รอยเตอร์ – คลื่นยักษ์ถล่มเกาะชวาและสุมาตราของอินโดนีเซีย หลังแผ่นดินเคลื่อนตัวใต้ทะเล ซึ่งเชื่อว่า เกิดจากพลังของภูเขาไฟ "อะนัก กรากะตัว" โดยล่าสุดมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 222 ราย และบาดเจ็บอีก 843 ราย สูญหายอีก 28 ราย และมีแนวโน้มที่ยอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้น ชาวบ้านเผยก่อนเกิดเหตุไม่เห็นหรือรับรู้สัญญาณเตือนใดๆ เช่น น้ำลดหรือภูเขาไฟระเบิด
ซูโตโป เปอร์โว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานบรรเทาสาธารณภัยของอินโดนีเซีย แถลงในวันอาทิตย์ (23) ว่า บ้านเรือนและอาคารหลายร้อยหลังเสียหายหนัก ภายหลังสึนามิถล่มบริเวณช่องแคบซุนดราเมื่อคืนวันเสาร์ (22) พร้อมสั่งอพยพประชาชนนับร้อยคนขึ้นที่สูง
ภาพจากทีวีเผยให้เห็นวินาทีที่คลื่นยักษ์โถมเข้าใส่ชายหาดและบริเวณที่อยู่อาศัยในปันเดอกลังบนเกาะชวา และพัดพาเหยื่อ ซากปรักหักพัง ต้นไม้และวัตถุขนาดใหญ่ไปด้วย
ราห์มัต ไตรโยโน เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์ (บีเอ็มเคจี) เตือนให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งรอบช่องแคบซุนดราอยู่ห่างจากชายหาด และคงคำเตือนน้ำทะเลขึ้นสูงจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม
ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ที่กำลังจะลงสมัครรับเลือกตั้งต่ออีกสมัยในเดือนเมษายนปีหน้า ทวิตว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานของรัฐบาลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องใช้มาตรการฉุกเฉินทันที เพื่อค้นหาเหยื่อและดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ ด้านรองประธานาธิบดี ยูซูฟ คัลลา แถลงว่า ยอดผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่กู้ภัยและรถพยาบาลประสบปัญหาในการเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยบางแห่งเนื่องจากถนนบางสายถูกซากบ้านและต้นไม้ รวมทั้งรถที่พลิกคว่ำขวางอยู่
นูโกรโฮเสริมว่า ชายฝั่งด้านตะวันตกของจังหวัดบันเตนบนเกาะชวาเป็นพื้นที่ที่เสียหายรุนแรงที่สุด และมีผู้เสียชีวิตในลัมปังทางใต้ของเกาะสุมาตราอย่างน้อย 35 คน
ภาพข่าวทีวีเผยให้เห็น เวทีคอนเสิร์ตในงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าที่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้า พีแอลเอ็น จัดขึ้นบนหาดตันกุงเลซุง ถูกคลื่นยักษ์โถมเข้าใส่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 คน และสูญหายอีกราว 89 คนในขณะนั้น จากจำนวนพนักงานทั้งหมดที่อยู่ในงานเลี้ยงราว 250 คน
ขณะเดียวกัน ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งเผยว่า ไม่เห็นหรือรับรู้สัญญาณเตือน เช่น น้ำลงหรือแผ่นดินไหวก่อนที่คลื่นสูง 2 เมตรจะซัดถล่มฝั่ง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เผยว่า ได้มีการเปิดไซเรนเตือนภัยในบางพื้นที่
ทางการอินโดนีเซียกำลังพยายามพิจารณาสาเหตุของภัยพิบัติครั้งนี้ โดยในส่วนของภูเขาไฟ อะนัก กรากะตัว ที่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างชวากับสุมาตรานั้น พ่นเถ้าและลาวามานานหลายเดือนแล้ว และเพิ่งปะทุอีกครั้งหลังเวลา 21.00 น. วันเสาร์ ขณะที่สึนามิเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 21.30 น.
นูโกรโฮแถลงว่า สึนามิเกิดจากดินถล่มใต้ทะเลจากการระเบิดของภูเขาไฟ อะนัก กรากะตัว และยังทวีความรุนแรงเนื่องจากน้ำขึ้นสูงกว่าปกติในคืนพระจันทร์เต็มดวง
เบน แวน เดอร์ ปลุยม์ นักธรณีวิทยาแผ่นดินไหวและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เชื่อว่า สึนามิอาจเกิดจากบางส่วนของภูเขาไฟอะนัก กรากะตัวยุบตัว
ทางด้านประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซียและออสเตรเลีย ต่างแสดงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือ หากจาการ์ตาต้องการ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 เกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดียที่มีที่มาจากแผ่นดินไหวและทำให้มีผู้เสียชีวิต 226,000 คนใน 13 ประเทศ ในจำนวนนี้รวมถึงกว่า 120,000 คนในอินโดนีเซีย ขณะที่ในปี 1883 ภูเขาไฟกรากะตัวระเบิดและเกิดสึนามิตามมาอีกหลายระลอก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 36,000 คน
สึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ ยังเป็นโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดที่อินโดนีเซียในปีนี้ หลังแผ่นดินไหวหลายระลอกบนเกาะล็อมบ็อก และแผ่นดินไหวควบสึนามิที่ทำให้คนนับร้อยเสียชีวิตบนเกาะสุราเวสี เดือนตุลาคมเกิดเหตุเครื่องบินของไลอ้อน แอร์ตกกลางทะเลชวา คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือเกือบ 200 คน