xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์เดือด‘รัสเซีย-ยูเครน’ บ่อนทำลาย‘ซัมมิตทรัมป์-ปูติน’

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

<i>เรือ 3 ลำของกองทัพเรือยูเครน ซึ่งถูกฝ่ายรัสเซียยึดเอาไว้จากเหตุการณ์ที่ช่องแคบเคิร์ช ถูกนำมาจอดอยู่ที่ท่าเรือเมืองเคิร์ช แหลมไครเมีย </i>
Rising Crimea tensions mar Trump-Putin meeting
By M.K. Bhadrakumar
26/11/2018

เหตุการณ์เรือรัสเซียกับเรือยูเครนเผชิญหน้ากันที่ช่องแคบเคิร์ช ในแหลมไครเมีย ทำให้ประธานาธิบดีเปโดร โปโรเชนโก ของยูเครน รีบเร่งรัดให้ประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งเปิดทางให้เขาระงับการเลือกตั้งในต้นปีหน้าได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ฝ่ายตะวันตกที่ต่อต้านรัสเซีย ปลุกกระแสบ่อนทำลายการประชุมซัมมิตทรัมป์-ปูติน ที่อาร์เจนตินาสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

“ความขัดแย้งที่ถูกแช่แข็งเอาไว้” (‘frozen conflict’) ในยูเครน กลับตูมตามสำแดงอิทธิฤทธิ์ขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อวันอาทิตย์ (25 พ.ย.) ด้วยเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันระหว่างนาวีของฝ่ายยูเครนกับฝ่ายรัสเซีย ที่ช่องแคบเคิร์ช (Kerch Strait) ในแหลมไครเมีย โดยที่ช่องแคบนี้เป็นเส้นทางผ่านจากทะเลดำเข้าสู่ทะเลอะซอฟ (Sea of Azov) ฝ่ายรัสเซียได้ยึดเรือยูเครนจำนวน 3 ลำที่พยายามแล่นเข้าสู่ทะเลอะซอฟ (ในทะเลแห่งนี้ ยูเครนมีเมืองท่าอยู่ 2 แห่ง) ทั้งนี้เรือของรัสเซียได้ยิงใส่เรือของยูเครนเหล่านี้ โดยกล่าวหาว่าไม่ยอมฟังคำตักเตือนและล่วงล้ำน่านน้ำที่เป็นดินแดนของรัสเซีย ทำให้มีบุคลากรของยูเครนได้รับบาดเจ็บจำนวน 3 คน

ทะเลอะซอฟกำลังกลายเป็นจุดรวมศูนย์ของความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เคียฟยืนกรานว่าตนเองมีสิทธิที่จะแล่นเรือผ่านช่องแคบแห่งนี้ (ตามสนธิสัญญาที่ได้ทำไว้กับรัสเซียเมื่อปี 2003) แต่มอสโกยืนยันว่าเวลานี้ตนมีอภิสิทธิ์แห่งอำนาจอธิปไตยในการควบคุมช่องแคบเคิร์ชแล้ว

แน่นอนทีเดียว ความตึงเครียดขัดแย้งตรงนี้โดยพื้นฐานแล้วมีจุดเริ่มต้นจากการที่รัสเซียผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนเมื่อปี 2014 ยูเครนเรียกการผนวกดินแดนคราวนั้นว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เวลานี้มอสโกประเมินสถานการณ์ว่าพวกมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกกำลังกระตุ้นส่งเสริมยูเครนให้เพิ่มการปรากฏตัวด้านทัพเรือของตนในทะเลอะซอฟให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแน่ล่ะเรื่องนี้ย่อมมีนัยยะทางด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างสาหัสร้ายแรงต่อแหลมไครเมีย

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ยิ่งสับซับซ้อนขึ้นไปอีกก็คือ รัสเซียได้ก่อสร้างสะพานความยาว 19 กิโลเมตรคร่อมช่องแคบเคิร์ชเพื่อเชื่อมระหว่างไครเมียกับดินแดนแผ่นดินใหญ่ของรัสเซีย รัสเซียมีความระแวงสงสัยว่าอาจจะมีการเปิดปฏิบัติการลับเพื่อทำลายสะพานเคิร์ชแห่งนี้ ซึ่งกลายเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับแหลมไครเมียที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

จากรายละเอียดเท่าที่ปรากฏออกมาในเวลานี้ ยูเครนเร่งรัดให้เกิดเหตุการณ์ในวันอาทิตย์ (25 พ.ย.) คราวนี้ ทีนี้ ลองมาพิจารณาถึงเหตุผลกันว่าทำไมยูเครนจึงได้เคลื่อนไหวเช่นนี้ในตอนนี้? คำอธิบายประการหนึ่งก็คือทั้งหลายทั้งปวงอาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของยูเครนเอง กล่าวคือ ยูเครนกำลังจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและเลือกตั้งรัฐสภากันในเดือนมีนาคมปีหน้า โดยที่ เปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) ประธานาธิบดียูเครนคนปัจจุบันซึ่งเป็นพวกโปรอเมริกันนั้น กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะดำรงตำแหน่งต่อไปอีกสมัยหนึ่ง ทว่าเขาไม่เป็นที่นิยมของประชาชนเอาเลย โดยที่ในปัจจุบันเรตติ้งความยอมรับในตัวเขาอยู่ที่ 8% เท่านั้น เขาจึงไม่น่าที่จะได้รับเลือกตั้งอีกวาระหนึ่ง

เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากว่า โปโรเชนโกได้ฉวยใช้เหตุการณ์วันอาทิตย์ (25 พ.ย.) ที่ช่องแคบเคิร์ช เพื่อให้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/world/2018/nov/25/russia-border-guards-ram-tugboat-ukraine-navy-crimea) กฎกติกาตามกฎหมายกฎอัยการศึกของยูเครนนั้นให้อำนาจรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ทั้งการจำกัดห้ามปรามการชุมนุมเดินขบวนในที่สาธารณะ, การจัดระเบียบสื่อมวลชน, และกระทั่งการสั่งระงับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น มีความน่าจะเป็นอยู่ในระดับสูงทีเดียวที่โปโรเชนโกกำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางซึ่งมุ่งยกเลิกการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งรัฐสภาในปี 2019 ขณะที่สามารถหยิบยกเหตุผลขึ้นมารองรับสนับสนุนว่า ฝ่ายตะวันตกก็น่าจะพอใจให้ลูกไล่ที่ว่าได้ใช้ฟังของตนผู้นี้ครองอำนาจในกรุงเคียฟต่อไปไม่ว่าจะต้องสูญเสียอะไรกันบ้าง

แต่ก็อีกนั่นแหละ สถานการณ์ยูเครนยังถือเป็นแกนกลางของความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับพวกมหาอำนาจตะวันตกอีกด้วย จึงแน่นอนทีเดียวว่าโปโรเชนโกกล้าเดินเกมไปไกลและอันตรายเกินกว่าปกติในคราวนี้ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างเงียบๆ ในบางระดับจากศูนย์อำนาจของฝ่ายตะวันตกบางแห่ง ซึ่งอาจจะต้องการเย้าแหย่หมีขาวรัสเซียเพื่อดูว่ามันจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร

เรื่องยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นอีก เมื่อพวกตัวแทนของฝ่ายต่อต้านรัสเซียในยุโรปและในองค์การนาโต้ กับพวก “อำนาจเก่าที่ฝังรากลึก” (Deep State) ในสหรัฐฯ (โดยเฉพาะอย่างในกระทรวงกลาโหมอเมริกัน) นั้นถือเป็นวงศาคณาญาติกันในเรื่องการต่อต้านคัดค้านวาระของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะปรับปรุงยกระดับความสัมพันธ์กับรัสเซีย จุดที่น่าสังเกตเป็นอย่างมากก็คือ เหตุการณ์ที่ช่องแคบเคิร์ชเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนการประชุมพบปะกันตามที่นัดหมายกันไว้ ระหว่าง ทรัมป์ กับ วลาดิมีร์ ปูติน ที่อาร์เจนตินาในช่วงสุดสัปดาห์นี้

วังเครมลินนั้นเพิ่งส่งสัญญาณออกมาว่า การประชุมในอาร์เจนตินายังจะมีขึ้นตามกำหนดเดิม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://tass.com/politics/1032609) แต่ว่าพวกต่อต้านรัสเซียจากทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติกกลุ่มนี้คงจะพยายามต่อไปเพื่อบ่อนทำลายการหารือคราวนี้ ถ้าหากไม่ถึงกับสามารถทำให้พังครืนประชุมกันไม่ได้ไปเลย ความหวาดกลัวของพวกเขานั้นมีอยู่ว่า เวลานี้ (ภายหลังการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯแล้ว) ทรัมป์กำลังอยู่ในสภาพยึดมั่นยืนกรานยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา และอาจจะถึงขั้นบอกปัดไม่ฟังเสียงคัดค้านเอาดื้อๆ เพื่อเดินหน้าไปตามวาระของเขาในการปรับปรุงสายสัมพันธ์กับรัสเซีย

แน่นอนอยู่แล้วว่า ค่ายตะวันตกที่ปฏิเสธไม่ยอมรับแนวทางเข้าหารัสเซียของทรัมป์นั้น ไม่ยอมเสียเวลาเลยในการออกมาประณามมอสโกสำหรับเหตุการณ์ที่ช่องแคบเคิร์ช ทั้งสหภาพยุโรป, องค์การนาโต้, และฝรั่งเศส ต่างแสดงจุดยืนด้วยเสียงดังลั่นที่เรียกร้องให้รัสเซียต้องปล่อยเรือยูเครนที่ยึดไว้และปล่อยบุคลากรชาวยูเครนที่กักขังไว้ ด้านมอสโกได้ตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้จัดการประชุมวาระฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขณะเดียวกัน สำนักข่าวสปุตนิก (Sputnik) ของทางการรัสเซีย รายงานว่า เครื่องบินจารกรรมของสหรัฐฯซึ่งปกติประจำการอยู่ที่เกาะครีต ได้เข้าสู่พื้นที่ทะเลดำแล้วในตอนเช้าวันจันทร์ (26 พ.ย.)

แน่นอนทีเดียว สามารถคาดการณ์ได้ว่าการที่ฝ่ายตะวันตกจะถึงขั้นเข้าแทรกแซงทางทหารอย่างเปิดเผยนั้นคงไม่เกิดขึ้นหรอก แต่อันตรายอยู่ตรงที่ว่าพวกหัวแข็งกร้าวชาวยูเครนจะต้องรู้สึกได้รับกำลังใจจากแรงสนับสนุนของฝ่ายตะวันตก จนอาจดำเนินการเพื่อยั่วยุคัดค้านรัสเซียเพิ่มมากขึ้นซึ่งอาจจะนำไปสู่การสู้รบขัดแย้งกัน การปะทุตัวขึ้นอย่างรุนแรงในดินแดนดอนบาสส์ (Donbass ดินแดนภาคตะวันออกของยูเครน) ระหว่างกองทัพยูเครน กับพวกแบ่งแยกดินแดน (ที่ได้รับการหนุนหลังจากรัสเซีย) ก็เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นมาใหม่เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นอันไหน ย่อมจะช่วยให้พวกนักรบสงครามเย็น สามารถฉวยใช้เอามาตราหน้ารัสเซียว่าเป็นปีศาจร้าย เป็นมหาอำนาจนักจองเวรไม่ยอมเลิกซึ่งกำลังคุกคามความมั่นคงของยุโรป แล้วเรื่องนี้ยังจะถูกนำไปใช้ต่อไปอีก ในฐานะเป็นหลักฐานยืนยันว่านาโต้สมควรเพิ่มการหนุนหลังยูเครนมากยิ่งขึ้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kyivpost.com/ukraine-politics/ukrinform-poroshenko-stoltenberg-agree-to-convene-emergency-meeting-of-nato-ukraine-commission.html) และฝ่ายตะวันตกสมควรที่จะออกมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียเพิ่มมากขึ้นอีก

ในสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ การพบปะหารือที่กำลังจะเกิดขึ้นในอาร์เจนตินาระหว่างทรัมป์กับปูติน จึงไม่น่าที่จะเกิดดอกเกิดผลอะไรได้นัก น่าแปลกอยู่เหมือนกันว่า ความแตกร้าวของสองฟากฝั่งแอตแลนติก –ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, อิหร่าน, งบประมาณขององค์การนาโต้, ผู้อพยพ, ดุลการค้า ฯลฯ – ได้ก่อให้เกิดมิติใหม่ขึ้นมา โดยที่ยุโรปจับมือเป็นพันธมิตรกับพวกศัตรูของทรัมป์ในสหรัฐฯ ในความพยายามร่วมกันเพื่อขัดขวางแผนการที่ได้มีการจัดวางเอาไว้เป็นอย่างดีที่สุดของเขาในเรื่องการจับมือทำธุรกิจกับรัสเซีย

(จากเว็บไซต์ https://indianpunchline.com)


กำลังโหลดความคิดเห็น