xs
xsm
sm
md
lg

รบ.เกาหลีใต้วอนสหรัฐฯ ผ่อนปรนจากมาตรแซงก์ชั่น ‘อิหร่าน’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ - รัฐบาลเกาหลีใต้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ‘ผ่อนปรนขั้นสูงสุด’ เพื่อช่วยเหลือบริษัทโสมขาวที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่จะเริ่มบังคับใช้ในเดือนหน้า

สหรัฐฯ จะเริ่มคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบอิหร่านตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. ตามคำสั่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งต้องการบีบให้เตหะรานยอมตัดทอนกิจกรรมนิวเคลียร์และโครงการขีปนาวุธลงมากกว่าเดิม

เกาหลีใต้ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในลูกค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิหร่านในเอเชียได้หยุดนำเข้าน้ำมันดิบจากเตหะรานแล้ว ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ในแดนโสมก็ทยอยบอกเลิกข้อตกลงทางธุรกิจกับอิหร่าน เนื่องจากความยากลำบากในการทำธุรกรรมการเงิน

คัง คยุงฮวา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ได้วิงวอนขอการผ่อนผันจากวอชิงตันระหว่างที่พูดคุยโทรศัพท์กับ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

“รัฐมนตรี คัง ขอร้องให้สหรัฐฯ ยอมยืดหยุ่นให้มากที่สุด เพื่อให้เกาหลีใต้ได้รับการยกเว้น และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทของเรา” กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้แถลง

พอมเพโอ ยืนยันว่าเข้าใจจุดยืนของเกาหลีใต้ และพร้อมที่จะพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เริ่มไม่สู้ดี โดยนอกจากเรื่องบทลงโทษอิหร่านแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายยังเห็นต่างในเรื่องของการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือด้วย

รัฐบาลเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้เปิดเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการแซงก์ชั่นอิหร่าน โดยทั้ง 2 ชาติเคยได้รับการยกเว้นจากบทลงโทษอิหร่านครั้งก่อนซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2016 แต่ครั้งนี้วอชิงตันหันมาใช้แนวทางแข็งกร้าวกว่าเดิม

บริษัทเกาหลีใต้ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ โดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมันในตะวันออกกลางที่แพงขึ้น รวมถึงความสุ่มเสี่ยงในการค้าขายกับอิหร่าน

เกาหลีใต้ลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านจนเป็น ‘ศูนย์’ เมื่อเดือน ก.ย. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2012

อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรของ ทรัมป์ ยังอาจทำให้บริษัทเกาหลีใต้เผชิญปัญหาในการทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินดอลลาร์ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน

เมื่อวันจันทร์ (29) บริษัท ฮุนได เอ็นจิเนียริง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ได้ประกาศยกเลิกสัญญาก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในอิหร่าน มูลค่า 595,000 ล้านวอน เนื่องจากขาดเงินสนับสนุน และในเดือน มิ.ย. บริษัท แดลิม อินดัสเตรียล ก็ขอยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันในอิหร่านมูลค่า 2.23 ล้านล้านวอน เนื่องจากปัญหาเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น