เอเอฟพี - กระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ยุติการปิดปากเงียบนานหลายสิบปีในวันนี้ (7 พ.ย.) ด้วยการออกมาขอโทษเรื่องที่ทหารภายใต้กฎอัยการศึกข่มขืนผู้หญิงรวมถึงกลุ่มวัยรุ่นที่พวกเขาสลายในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยปี 1980
รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม จอง คยองดู ออกคำขอโทษต่อสาธารณะชนสำหรับ “การสร้างบาดแผลลึกและความเจ็บปวดเกินพรรณนา” แก่ “หญิงผู้บริสุทธิ์” ที่ถูกข่มขืนและถูกทารุณกรรมทางเพศโดยทหารที่เข้าปราบการประท้วงการรัฐประหารโดยนายพล ชุน ดูฮวาน
ผู้ประท้วงในเมืองกวางจูทางใต้และผู้สัญจรผ่านไปผ่านมาถูกทุบตีจนเสียชีวิต ถูกทรมาน ถูกแทงด้วยดาบปลายปืน และถูกชำแหละหรือถูกกระหน่ำยิงด้วยกระสุน
กลุ่มอนุรักษนิยมในเกาหลีใต้ยังคงประณามการประท้วงครั้งนั้นว่าเป็นการก่อกบฏโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์
อ้างจากตัวเลขของทางการ มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายกว่า 200 คน ในขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหว ระบุว่า ตัวเลขที่แท้จริงมากกว่านั้น 3 เท่า
ทหารของชุนเชื่อว่ายังได้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงอย่างแพร่หลาย แต่ประเด็นนี้ถูกซุกไว้ใต้พรมมานาน ในขณะที่เหยื่อเองก็ไม่เต็มใจที่จะก้าวออกมา
แนวโน้มดังกล่าวเปลี่ยนแปลงภายหลังชัยชนะในกรเลือกตั้งของ มุน แจอิน ประธานาธิบดีฝ่ายเสรีนิยมคนปัจจุบันที่เปิดเผยความจริงนี้เกี่ยวกับปฏิบัติการที่กวางจู และเมื่อหนึ่งในเหยื่อได้รับความกล้าจากกระแสการเคลื่อนไหว #MeToo ในเกาหลีใต้
เมื่อเดือนพฤษภาคม ผู้ประท้วงคนหนึ่ง คิม ซุนอ๊อก บอกกับผู้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า เธอถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนคนหนึ่งข่มขืนในปี 1980 ทำให้ทางการเริ่มการสืบสวนที่มี 17 กรณีได้รับการยืนยัน
“การสืบสวนยืนยันว่ามีการข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ และทรมานทางเพศเกิดขึ้นจริงโดยทหารยุคกฎอัยการศึก” รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ระบุในถ้อยแถลง
เหยื่อประกอบด้วยวัยรุ่นและหญิงสาวรวมถึง “นักศึกษาหญิงและหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมการประท้วงด้วยซ้ำ” เขา บอกในการแถลงข่าว
“ในนามของรัฐบาลและกองทัพ ผมเสียใจอย่างสุดซึ้งและขอโทษสำหรับบาดแผลลึกและความเจ็บปวดเกินพรรณนาที่เกิดกับเหยื่อผู้บริสุทธิ์” จอง กล่าว
แต่คิมไม่ยอมรับคำขอโทษ เธอบอกกับเอเอฟพีว่า “ดิฉันไม่ได้ฟังรับฟัง เพราะว่าประสบการณ์อันชอกช้ำของฉัน แต่ถ้าผู้กระทำผิดไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต่อให้ล้านคำขอโทษ มันก็ไม่มีความหมาย”