รอยเตอร์ - รัฐบาลมาเลเซียส่งเสริมให้มีการแปรสภาพที่ดินหลายพันไร่เป็นสวนทุเรียน เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดจีนซึ่งมีความต้องการบริโภค ‘ราชาแห่งผลไม้’ นี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทุเรียนซึ่งบางคนว่ามีกลิ่นเหมือน ‘ท่อระบายน้ำ’ หรือ ‘น้ำมันสน’ ขณะสุกงอมกำลังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมหาศาล แม้แต่เศรษฐีที่ดินหรือผู้ผลิตปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของมาเลเซียก็เริ่มจู่โจมเข้าสู่ธุรกิจทุเรียนซึ่งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
รัฐบาลเสือเหลืองสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำสวนทุเรียนบนพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้ได้ถึง 50% ภายในปี 2030
ลิม ชินคี (Lim Chin Khee) ที่ปรึกษาด้านธุรกิจทุเรียน ระบุว่า “อุตสาหกรรมทุเรียนกำลังแปรสภาพจากเกษตรกรรมท้องถิ่นไปสู่การทำสวนทุเรียนขนาดใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการจากตลาดจีน... เมื่อก่อนนี้ชาวมาเลเซียปลูกทุเรียนกันแบบสบายๆ แต่เดี๋ยวนี้พื้นที่สวนถูกขยายใหญ่โต และคงจะมากขึ้นเรื่อยๆ”
ผลไม้กลิ่นแรงชนิดนี้ถือเป็นของต้องห้ามตามสนามบิน ระบบขนส่งมวลชน หรือโรงแรมบางแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าชาวจีนกลับชื่นชอบเป็นพิเศษ โดยมีการนำทุเรียนไปแปรรูปเป็นอาหารหลายชนิด เช่น พิซซ่า, เนย, น้ำสลัด และนม เป็นต้น
“ตอนแรกฉันก็เกลียดทุเรียน เพราะคิดว่ามันมีกลิ่นแปลกๆ” เฮเลน ลี วัย 26 ปี ลูกค้าร้านพิซซาในนครเซี่ยงไฮ้ให้สัมภาษณ์ขณะนั่งรับประทานพิซซาทุเรียนราคา 60 หยวน (ราว 285 บาท) “แต่พอลองชิมดู มันอร่อยมากเลยนะ ฉันว่าสาเหตุที่คนเกลียดทุเรียนก็เพราะกลิ่นของมัน แต่ถ้าลองกินดูพวกเขาอาจเปลี่ยนความคิด”
เฉิน เว่ยห่าว (Chen Weihao) เจ้าของร้านอาหารในนครเซี่ยงไฮ้ซึ่งเสนอเมนู ‘หม้อไฟไก่ทุเรียน’ ในราคา 148 หยวน (ราว 700 บาท) ระบุว่า ทางร้านขายทุเรียนนำเข้าจากประเทศไทยเดือนละ 20-25 กิโลกรัม
“รสชาติของทุเรียนที่หวานสดชื่นให้ความรู้สึกเหมือนเดินทางไปประเทศเขตร้อน” หยางหยาง ลูกค้าวัย 27 ปี กล่าว
ทุเรียนพันธุ์ ‘มูซัง คิง’ (Musang King) ของมาเลเซียซึ่งมีผิวสัมผัสนุ่มลิ้นและรสชาติหวานปนขมกำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงในจีน ราคาทุเรียนสายพันธุ์นี้ขยับเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกไปทั่วประเทศ
ฐานข้อมูลการค้าขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า จีนนำเข้าทุเรียนมากถึง 350,000 ตันในปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (16,860 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า โดยเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์เป็นทุเรียนนำเข้าจากไทยซึ่งถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกทุเรียนเบอร์หนึ่งของโลก
แม้ทุเรียนมาเลเซียจะยังเข้าไปตีตลาดจีนได้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลเสือเหลืองตั้งเป้าส่งออกทุเรียนเพิ่มเป็น 22,061 ตันให้ได้ภายในปี 2030 จากระดับ 14,600 ตันที่คาดว่าจะทำได้ในปีนี้ หลังมีการเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อขอส่งออกทุเรียนทั้งลูก จากปัจจุบันที่สามารถส่งไปขายได้ในรูปทุเรียนแกะเปลือกและแช่แข็งเท่านั้น
กระทรวงเกษตรมาเลเซียให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ทางอีเมลว่า “การปลูกทุเรียนไม่ใช่แค่งานอดิเรกอีกต่อไป เพราะเวลานี้ทุเรียนมีค่าราวกับทองคำในอุตสาหกรรมการเกษตร”
มาเลเซียมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 450,000 ไร่ในปีที่แล้ว และมีแนวโน้มจะขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันบางแห่งเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนซึ่งทำเงินได้ดีกว่าแทน
รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรมาเลเซียคนก่อนให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อเดือน มี.ค. ว่า สวนทุเรียนพันธุ์มูซังคิง 1 เฮกตาร์ (6.25 ไร่) อาจทำเงินได้มากกว่าสวนปาล์มน้ำมัน 1 เฮกตาร์เกือบ 9 เท่าตัว
อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์ในมาเลเซียได้ออกมาเตือนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะกระแสเห่อปลูกทุเรียนอาจนำไปสู่การแผ้วถางและทำลายป่าฝนซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าหายาก
หนังสือพิมพ์เดอะสตาร์รายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า พื้นที่ราว 7,500 ไร่ใกล้กับป่าอนุรักษ์ในรัฐปะหังซึ่งเป็นที่อยู่ของเสือโคร่งมลายู (Malayan tiger) กำลังจะถูกแปรสภาพเป็นสวนทุเรียนมูซังคิง
เจ้าหน้าที่รัฐปะหังยังปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้
“อีกไม่นานกระแสทุเรียนบูมก็จะเข้าสู่วงจรเดียวกับปาล์มน้ำมัน” ชาริฟฟา ซาบรินา ซายเอ็ด อากิล ประธานองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม เปกา มาเลเซีย (Peka Malaysia) ระบุ