xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย ‘สงครามโลกครั้งที่ 1’เปลี่ยนโฉมช่วงศตวรรษที่ 20 และวันเวลาถัดจากนั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>ทหารม้าฝรั่งเศสเดินทัพผ่านไปทางภาคเหนือของประเทศ หลังผลักดันฝ่ายเยอรมันให้ถอยออกไป ในภาพตกทอดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมิได้มีการระบุวันที่ถ่ายภาพ </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – ขณะที่เสียงปืนสงบลงในปี 1918 หรือเมื่อ 100 ปีก่อน พวกชาติผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ล้วนแต่เห็นพ้องต้องกันอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ เยอรมนีจะต้องชำระค่าเสียหาย

ชำระเท่าใดนั้นเป็นเรื่องที่มีการถกเกียงกัน ทว่าไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่า สิ่งซึ่งตกลงกันภายหลังมหาสงครามครั้งนั้น ดังที่ปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ก็คือจะมีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างสาสม

เยอรมนีได้จ่ายค่าเสียหายจริงๆ ทว่ามันไม่ใช่เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวหรอก เวลาผ่านพ้นไปแล้ว 100 ปี โลกยังคงอยู่กับผลพวงต่อเนื่องหลายๆ อย่างของข้อตกลงสันติภาพดังกล่าว ซึ่งแม้กระทั่งในขณะนั้นเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังสร้างสงครามใหม่อีกครั้งหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขึ้นในยุโรป –ทวีปที่มีฐานะเป็นผู้ครอบงำโลกมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ

นักเศรษฐศาสตร์ จอร์จ เมนาร์ด เคย์นส์ ซึ่งเวลานั้นเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหราชอาณาจักร ได้ลาออกจากตำแหน่งแทนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาซึ่งเขาประณามว่าเป็น ข้อตกลงสันติภาพ “แบบชาวคาร์เธจ” ที่แข็งกร้าวรุนแรงมุ่งเล่นงานผู้แพ้ให้พังพินาศไป ส่วน จอมพลแฟร์ดินอง ฟอช ของฝรั่งเศส วินิจฉัยได้ค่อนข้างแม่นยำทีเดียวว่า มัน “ไม่ค่อยจะเป็นสัญญาสันติภาพหรอก หากแต่เป็นสัญญาสงบศึก 20 ปีมากกว่า”

“สงครามที่จะยุติสงครามทั้งมวล” กลับคลี่คลายกลายเป็นสิ่งตรงกันข้าม ด้วยการสร้างหลักประกันให้เยอรมนีประสบความพินาศทางเศรษฐกิจและการถูกดูหมิ่นเหยียดยามทางการเมือง ข้อตกลงหลังสงครามจึงรังแต่จะจัดเตรียมพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์สำหรับการผงาดขึ้นมาของลัทธินาซีและความสยดสยองของลัทธินี้เท่านั้น
<i>ทหารเคลื่อนพลในเบลเยียมเพื่อไปยังแนวหน้า โดยใช้สุนัขลากจูงปืนกลและเครื่องกระสุน </i>
นอกเหนือจากเยอรมนีแล้ว สนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์ยังส่งผลทำให้เกิดการลากเส้นแบ่งประเทศในยุโรปกันใหม่อย่างขนานใหญ่, จักรวรรดิของผู้แพ้สงครามถูกหั่นเฉือน และสร้างความขัดแย้งในอนาคตขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกับที่ก่อตั้งประเทศใหม่ๆ และแนวพรมแดนใหม่ๆ ตั้งแต่รัฐแถบทะเลบอลติก ไปจนถึงตุรกี ผ่านเชโกสโลวาเกีย และยูโกสลาเวีย

มหาสงครามยังทำให้จักรวรรดิรายเดิมๆ อ่อนแอลง ขณะที่กระแสเรียกร้องเอกราชในบรรดาอาณานิคมทั้งหลายก็แรงกล้าขึ้นเป็นลำดับ

การปฏิวัติรัสเซีย และการผงาดเป็นพี่เบิ้มของสหรัฐฯ

สิ่งที่สำคัญพอๆ กันก็คือ สงครามครั้งนี้ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนเตาอบบ่มเพาะการปฏิวัติรัสเซียปี 1917

ท่ามกลางภูมิหลังที่รัสเซียเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างสิ้นหวัง และความล้มเหลวทางการทหาร ซึ่งทำให้จักรวรรดิของพระเจ้าซาร์อยู่ในอาการอัมพาต และอ่อนเปราะต่อการโจมตีล้มล้างจากพรรคบอลเชวิค ของ วลาดิมีร์ เลนิน ซึ่งจากนั้นเขาก็สถาปนาสหภาพโซเวียตที่มีฐานะเป็นรัฐเผด็จการแบบคอมมิวนิสต์

นโยบายเกษตรกรรมที่สร้างความหายนะส่งผลให้ผู้คนเรือนล้านต้องเสียชีวิตลงจากภาวะอดอยากในช่วงต้นทศวรรษ 1930 แล้วอีกเรือนล้านยังตายไปจากการกวาดล้างอย่างโหดเหี้ยมของ โจเซฟ สตาลิน ทายาทผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเลนิน

ลักษณะอีกด้านหนึ่งของสหภาพโซเวียต คือการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้น การก้าวขึ้นมาของพวกเขามีส่วนปลุกกระแสการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของดินแดนที่ตกเป็นอาณานิคมในทั่วโลก

เมื่อถึงประมาณกลางทศวรรษ 1930 เงื่อนไขต่างๆ ก็พรักพร้อมแล้วสำหรับการแบ่งยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

และการแบ่งเช่นนั้นเองก็กลายเป็นตัวผลิตสงครามเย็นขึ้นมา พร้อมๆ กับการแบ่งโลกใบนี้ให้กลายเป็นเขตอำนาจอิทธิพลของค่ายตะวันตก หรือไม่ก็เป็นเขตอำนาจอิทธิพลของค่ายโซเวียต รวมทั้งดุลแห่งอำนาจของโลกที่มีแต่ความไร้เสถียรภาพ ก็ช่วยโหมกระพือสงครามความขัดแย้งนับครั้งไม่ถ้วนไปตลอดทั่วทั้งโลกกำลังพัฒนา

ขณะที่เกียรติภูมิทางการเมืองของชาติผู้ชนะรายใหญ่ๆ อย่างสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ขึ้นไปถึงระดับสูงสุดในปี 1919 แต่มันก็ไม่สามารถบดบังความเบ่งบานบนเวทีระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งจะกลายเป็นมหาอำนาจหลักทั้งในทางเศรษฐกิจ, การทหาร, และทางการเมืองในค่ายตะวันตกในระยะเวลาอีกหลายทศวรรษต่อๆ มา

เปลี่ยนแปลงยกเครื่องตะวันออกกลางกันใหม่หมด

สงครามโลกครั้งที่ 1 ยังทิ้งเครื่องหมายอันยืนยาวคงทนเอาไว้ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างมหาสงคราม สหราชอาณาจักรใช้วิธีกระตุ้นส่งเสริมการก่อกบฏของชาวอาหรับ ซึ่งมีส่วนเร่งรัดการพังทลายของจักรวรรดิออตโตมัน ผู้เป็นพันธมิตรของเยอรมนี
<i>ทหารตุรกีเข้าแถวเพื่อตักน้ำจากน้ำพุแห่งหนึ่ง ด้านหลังแนวรบของพวกเขาในคาบสมุทรกัลลิโพลี </i>
ตุรกีที่เป็นรัฐฆราวาสแยกขาดจากศาสนา ปรากฏตัวขึ้นมาจากจักรวรรดิออตโตมันที่ถูกหั่นเฉือน ขณะที่สหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศสเข้าควบคุมพื้นที่จำนวนมากของโลกอาหรับในช่วงหลังมหาสงคราม

ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วสหราชอาณาจักรแสดงออกอย่างเปิดเผย โดยผ่านปฏิญญาบัลฟอร์ปี 1917 ว่าตนเองสนับสนุนหลักการของการก่อตั้งรัฐชาวยิวขึ้นมาบนดินแดนซึ่งลอนดอนเคยสัญญาที่จะส่งมอบให้ชาวอาหรับ

ท้ายที่สุดแล้ว การพังครืนของจักรวรรดิออตโตมัน ยังส่งผลทำให้เกิดการฆ่าฟันชาวอาร์มาเนีย ซึ่งหลายฝ่ายให้ตัวเลขสูงถึง 1.5 ล้านคน

วาระใหม่ทางสังคม

เหตุการณ์ต่างๆ ในรัสเซีย ทอดเงาทะมึนเหนือส่วนอื่นๆ ของยุโรป การปฏิวัติบอลเชวิคก่อให้เกิดความหวาดกลัวการลุกฮือ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยช่วยเร่งรัดให้มีการปฏิรูป ขณะเดียวกับที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักปฏิวัติในที่อื่นๆ ตลอดจนแก่ขบวนการเผด็จการฟาสต์ซิสต์ซึ่งเพิ่งตั้งเนื้อตั้งตัวใหม่ๆ ทว่าไม่ช้าไม่นานก็เข้ายึดอำนาจในอิตาลีได้

การลุกฮือของคนงานในเยอรมนีและในฮังการีทันทีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ถูกปราบปรามกวาดล้าง หรือไม่ก็พังครืนจากภายใน

แต่กระแสของคนงานหัวรุนแรงในประเทศอื่นๆ เป็นต้นว่า ในโรงงานเฟียต ที่เมืองตูริน ประเทศอิตาลี หรือในท่าเรือ เรด ไคลเดไซด์ ของสกอตแลนด์ ส่งผลให้มีความก้าวหน้าอย่างสำคัญในเรื่องเงื่อนไขต่างๆ ในการทำงาน และสิทธิของสหภาพแรงงานที่จะเป็นตัวแทนสมาชิกของตน
<i>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918 ขณะทหารอเมริกันส่งเสียงแสดงความยินดีภายหลังรับฟังรายงานข่าวที่ว่า มีการลงนามในสัญญาสงบศึกษาเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว </i>
มองในภาพกว้างออกไป ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือระยะเวลาแห่งความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว ในโลกที่กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมขึ้นอย่างมาก ตรงนี้เรื่องที่เตะตามากที่สุดย่อมได้แก่สิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิง ซึ่งในความทรงจำของผู้คนทั่วไปแล้ว มักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ได้มาเนื่องจากการที่สตรีเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม

มรดกทางบวกที่ชัดเจนน้อยกว่านั้นของสงครามที่ทำให้ผู้คนหลายๆ ล้านต้องพิกลพิการหรือเกิดบาดแผลทางจิตใจ ก็คือ มันทำให้เกิดความยอมรับทางสังคมเพิ่มขึ้นมากในเรื่องคนพิการ รวมทั้งยังเร่งรัดกระบวนการยุติการประทับตราบาปให้แก่ผู้ป่วยทางจิต

มหาสงครามคราวนั้นยังกระตุ้นกระแสคลื่นสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในแวดวงศิลปะ

กวีนิพนธ์ได้รับการฟื้นฟูในฐานะเป็นรูปแบบทางศิลปะอย่างหนึ่งในตลอดทั่วโลก ลัทธิดาดา, ขบวนการศิลปะอะวัง-การ์ด ถือกำเนิดขึ้นมาและจากนั้นก็นำไปสู่ลัทธิเหนือจริง

ดนตรีแจ๊ส ซึ่งพวกทหารอเมริกันนำเข้าไปในยุโรป ได้กลายเป็นเสียงแห่งลัทธิหลบหนีความเป็นจริง ตลอดจนเป็นนวัตกรรมของยุค roaring '20s


กำลังโหลดความคิดเห็น