นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีซึ่งเป็นผู้กุมบังเหียนนำเบอร์ลินและยุโรปฝ่าฟันวิกฤตการณ์ต่างๆ มาตลอด 13 ปี ประกาศแผนยุติบทบาททางการเมือง ไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อในปี 2021 หลังความนิยมที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลผสมของเธอลดฮวบจนทำให้พรรคต้องเผชิญความพ่ายแพ้ที่อับอายในศึกเลือกตั้งท้องถิ่น
แมร์เคิล ดำรงตำแหน่งประธานพรรคคริสเตียนเดโมแครตส์ (CDU) มาตั้งแต่ปี 2000 และครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเมืองเบียร์ต่อเนื่องมาแต่ตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งทำให้เธอเป็นหนึ่งในผู้นำตะวันตกที่ครองอำนาจยาวนานที่สุด
แมร์เคิล ได้รับยกย่องว่าเป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของโลก และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเธอคือผู้นำโดยพฤตินัยของยุโรป
ผ้นำหญิงเหล็กวัย 64 ปี ยืนยันว่าจะไม่ลงสมัครชิงหัวหน้าพรรค CDU ในการประชุมสมัชชาพรรคซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 ธ.ค. ที่เมืองฮัมบูร์ก และการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 4 นี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของเธอ โดยเธอจะไม่ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีหลังจากนี้ และไม่คิดแสวงหาตำแหน่งทางการเมืองในคณะกรรมาธิการยุโรปด้วย
“ถึงเวลาที่เราจะต้องก้าวไปสู่สิ่งใหม่ๆ” แมร์เคิล แถลงต่อสื่อมวลชน ณ ที่ทำการพรรค CDU พร้อมระบุว่าการตัดสินใจของเธอคงจะช่วยยุติความขัดแย้งในรัฐบาลผสม และทำให้ทุกฝ่ายหันมาโฟกัสที่การบริหารประเทศอย่างจริงจัง
พรรคคริสเตียนโซเชียลยูเนียน (CSU) ซึ่งเป็นพรรคน้องของ CDU ทำผลงานได้ย่ำแย่ที่สุดในศึกเลือกตั้งท้องถิ่นแคว้นบาวาเรียซึ่งเป็นฐานของพรรค และต่อมาพรรค CDU ของแมร์เคิล เองก็ได้คะแนนเสียงจากพลเมืองในรัฐเฮ็สเซิน (Hesse) เพียง 27% น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนถึง 11% และถือว่าตกต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านไม่ว่าจะเป็นทางปีกซ้ายอย่างพรรคกรีนส์ หรือพวกขวาจัดต่อต้านผู้อพยพอย่างพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (Alternative for Germany - AfD) ต่างได้รับคะแนนเสียงพุ่งพรวดไปอยู่ที่ประมาณ 20% และ 13% ตามลำดับ
ในส่วนของพรรคโซเชียลเดโมเครติก (SPD) ซึ่งร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับ CDU ของ แมร์เคิล ก็ทำผลงานได้ย่ำแย่พอกัน โดยได้คะแนนไม่ถึง 20% จากที่เคยได้มากกว่า 30% ในศึกเลือกตั้งครั้งก่อน
แมร์เคิล ยอมรับว่า ผลการเลือกตั้งของพรรค CDU ในแคว้นเฮ็สเซิน และพรรค CSU ในแคว้นบาวาเรียก่อนหน้าถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า “มีบางสิ่งบางอย่างผิดพลาด”
ตลอด 13 ปีที่เป็นผู้นำเบอร์ลิน แมร์เคิล ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึง 3 คน, ประธานาธิบดีฝรั่งเศส 4 คน และนายกรัฐมนตรีอังกฤษอีก 4 คน ซึ่งสายสัมพันธ์ระหว่างเธอกับผู้นำเหล่านี้ก็เป็นไปอย่างอบอุ่น แต่แล้วก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหลายอย่างของเธอ ทั้งเรื่อง็การค้า ความมั่นคง และการจัดการปัญหาผู้อพยพ
แมร์เคิล มีบทบาทสำคัญในการผนึกกำลังชาติยุโรปต่อต้านพฤติกรรมก้าวร้าวที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียกระทำต่อยูเครน ทั้งยังเป็นผู้นำในการแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซน โดยบังคับให้กรีซต้องยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดเพื่อแลกกับแพ็กเกจช่วยเหลือ และแม้มันทำให้เธอเป็นที่ชิงชังในหมู่ชาวกรีซ แต่ก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับชาวเยอรมันซึ่งไม่ต้องการแบกรับภาระหนี้ของชาติอื่น
ความนิยมในตัว แมร์เคิล เริ่มเสื่อมลงตั้งแต่เธอตัดสินใจเปิดพรมแดนต้อนรับผู้อพยพเมื่อปี 2015 จนทำให้มีผู้ขอลี้ภัยหลั่งไหลเข้าสู่เยอรมนีมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่หนีความยากจนและภัยสงครามมาจากตะวันออกกลางและที่อื่นๆ
ปัญหาสังคมและอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นได้ปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวเยอรมัน และเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองในเยอรมนีไปอย่างสิ้นเชิง เวลานี้พรรค AfD ซึ่งชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านอันดับ 1 ในสภาบุนเดสถัก และผลการเลือกตั้งที่รัฐเฮสเซินก็ทำให้ AfD ได้มี ส.ส. อยู่ในสภาท้องถิ่นของเยอรมนีครบทุกรัฐ
CSU ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรของ แมร์เคิล พยายามจะรักษาฐานเสียงของตนเองไว้ด้วยการหันมาชูนโยบายกีดกันผู้อพยพอย่างแข็งกร้าว ซ้ำยังวิพากษ์วิจารณ์ แมร์เคิล อย่างเปิดเผย แต่นั่นกลับยิ่งทำให้พรรคสูญเสียคะแนนนิยมจากกลุ่มพลเมืองสายกลางมากขึ้นไปอีก
หนังสือพิมพ์ซึดดอยช์ไซตุงของเยอรมนีชื่นชมการตัดสินใจของ แมร์เคิล โดยยกย่องผู้นำหญิงซึ่งมีบุคลิกเคร่งขรึมจนค่อนไปในทางเย็นชาผู้นี้ว่า “มีความจริงใจกับตนเอง” ขณะที่ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ก็ชมเชยนายกฯ เมืองเบียร์ว่า “ตัดสินใจอย่างมีเกียรติ”
แกนนำคนสำคัญซึ่งถูกคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรค CDU แทนที่ แมร์เคิล ได้แก่ อานน์เกร็ต ครัมป์-คาร์เรนเบาเออร์ เลขาธิการพรรค รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เยนส์ สปาห์น ซึ่งเคยออกมาวิจารณ์ แมร์เคิล อยู่บ่อยๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเปลี่ยนผ่านในอีก 3 ปีข้างหน้านั้นยาวนานพอสมควรในแง่ของการเมือง และแม้แต่แกนนำพรรค CDU เองก็ไม่แน่ใจว่า แมร์เคิล จะสามารถรั้งอำนาจอยู่ได้จนกระทั่งหมดวาระหรือไม่
การอำลาตำแหน่งนายกฯ ของ แมร์เคิล อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ หากพรรค SPD ตัดสินใจไขก๊อกล้มรัฐบาลก่อนปี 2021
อันเดรีย นาห์เลส ประธาน SPD ออกมาขู่ว่าพรรคของเธออาจถอนตัวออกจากการเป็นรัฐบาลผสมร่วมกับแมร์เคิล หลังทำผลงานย่ำแย่ที่รัฐเฮสเซินเมื่อวันอาทิตย์ (28 ต.ค.) แต่ถึงกระนั้นเธอก็ยังเคารพในการตัดสินใจวางมือของ แมร์เคิล และยอมรับว่าผู้นำหญิงรายนี้อุทิศตนเพื่อพรรค CDU อย่างล้นเหลือ
นักวิเคราะห์บางคนเตือนว่า การที่ แมร์เคิล ประกาศยุติบทบาทนายกรัฐมนตรีในปี 2021 อาจสร้างความระส่ำระสายหรือทำให้เกิดภาวะชะงักงันขึ้นในสหภาพยุโรป
เซบาสเตียน มิลลาร์ด ผู้อำนวยการสถาบันคลังความคิด Jacques Delors ให้ความเห็นว่า คำพูดของ แมร์เคิล “จะไม่เป็นที่รับฟังอีกต่อไปในยุโรป เพราะเท่ากับเธอประกาศถอนตัวออกจากเกมแล้ว” ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นองค์กรบริหารอียูมองว่า คำประกาศของ แมร์เคิล ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย และคงไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างปัจจุบันทันด่วน
แมร์เคิล ยืนยันเมื่อวันอังคาร (30) ว่าแผนอำลาการเมืองจะไม่ทำให้อำนาจต่อรองของเธอในเวทีโลกลดลงแต่อย่างใด และการสละตำแหน่งหัวหน้าพรรค CDU ในเดือน ธ.ค. กลับจะช่วยให้เธอสามารถทุ่มเทเวลาให้กับงานบริหารประเทศได้มากขึ้นเสียอีก