รอยเตอร์ - สหรัฐฯ และจีนเปิดศึกลับฝีปากทั้งในเรื่องข้อพิพาทการค้า การลงทุน และความมั่งคงในภูมิภาค ระหว่างการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งเปิดฉากขึ้นที่เมืองหลวงปาปัวนิวกินีในวันนี้ (17 พ.ย.) ท่ามกลางสัญญาณความแตกแยกในหมู่รัฐภาคีที่บ่งบอกว่าการบรรลุซึ่งจุดยืนร่วมคงไม่ใช่เรื่องง่าย
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนเอ่ยเตือนว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกกำลังถูกบดบังด้วยเงาของลัทธิกีดกันการค้า (protectionism) และการกระทำฝ่ายเดียว (unilateralism) ขณะที่รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ของสหรัฐฯ ซึ่งถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในการประชุมเอเปกปีนี้ ยืนยันว่าอเมริกาจะไม่ยกเลิกกำแพงภาษี จนกว่าจีนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
นักการทูตคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่จัดทำร่างแถลงการณ์ร่วมของผู้นำเอเปกยอมรับกับรอยเตอร์ว่า มีปมขัดแย้งบางเรื่องที่ยังแก้ไม่ตก และประเทศเจ้าภาพอย่างปาปัวนิวกินีก็ยังไม่สามารถคิดหาถ้อยคำซึ่งจะเป็นที่ยอมรับของทุกๆ ฝ่ายได้
เพนซ์ กล่าวโจมตีโครงการ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road) ของจีนแบบไม่อ้อมค้อม โดยเตือนทุกประเทศว่าไม่ควรหลงชื่นชมยินดีไปกับวงเงินกู้ที่ทำให้อธิปไตยของชาติอ่อนแอลง
“เราไม่เคยเสนอเข็มขัดที่บีบรัด หรือถนนแบบวันเวย์” เพนซ์ กล่าวต่อที่ประชุมผู้นำธุรกิจเอกชนเอเปก (APEC CEO summit) ซึ่งจัดขึ้นบนเรือสำราญที่จอดเทียบท่าอยู่ในอ่าวแฟร์แฟกซ์
ความพยายามของจีนที่จะดึงประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกเข้าไปอยู่ในวงล้อมได้สร้างความวิตกกังวลต่อมหาอำนาจเก่าในภูมิภาคอย่างออสเตรเลียและสหรัฐฯ
นอกจาก ทรัมป์ จะไม่เดินทางมาด้วยตัวเองแล้ว ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ก็ไม่ได้มาร่วมการประชุมเอเปกที่ปาปัวนิวกินีเช่นกัน
สี ยืนยันว่า โครงการ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ ซึ่งตนได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2013 มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา และไม่ได้มีวาระทางการเมืองแอบแฝง
“โครงการนี้ไม่ได้กีดกันใครทั้งสิ้น ไม่ใช่กลุ่มเฉพาะที่ปิดตัวไม่ต้อนรับคนภายนอก และก็ไม่ใช่กับดักอย่างที่บางคนว่าไว้” สี กล่าว
ทางด้าน เพนซ์ ก็ฝากคำเตือนถึงประเทศเล็กๆ ที่รับเงินอุดหนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจากจีนว่า พวกเขาอาจต้องแบกรับหนี้สินที่บริหารจัดการไม่ไหว
“อย่ายอมเป็นหนี้ต่างชาติ ถ้ามันจะทำให้อำนาจอธิปไตยของคุณอ่อนแอลง จงปกป้องผลประโยชน์ของตน รักษาความเป็นเอกราชของตน และเอาอย่างอเมริกาที่เห็นผลประโยชน์ของชาติตนเองมาเป็นที่หนึ่งเสมอ” เพนซ์ กล่าว
เพนซ์ ระบุด้วยว่า สหรัฐฯ จะร่วมมือกับออสเตรเลียเพื่อช่วยรัฐบาลปาปัวนิวกินีสร้างฐานทัพเรือบนเกาะมานัส (Manus Island) โดยเกาะแห่งนี้เคยเป็นฐานของกองทัพอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน
แผนการที่ว่านี้มีขึ้นหลังจากจีนมีแนวโน้มจะคว้าสัญญาก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในปาปัวนิวกินี ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการเดินเรือของฝ่ายตะวันตกในแปซิฟิก และยังช่วยให้จีนมีเขตอิทธิพลใหม่ไม่ไกลจากฐานทัพสหรัฐฯ บนเกาะกวม
ผู้นำชาติเอเปกอื่น ๆ มีมุมมองในเรื่องการค้าแตกต่างกันออกไป บ้างก็เรียกร้องให้ปฏิรูประบบการค้าอย่างถึงรากถึงโคน ขณะที่บางคนก็สนับสนุนให้คงสถานะปัจจุบัน (status quo) ของความเป็นโลกาภิวัตน์เอาไว้
นายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮาหมัด แห่งมาเลเซียเตือนว่า โลกาภิวัตน์กำลังทำให้คนบางกลุ่มถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง และเป็นสาเหตุของความไม่เท่าเทียม ขณะที่นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลียกล่าวปกป้องระบบการค้าเสรีว่ามีส่วนช่วยให้ประชากรนับพันล้านคนหลุดพ้นจากวงจรความยากจนมาตั้งแต่ปี 1991 เนื่องจากตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าถูกลง