xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ที่ติด 'นุก'ได้ไปเวเนซุเอลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร

เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ความเร็วเหนือเสียงแบบ ตูโปเลฟ ตู-160 ของรัสเซีย จำนวน 2 ลำ ขณะจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติไมเกเตีย  ซึ่งอยู่ติดกับทางดานเหนือของกรุงการากัส ประเทศเวเนาซุเอลา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยที่รัฐมนตรีกลาโหมเวเนซุเอลา วลาดิมีร์ ปาดริโน ประกาศว่า เวเนซุเอลา กับ รัสเซียกำลังจัดการฝึกร่วมทางทหาร
Russian deployment to Venezuela served the purpose
By M.K. Bhadrakumar
14/12/2018

การที่รัสเซียส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบ ตู-160 “แบล็กแจ็ก” ที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ได้ จำนวน 2 ลำ เข้าไปในเวเนซุเอลาเป็นระยะเวลาสั้นๆ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ในแง่หนึ่งแล้ว มอสโกกำลัง “พรีวิว” ให้อเมริกาได้เห็นว่า โลกแห่งอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าสหรัฐฯยังคงเดินหน้าที่จะฉีกทิ้งบรรดาข้อตกลงควบคุมอาวุธทั้งหลาย และพยายามที่จะปรับเปลี่ยนสมดุลทางยุทธศาสตร์ของโลกไปในทางที่ทำให้ตนเองได้เปรียบ

การที่รัสเซียส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบ ตูโปเลฟ ตู-160 “แบล็กแจ็ก” (Tupolev Tu-160 ‘Blackjack’) จำนวน 2 ลำเข้าไปประจำในเวเนซุเอลาเป็นระยะเวลาสั้นๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลายเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความตื่นเต้นเกรียวกราวกันใหญ่ อันที่จริงแล้ว มันก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอาจหาญทางการทหารของรัสเซียซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ภายใต้การกำกับจับตาดูของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เครื่องบินแบล็กแจ็กนี้ได้เคยปรากฏตัวบนน่านฟ้าของซีเรียมามากกว่าหนึ่งครั้ง และหลังๆ มานี้ยังเคยบินผ่านอะแลสกา มาถึงเวลานี้มันก็เหินเวหาข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก

เครื่องบินทิ้งระเบิดซึ่งมีศักยภาพที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ 2 ลำนี้ ลงจอดในเวเนซุเอลาเมื่อวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม เจ้า ตู-160 แบล็กแจ็ก เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนักซึ่งสามารถบินด้วยความเร็วเหนือเสียง (supersonic) และสามารถปรับปีกขณะทำการบินได้หลายระดับ (variable-geometry) มันถูกออกแบบมาเพื่อใช้โจมตีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในยุทธบริเวณภาคพื้นทวีปทั้งด้วยอาวุธนิวเคลียร์และด้วยอาวุธธรรมดา กล่าวกันในแง่หนึ่งแล้ว มอสโกก็กำลังโชว์ให้อเมริกาได้ชมก่อนการแสดงจริงว่า โลกแห่งอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าสหรัฐฯยังคงเดินหน้าที่จะฉีกทิ้งบรรดาข้อตกลงควบคุมอาวุธทั้งหลาย และพยายามที่จะปรับเปลี่ยนสมดุลทางยุทธศาสตร์ของโลกไปในทางที่ทำให้ตนเองได้เปรียบ

แน่นอนทีเดียวว่า การที่สหรัฐฯฉีกทิ้งสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces (INF) Treaty) จะเป็นการเปิดประตูให้อเมริกาสามารถนำเอาพวกขีปนาวุธพิสัยกลางซึ่งเล็งเอารัสเซียเป็นเป้าหมาย ไปติดตั้งประจำการทั้งในยุโรปและในตะวันออกไกล ปูตินได้ประกาศเอาไว้แล้วว่ารัสเซียจะตอบโต้อย่างสมน้ำสมเนื้อเพื่อรับมือกับการท้าทายเช่นนี้ของฝายอเมริกัน

วอชิตันแสดงท่าทีว่ารับรู้รับทราบข้อความที่รัสเซียส่งออกมาคราวนี้เรียบร้อยแล้ว โดยที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ทวิตว่า “ประชาชนชาวรัสเซียและประชาชนชาวเวเนซุเอลาควรที่จะมองเรื่องนี้ออกว่ามันเป็นอะไร นั่นก็คือ 2 รัฐบาลที่ต่างก็ทุจริตฉ้อฉลกำลังใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างสุรุ่ยสุร่าย และกำลังบดขยี้อิสรภาพและเสรีภาพ ขณะที่ประชาชนของพวกเขาต้องทนทุกข์ทรมาน” วังเครมลินได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ข้อสังเกตนี้ของพอมเพโออย่างรวดเร็ว โดยระบุว่า เป็นคำพูดซึ่ง “ไม่อาจยอมรับได้” และ “ไม่มีความเป็นนักการทูตเอาเสียเลยที่จะออกมาจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนหนึ่ง” ดมิตริ เพสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกของเครมลินแถลงด้วยว่า สหรัฐฯไม่ได้มีกิจธุระอะไรจะต้องมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเงินทองที่ถูกใช้ไปในการฝึกคราวนี้ พร้อมกับบอกว่าเงินงบประมาณด้านกลาโหมของสหรัฐฯนั้นเพียงแค่ครึ่งเดียวก็สามารถเลี้ยงดูประชาชนทั้งหมดของแอฟริกาได้แล้ว

“เนซาวิซิมายา กาเซตา” (Nezavisimaya Gazeta) หนังสือพิมพ์รายวันทรงอิทธิพลของรัสเซียรายงานเมื่อวันพุธ (12 ธ.ค.) ว่า ภารกิจเที่ยวนี้ของเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ ตู-160 สองลำนี้ อาจจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับแผนการหนึ่งของรัสเซีย ที่จะสถาปนาการปรากฏตัวทางทหารระยะยาวขึ้นในทะเลแคริบเบียน หนังสือพิมพ์ฉบับนี้พูดเป็นนัยว่าหัวข้อนี้ถูกนำมาหารือด้วย ระหว่างที่ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ของเวเนซุเอลา เดินทางไปเยือนกรุงมอสโกเมื่อเร็วๆ นี้ น่าสนใจมากทีเดียวว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ของรัสเซีย 2 ลำนี้ก็ได้ทำการฝึกอยู่ในทะเลแคริบเบียนเป็นเวลา 10 ชั่วโมงด้วย โดยที่มีเครื่องบินไอพ่นของเวเนซุเอลาเข้าร่วมในบางช่วง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://sputniknews.com/military/201812131070648378-tu-160-caribbean-flight/)

เวเนซุเอลานั้นมีความกระตือรือร้นที่จะธำรงรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัสเซีย ระหว่างที่มาดูโรไปเยือนกรุงมอสโกเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนใหม่ๆ ของรัสเซียในเวเนซุเอลาหลายฉบับ โดยที่เป็นการลงทุนมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ในอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา และในด้านเหมืองแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับทองคำ อีก 1,000 ล้านดอลลาร์ (เวเนซุเอลาได้รับการประมาณการว่าเป็นชาติซึ่งมีแหล่งสินแร่ทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) ทั้งนี้ประมาณการกันว่า รัฐบาลรัสเซียและ รอสเนฟต์ (Rosneft) กิจการยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันของแดนหมีขาว ได้ให้เวเนซุเอลากู้ยืมเป็นจำนวนราว 17,000 ล้านดอลลาร์แล้วนับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา เงินกู้เหล่านี้ถือเป็นเส้นชีวิตที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับรัฐบาลมาดูโร ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับฝ่ายมอสโกแล้ว การจับมือเป็นพันธมิตรกับเวเนซุเอลาก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ซี่งมิได้เป็นสมาชิกขององค์การโอเปก ระหว่างการพบปะหารือกับมาดูโรนั้น ปูตินได้กล่าวพาดพิงอย่างอ้อมๆ ถึงการที่สหรัฐฯมีวาระที่มุ่งหมายจะทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของเวเนซุเอลา โดยเขากล่าวว่า รัสเซียประณาม “ก้าวเดินอันเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายใดๆ ก็ตาม และความพยายามใดๆ ก็ตาม ที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ด้วยการใช้กำลัง”

ภูมิหลังความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียก็มีบทบาทในเหตุการณ์ ตู-160 “แบล็กแจ็ก” บินไปยังเวเนซุเอลาคราวนี้เช่นเดียวกัน ระยะไม่นานมานี้สหรัฐฯกำลังสบประมาทรัสเซียหลายๆ กรณีด้วยกัน อาทิ การส่งอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) เข้าโจมตีฐานทัพของรัสเซียหลายแห่งในซีเรีย, การที่ยูเครนยั่วยุทำให้ความขัดแย้งซึ่งมีอยู่กับรัสเซียบานปลายขยายตัวที่บริเวณทะเลอะซอฟ, การที่วอชิงตันยื่นคำขาดต่อมอสโกเพื่อที่ตนเองจะได้ฉีกทิ้งสนธิสัญญาไอเอ็นเอฟ ซึ่งห้ามไม่ให้สหรัฐฯกับรัสเซียพัฒนาและติดตั้งประจำการขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยใกล้และพิสัยกลางประเภทที่มีฐานปฏิบัติการจากภาคพื้นดิน, และอื่นๆ เพียงแค่ช่วงเวลา 7-10 วันที่ผ่านมาเท่านั้น สหรัฐฯก็ได้ขยายความตึงเครียดทางทหารให้บานปลายออกไป ด้วยการส่งเครื่องบินตรวจการณ์สอดแนมของกองทัพอากาศสหรัฐฯ บินผ่าน “อย่างเป็นพิเศษ” เหนือน่านฟ้าของยูเครน เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) พูดถึงเหตุการณ์เช่นนี้อย่างสดใสร่าเริงว่า เป็นการแสดงท่าทีเพื่อ “ย้ำยืนยันถึงพันธกรณีที่สหรัฐฯมีอยู่กับยูเครน” และ “ความมั่นคงปลอดภัยของชาติต่างๆ ในยุโรป” นอกจากนั้นแล้ว กองทัพเรือสหรัฐฯยังได้ส่งเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีลำหนึ่งแล่นเข้าไปในทะเลญี่ปุ่น บริเวณใกล้ๆ กับฐานทัพของกองเรือภาคแปซิฟิก (Pacific fleet) ของกองทัพเรือรัสเซีย นี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปีภายหลังจากระยะตึงเครียดสูงสุดในยุคสงครามเย็นมาแล้ว ที่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นมา เวลาเดียวกันนั้น เพนตากอนยังกำลังตระเตรียมที่จะส่งเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯอีกลำหนึ่งแล่นไปยังทะเลดำบริเวณนอกชายฝั่งของยูเครน

ย่อมสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า การที่เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียบินไปปรากฏตัวในกรุงการากัส คือการส่งสัญญาณว่ารัสเซียนั้นสามารถที่จะตอบโต้กลับแบบสมน้ำสมเนื้อได้เช่นเดียวกัน คำถามใหญ่ในตอนนี้มีอยู่ว่าภารกิจในการเดินทางไปเวเนซุเอลาของเจ้าแบล็กแจ็กถึงขนาดเป็นการส่งสัญญาณว่ามีการปรับเปลี่ยนท่วงท่าทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียแล้วหรือไม่ เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ขณะอยู่ในที่ประชุมแถลงข่าว มาดูโรกล่าวว่าการพบปะหารือระหว่างเขากับปูติน “เป็นการพบปะรือที่มีประโยชน์มากที่สุดในอาชีพการทำงานของผมทีเดียว เราได้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการของการร่วมมือประสานงานกันระหว่างรัสเซียกับเวเนซุเอลาในปริมณฑลของการประสานงานร่วมมือกันทางการทหาร-ทางเทคนิค” แต่ก็นั่นแหละ เราคงต้องพิจารณาเรื่องนี้ในแง่มุมที่ว่า มาดูโรกำลังพูดเช่นนี้โดยมุ่งบอกกับพวกท่านผู้ชมท่านผู้ฟังภายในประเทศของเขา

เท่าที่ผ่านมา คณะผู้นำของรัสเซียมีความระมัดระวังที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสภาพของการขยายตัวออกไปจนเกินกำลังในทางยุทธศาสตร์ ชนิดซึ่งเคยเกิดขึ้นและพล่าผลาญทรัพยากรต่างๆ ของอดีตสหภาพโซเวียตมาแล้ว วิธีการของปูตินคือพยายามปรับปรุงยกระดับอำนาจในการป้องปรามของรัสเซียให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมถอยในสมดุลทางยุทธศาสตร์ด้วยวิถีทางที่มีประสิทธิภาพคุ้มกับการลงทุน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ขยับเข้าสู่การเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ พร้อมกันนั้นก็ผลักดันเดินหน้าวิสัยทัศน์ด้านนโยบายการต่างประเทศของเขาอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ ปูตินดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จดีเด่นน่าประทับใจ

เวเนซุเอลากำลังติดหล่มจมปลักอยู่ในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างล้ำลึก ส่วนใหญ่ทีเดียวมีต้นตอมาจากการลงโทษคว่ำบาตรของสหรัฐฯ สิ่งที่รัสเซีย (และจีน) สามารถกระทำ รวมทั้งควรที่จะกระทำด้วย ก็คือให้การสนับสนุนเวเนซุเอลาผ่านทางการค้าและการลงทุน (ซึ่งบางทีพวกเขาก็อาจจะกำลังทำเช่นนี้อยู่แล้ว) การจัดตั้งฐานทัพทางทหารขึ้นในทะเลแคริบเบียนนั้นไม่สามารถถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของรัสเซียได้หรอก ทว่าถึงแม้กล่าวเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับด้วยว่ามอสโกมีการเคลื่อนไหวที่ฉลาดหลักแหลม จากการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ตู-160 ซึ่งมีศักยภาพติดอาวุธนิวเคลียร์จำนวน 2 ลำไปยังบริเวณหลังบ้านของอเมริกาเป็นระยะสั้นๆ (โดยที่มีเครื่องบินขนส่ง อัน-124 (AN-124) ลำหนึ่ง และเครื่องบินโดยสารไอพ่นแบบ อิล-62 (Il-62) ลำหนึ่งร่วมเดินทางไปด้วย รวมกันแล้วก็มีนักบินตลอดจนบุคลากรชาวรัสเซียอื่นๆ จำนวนประมาณ 100 คน) แล้วมันยังเป็นการทำให้ทำเนียบขาวเกิดความใส่ใจว่า พวกนักรบสงครามเย็นในคณะบริหารทรัมป์กำลังเล่นเกม “แหย่หมี” อย่างเก่าๆ ของพวกเขาอีกแล้ว ขณะที่ความอดทนอดกลั้นของฝ่ายรัสเซียนั้นลดน้อยลงไป เป็นสิ่งที่น่าสนใจทีเดียวที่ทำเนียบขาวต้องเข้ามาแทรกแซงและอธิบายไขความกระจ่างว่า “เราได้พูดจากับทางตัวแทนของรัสเซีย และได้รับแจ้งว่าเครื่องบินทางทหารของพวกเขาซึ่งลงจอดในเวเนซุเอลานั้น จะออกไปในวันศุกร์และจะกลับไปยังรัสเซีย” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://thehill.com/policy/defense/421056-russia-planning-to-pull-bombers-from-venezuela-on-friday-white-house-says)

ช่วงเวลาเหล่านี้ต้องถือเป็นช่วงเวลาที่พิเศษผิดธรรมดาในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอเมริกา เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งยังคงมีอิทธิพลบารมีอยู่มากแม้ในปัจจุบัน -ผู้แปล) ได้เคยตั้งคำถามที่มีชื่อเสียงโด่งดังว่า “ผมจะโทรศัพท์หาใครล่ะ ถ้าผมต้องการที่จะพูดกับยุโรป?” เวลานี้มอสโกก็กำลังติดอยู่กับคำถามทำนองนี้เช่นกันในเรื่องความสัมพันธ์กับวอชิงตัน ประเด็นก็คือ ในหมู่แวดวงชนชั้นนำของวอชิงตันนั้น มีศูนย์อำนาจอยู่หลายหลากศูนย์ ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกวังเครมลิน อาจจะพูดเป็นนัยๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อตอนที่เขาแถลงในวันศุกร์ (14 ธ.ค.) ว่า มอสโกยังคงเชื่อมั่นว่า การประชุมซัมมิตระหว่างปูตินกับทรัมป์ “เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทั้งสองฝ่ายเท่าๆ กัน” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://tass.com/politics/1036024)

(เก็บความจากที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ https://indianpunchline.com ทั้งนี้ข้อเขียนชิ้นนี้ยังได้รับการเผยแพร่ทาง Newsclick https://www.newsclick.in/russian-deployment-venezuela-served-purpose ด้วย)


กำลังโหลดความคิดเห็น