รอยเตอร์ - ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์เผยแพร่วันนี้ (12 พ.ย.) พบว่า บริษัทชั้นนำหลายแห่งในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากยังมีการดำเนินงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กำหนดขึ้น
ยูเอ็นได้วางหลักการให้ทุกๆ บริษัทต้องเคารพสิทธิมนุษยชนและให้ความเท่าเทียมต่อแรงงาน รวมถึงต่อต้านปัญหาการใช้แรงงานเด็กและรับรองการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อสตรี
อย่างไรก็ตาม องค์กร Corporate Human Rights Benchmark (CHRB) ในอังกฤษซึ่งได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทสิ่งทอ การเกษตร และอุตสาหกรรมสกัดต่างๆ กว่า 100 แห่ง พบว่าหลายบริษัทยังคงสอบตกเกณฑ์มาตรฐานเหล่านี้
อาดิดาส (Adidas) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อดังทำคะแนนได้สูงสุด 87 เต็ม 100 ตามผลการจัดอันดับซึ่งวัดจากแนวทางปฏิบัติและนโยบายของบริษัทว่าด้วยเรื่องความโปร่งใส การบังคับใช้แรงงาน และค่าแรงสำหรับการครองชีพขั้นต่ำ (living wage)
บริษัทที่มีคะแนนรองลงมาได้แก่ บริษัทเหมือง ริโอ ทินโต และ บีเอชพี บิลลิตัน ส่วน 2 อันดับท้ายตารางตกเป็นของกุ้ยโจวเหมาไถ (Kweichow Moutai) ผู้ผลิตสุราสัญชาติจีน และแบรนด์แฟชั่น Heilan Home
ผลการศึกษาพบว่า บริษัทเกือบ 2 ใน 3 ทำคะแนนได้ต่ำกว่า 30 และมีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 27 คะแนนเท่านั้น
“บริษัทส่วนใหญ่ยังถือว่าสอบตก” มาร์กาเร็ต วาเชนเฟลด์ ผู้อำนวยการ CHRB ระบุในถ้อยแถลง
บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกเผชิญแรงกดดันจากทั้งภาครัฐและผู้บริโภคให้ต้องควบคุมการดำเนินงานไม่ให้มีการใช้แรงงานทาส ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนประเมินว่ายังมีประชากรเกือบ 25 ล้านคนทั่วโลกตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงาน
CHRB ระบุว่า บริษัทกว่าร้อยละ 40 มีคะแนนด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็น ‘ศูนย์’ เนื่องจากขาดการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาแรงงานถูกล่วงละเมิด
อย่างไรก็ดี CHRB ย้ำว่า การได้คะแนนต่ำไม่ได้หมายความว่าบริษัทนั้นๆ มีการดำเนินงานที่ไม่เหมาะสม เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการปกป้องสิทธิแรงงานมากเท่าที่ควร
กุ้ยโจวเหมาไถและอีก 2 บริษัทซึ่งได้คะแนนรองบ๊วยคือ Heilan Home รวมถึงผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง มอนสเตอร์ เบฟเวอเรจ ในสหรัฐฯ ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานชิ้นนี้ ขณะที่ร้านกาแฟชื่อดัง สตาร์บัคส์ และแบรนด์แฟชั่นหรูอย่าง พราดา (Prada) และ แอร์เมส (Hermes) ล้วนติดอันดับเกือบท้ายตาราง
โฆษกสตาร์บัคส์ยืนยันว่า บริษัทมีนโยบาย ‘ความอดทนเป็นศูนย์’ ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทุ่มเทเพื่อให้ผู้บริโภคได้ดื่มกาแฟ “จากแหล่งผลิตที่มีจริยธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ด้านแอร์เมสยืนยันเช่นกันว่า สิทธิมนุษยชนและกฎหมายแรงงานคือหนึ่งในค่านิยมหลัก (core values) ขององค์กรและสายการผลิตทุกขั้นตอน
ทั้งสองบริษัทยังแสดงความกังขาต่อระเบียบวิธีวิจัยของ CHRB ซึ่งไม่ได้สะท้อนความมุ่งมั่นของบริษัทในการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน
CHRB เรียกร้องให้นักลงทุนมีส่วนช่วยกระตุ้นให้บริษัทที่ยังมีคะแนนต่ำแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานองค์กรให้ดีขึ้น