมื่อเร็วๆ มีทั้งความผิดหวังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดของเฟด, การลาออกของ จิม แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ, สงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกาและภาวะชัตดาวน์หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนวันศุกร์ จากความล้มเหลวในการเจรจางบประมาณระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับสมาชิกสภาคองเกรสของเดโมแครต
ความสั่นคลอนในตลาดทุน กระตุ้นให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ และดันราคาทองคำในวันจันทร์ (24 ธ.ค.) แตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 13.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,271.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านราคาน้ำมันในวันจันทร์ (24 ธ.ค.) ดิ่งลงหนัก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับกำลังผลิตและความหวาดหวั่นว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอาจกระทบต่ออุปสงค์ทางพลังงาน
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 3.06 ปิดที่ 42.53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 3.35 ดอลลาร์ ปิดที่ 50.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
น้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต ขยับลงจากระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม แล้วกว่า 40.5% ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ ดิ่งลงมาแล้ว 38% จากระดับสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคม
จากหลักฐานภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวกำลังแผ่ลามไปทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ สั่นคลอนตลาดทุนทั่วโลกและกัดเซาะความต้องการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอย่างน้ำมัน จากความวิตกว่าเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำอาจทำให้อุปสงค์ทางพลังงานอ่อนแอ