xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เดินหน้ากดดัน UN แบนอิหร่านจากการพัฒนาขีปนาวุธ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ
รอยเตอร์ - วอชิงตันจะผลักดันคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ให้ใช้จุดยืนที่แข็งกร้าวต่ออิหร่าน ซึ่งกำลังทำงานพัฒนาศักยภาพขีปนาวุธนำส่งอาวุธนิวเคลียร์และต่อกรณีที่ดำเนินการยิงขีปนาวุธหลายต่อหลายครั้ง ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในวันพุธ (12 ธ.ค.)

พอมเพโอยังเรียกร้องไม่ควรยกเลิกมาตรการปิดล้อมด้านอาวุธ (arms embargo) ซึ่งกำหนดเล่นงานอิหร่าน ในปี 2020 และร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดมาตรการตรวจตราและสกัดการลักลอบตามท่าเรือต่างๆ หรือทะเลหลวง เพื่อขัดขวางความพยายามของอิหร่านในการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางอาวุธ

“อิหร่านคือท่าเทียบเรือของอัลกออิดะห์, สนับสนุนนักรบตอลิบานในอัฟกานิสถาน, จัดหาอาวุธแก่พวกก่อการร้ายในเลบานอน, อำนวยความสะดวกแก่การค้าผิดกฎหมายในโซมาเลียเพื่อประโยชน์ของพวกอัล-ชาบับ รวมถึงฝึกฝนและมอบอาวุธยุทโธปกรณ์แก่นักรบชีอะห์ในอิรัก” พอมเพโอบอกกับที่ประชุมคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องการนำมาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นที่กำหนดต่ออิหร่านไปปฏิบัติ

รัสเซียและจีน ซึ่งมีอำนาจวีโต้ในคณะมนตรีความมั่นคงฯ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ, ฝรั่งเศส และอังกฤษ ดูเหมือนจะไม่สนับสนุนมาตรการที่เสนอโดยพอมเพโอ โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ รัสเซียเคยวีโต้ความพยายามของตะวันตกที่ต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงฯประณามอิหร่านในมติที่เกี่ยวกับเยเมนมาแล้ว

ภายใต้มติ 2231 ของคณะมนตรีความมั่นคแห่งสหประชาชาติ ที่รับรองข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ได้เรียกร้องอิหร่านยับยั้งจากงานออกแบบขีปนาวุธใดๆที่มีแสนยานุภาพนำส่งอาวุธนิวเคลียร์เป็นเวลาสูงสุด 8 ปี แต่บางรัฐโต้แย้งว่าภาษาที่ใช้ในมตินั้นไม่ได้บังคับให้อิหร่านต้องปฏิบัติตาม

สหรัฐฯ ต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาขาติยกระดับความเข้มข้นของมาตรการดังกล่าว โดยพอมเพโออ้างถึงภาษาที่เคยใช้ในมติปี 2010 ที่ไม่จำเป็นต้องตีความใดๆ ในการห้ามอิหร่านจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวของกับพัฒนาแสนยานุภาพขีปนาวุธนำส่งอาวุธนิวเคลียร์ ในนั้นรวมถึงการปล่อยโดยใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธ

สหรัฐฯ, อังกฤษ และฝรั่งเศส กล่าวหาอิหร่านเพิกเฉยข้อจำกัดของยูเอ็นที่กำหนดต่อโครงการขีปนาวุธของเตหะราน ด้วยการทดสอบขีปนาวุธหลายต่อหลายครั้ง แต่อิหร่านยืนยันว่าขีปนาวุธเหล่านั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้บรรทุกอาวุธนิวเคลียร์

มาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นส่วนใหญ่ที่กำหนดต่ออิหร่านถูกยกเลิกไปในเดือนมกราคม 2016 เมื่อครั้งที่หน่วยงานเฝ้าระวังทางนิวเคลียร์ของยูเอ็นยืนยันว่าเตหะรานทำตามพันธสัญญาภายใต้ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำกับอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, จีน, รัสเซีย และสหรัฐฯ แต่อิหร่านยังคงอยู่ภายใต้มาตรการปิดล้อมด้านอาวุธของยูเอ็นและข้อจำกัดอื่นๆ

ข้อจำกัดและมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ของยูเอ็นถูกบรรจุในมติปี 2015 ซึ่งให้การรับรองข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 แม้ต่อมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เหล่ามหาอำนาจยุโรปอื่นๆ พยายามกอบกู้ข้อตกลงนี้กันอย่างสุดฤทธิ์


กำลังโหลดความคิดเห็น