xs
xsm
sm
md
lg

ทรัมป์รับจำยอมผ่อนผันคว่ำบาตรอิหร่าน ป้องกันเศรษฐกิจ-ตลาดน้ำมันโลกเหวี่ยง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอพี – วอชิงตันที่มีพันธมิตรทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งสถานการณ์ที่แท้จริงของเศรษฐกิจโลกค้ำคออยู่ จำใจผ่อนผันพันธมิตรสำคัญบางชาติ และละเว้นจากการลงโทษอิหร่านหนักหน่วงที่สุด ด้วยการปิดโอกาสการส่งออกน้ำมันโดยสิ้นเชิง

อเมริกายอมให้จีน รวมทั้งพันธมิตรและหุ้นส่วนอีก 7 ประเทศ นำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ จากอิหร่านต่อไปโดยไม่ถูกลงโทษ เนื่องจากกังวลว่า หากตัดขาดการส่งออกน้ำมันอิหร่านทั้งหมดอาจดันราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งทะยานและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ ตัวประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยอมรับความจริงนี้ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในวันอังคาร (6 พ.ย.)

ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันจันทร์ (5 พ.ย.) ว่า อเมริกาบังคับใช้มาตรการลงโทษที่หนักหน่วงที่สุด แต่ตัดสินใจชะลอจังหวะสำหรับการแซงก์ชันน้ำมันเพราะไม่ต้องการกระตุ้นราคาในตลาดโลกหรือทำให้ตลาดปั่นป่วน

การฟื้นมาตรการแซงก์ชันครั้งใหม่พุ่งเป้าภาคพลังงาน การเงิน และการขนส่งสินค้า เพื่อบีบให้เตหะรานยุติโครงการขีปนาวุธและการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง

การดำเนินการครั้งนี้เป็นการฟื้นมาตรการแซงก์ชันทั้งหมดที่อเมริกาบังคับใช้ก่อนยกเลิกภายใต้ข้อตกลงปี 2015 เพื่อแลกกับการที่อิหร่านจำกัดโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งมีเสียงวิจารณ์คณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาที่ผลักดันข้อตกลงนี้ว่า อ่อนข้อให้เตหะรานมากเกินไป

เมื่อวันจันทร์ กระทรวงคลังสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการนี้อีกครั้งโดยประกาศลงโทษชาวอิหร่าน ตลอดจนถึงบุคคล นิติบุคคล เครื่องบิน และเรือที่เกี่ยวข้องกับอิหร่านรวมกว่า 700 รายชื่อ ในจำนวนนี้รวมถึงธนาคารอิหร่านและบริษัทในเครือ 50 แห่ง, บุคคลและเรือกว่า 200 รายการ, สายการบินอิหร่านแอร์ของทางการเตหะราน และเครื่องบินกว่า 65 ลำของสายการบินแห่งนี้

มาตรการแซงก์ชันมีผลในการอายัดทรัพย์สินของบุคคลและนิติบุคคลเหล่านั้นที่อยู่ในเขตอำนาจศาลของสหรัฐฯ และห้ามคนและบริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับบุคคลและนิติบุคคลเหล่านั้น รวมถึงบริษัทที่ไม่ใช่ของอิหร่านแต่ทำธุรกิจกับบริษัทและเจ้าหน้าที่อิหร่านที่ถูกแซงก์ชัน

กระนั้น แม้คณะบริหารของทรัมป์พยายามตัดรายได้จากน้ำมันของอิหร่าน แต่ต้องจำยอมอนุญาตให้กรีซ อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และตุรกี จัดซื้อน้ำมันอิหร่านต่อไปจนกว่าจะยุติการนำเข้าโดยสิ้นเชิง

3 ใน 8 ประเทศที่ได้รับการยกเว้นคือ กรีซ อิตาลี และตุรกี เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เช่นเดียวกับอเมริกา อีก 2 ประเทศคือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีสนธิสัญญาทางทหารร่วมกับวอชิงตัน รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในแผนการริเริ่มเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ส่วนอินเดียมีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์อินโด-แปซิฟิกเพื่อคานอำนาจจีนในภูมิภาคดังกล่าว

ทั้ง 8 ประเทศเหล่านี้ล็อบบี้อย่างหนักเพื่อให้ได้รับการละเว้นนาน 6 เดือน พร้อมให้สัญญาเดินหน้าลดหรือยุติการนำเข้า ขณะที่ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แจงว่า มาตรการยกเว้นนี้อิงกับสถานการณ์เฉพาะเจาะจงของแต่ละประเทศ และความจำเป็นในการทำให้มั่นใจว่า ตลาดน้ำมันมีอุปทานเหมาะสม

จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอิหร่านรายใหญ่สุด ดังนั้น การบังคับให้พญามังกรเปลี่ยนไปซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงมีแนวโน้มทำให้ตลาดปั่นป่วนรุนแรง

สำหรับบางประเทศที่ได้รับการยกเว้น เหตุผลสำคัญที่สุดคือความกังวลภายในประเทศ ตัวอย่างเช่นเกาหลีใต้ที่พึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โซลหารือกับคณะบริหารของทรัมป์มาตั้งแต่ที่อเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยบอกว่า จะลดการนำเข้าน้ำมันอิหร่านจำนวนมาก โดยที่มาตรการยกเว้นจะช่วยให้เกาหลีใต้รักษาเสถียรภาพปริมาณอุปทานน้ำมันดิบไลท์ครูดในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว

พอมเพโอพยายามคลายความกังวลของกลุ่มเคลื่อนไหวที่มีแนวทางต่อต้านอิหร่านอย่างรุนแรงที่วิจารณ์ว่า มาตรการแซงก์ชันล่าสุดไม่หนักหน่วงพอ ด้วยการย้ำว่า การกดดันของอเมริกาให้ประเทศต่างๆ หยุดซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านทำให้ยอดส่งออกของอิหร่านลดลงกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นรายได้ 2,500 ล้านดอลลาร์

“ยูไนเต็ด อะเกนสต์ อะ นิวเคลียร์ อิหร่าน” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเคลื่อนไหวสายเหยี่ยว ดูเหมือนเห็นด้วยกับแนวทางของคณะบริหารของทรัมป์ โดยระบุว่า มาตรการยกเว้นเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวและบังคับใช้เพียงครั้งเดียว

นอกจากการยกเว้นการนำเข้าน้ำมันสำหรับบางประเทศแล้ว พอมเพโอยังกล่าวว่า มีการยกเว้นโดยจำกัดเพื่อให้บริษัทของยุโรปและประเทศอื่นๆ ดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนรูป (conversion work) ในโรงงานนิวเคลียร์ 3 แห่งของอิหร่านต่อไป เพื่อให้สามารถคงการตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ด้านพลเรือนของอิหร่าน ควบคู่กับการกดดันให้เตหะรานยอมเจรจาข้อตกลงใหม่ที่เข้มงวดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น