สถานการณ์ความมั่นคงในเอเชียและยุโรปยังต้องจับตากันอีกยาวๆ เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศจะละทิ้งสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty – INF) ที่ทำร่วมกับรัสเซียไว้ในยุคสงครามเย็น ถือเป็นการปลดล็อคข้อจำกัดในการเพิ่มพูนคลังแสงนิวเคลียร์ของอเมริกา ขณะที่มอสโกเตือนว่าการตัดสินใจเช่นนั้นจะนำไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธซึ่งอันตรายต่อความมั่นคงของโลก
สหรัฐฯ และรัสเซียลงนามสนธิสัญญา INF เมื่อปี 1987 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ และอดีตประธานาธิบดี มิกาอิล กอร์บาชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต โดยสัญญาฉบับนี้กำหนดให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องปลดประจำการขีปนาวุธนิวเคลียร์ชนิดยิงจากพื้นดินพิสัยใกล้และกลาง รวมถึงขีปนาวุธดั้งเดิมทั้งหมดที่มีอยู่ในยุโรป
รัฐบาล ทรัมป์ กล่าวหามอสโกว่าละเมิดข้อตกลง INF ด้วยการใช้ระบบขีปนาวุธ โนเวเตอร์ 9M729 ซึ่งมีพิสัยเดินทางระหว่าง 500-5,500 กิโลเมตร
ทรัมป์ ยอมรับว่าการถอนตัวจาก INF นั้นเป็นไปเพื่อรับมือ ‘จีน’ ด้วยส่วนหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาปักกิ่งไม่ได้เป็นภาคีข้อตกลงฉบับนี้ และมีสิทธิ์พัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
“ถ้ารัสเซียกำลังพัฒนาขีปนาวุธ และจีนก็ทำอยู่เช่นกัน แต่เรามัวแต่ปฏิบัติตามข้อตกลงฝ่ายเดียว มันเป็นสิ่งที่รับไม่ได้” ทรัมป์ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (21 ต.ค.)
เจ้าหน้าที่อเมริกันแสดงความกังวลตลอดหลายปีมานี้ว่า กองกำลังนิวเคลียร์ภาคพื้นดินของจีนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมีประสิทธิภาพซับซ้อน ในขณะที่เพนตากอนทำไม่ได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขในสนธิสัญญา INF กับรัสเซีย
แม้การถอนตัวจากสนธิสัญญา INF กับรัสเซียจะช่วยให้สหรัฐฯ มีหนทางต่อกรกับเทคโนโลยีจรวดของจีนมากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการแข่งขันด้านอาวุธที่จะกระพือความตึงเครียดทางทหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
แดน บลูเมนทัล อดีตเจ้าหน้าที่เพนตากอนซึ่งปัจจุบันทำงานกับสถาบัน American Enterprise Institute (AEI) ชี้ว่า สหรัฐฯ จะสามารถส่งระบบขีปนาวุธติดตั้งบนรถบรรทุกซึ่งง่ายแก่การเคลื่อนย้ายและซ่อนเร้นเข้าไปยังเกาะกวมหรือประเทศพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น หากปราศจากข้อผูกมัดของ INF
ในสถานการณ์เช่นนั้น จีนจะต้องชั่งใจหนักขึ้นหากคิดยิงโจมตีเรือรบหรือฐานทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาค และอาจกระตุ้นให้ปักกิ่งต้องทุ่มเงินพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธเพิ่มขึ้นเพื่อแข่งขันกับอเมริกา
สหรัฐฯ มองว่าจีนมีกองกำลังขีปนาวุธที่น่าเกรงขามขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ DF-26 ซึ่งเป็นขีปนาวุธพิสัยกลาง (IRBM) ที่สามารถเดินทางได้ไกลสุดถึง 4,000 กิโลเมตร มากพอที่จะโจมตีดินแดนหรือฐานทัพของสหรัฐฯ บนเกาะกวม
จีนได้เริ่มประจำการะบบขีปนาวุธชนิดนี้เมื่อปี 2016
รัฐบาลจีนประกาศเมื่อวันอังคาร (22) ว่ารับไม่ได้กับการ ‘แบล็คเมล์’ ของสหรัฐฯ โดยนาง หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า “พอสหรัฐฯ คิดจะถอนตัวออกจากข้อตกลงฝ่ายเดียว พวกเขาก็เริ่มพาดพิงถึงชาติอื่นๆ ในทางที่ไม่เหมาะสม... การโยนความผิดให้ผู้อื่นเช่นนี้ไม่ยุติธรรมและไร้เหตุผลสิ้นดี”
หัว เตือนด้วยว่า การที่สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจาก INF ฝ่ายเดียวนั้นอาจส่งผลเสียตามมามากมายหลายอย่าง และขอให้วอชิงตัน “คิดทบทวนสัก 3 ครั้งก่อนจะตัดสินใจทำอะไรลงไป”
จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ระบุว่าไม่แปลกใจที่จีนดูเหมือนจะต้องการให้สหรัฐฯ รักษาพันธกรณีตาม INF ต่อไป
“มันเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ถ้าผมเป็นจีนผมก็คงจะพูดแบบนั้น... สหรัฐฯ โดนผูกมัดโดยที่จีนไม่โดน ไม่ดีตรงไหนล่ะ?” เขากล่าว
ที่ผ่านมาสหรัฐฯ พึ่งพาศักยภาพอื่นๆ ในการถ่วงดุลกับจีน เช่น ขีปนาวุธที่ยิงจากเรือรบหรือเครื่องบิน เป็นต้น แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการจะป้องปรามขีปนาวุธภาคพื้นดินของจีนให้ได้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นต้องใช้ระบบขีปนาวุธสกัดกั้นภาคพื้นดินเช่นกัน
เคลลี แม็กซาเมน อดีตเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนในการกำหนดนโยบายเอเชียให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในยุคของ บารัค โอบามา ระบุว่าการที่จีนสามารถพัฒนาขีปนาวุธได้อย่างไร้ขีดจำกัดนั้นเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ กังวลมานาน ก่อนที่ ทรัมป์ จะเป็นประธานาธิบดีเสียอีก แต่เธอย้ำว่าการส่งขีปนาวุธนำวิถีไปประจำการในเอเชียนั้นจำเป็นต้องปรึกษาหารือและประสานงานกับชาติพันธมิตรอย่างรอบคอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ทรัมป์ ยังไม่เคยทำ
แม็กซาเมน เตือนว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะเกิดความระส่ำระสายหากสหรัฐฯ ถอนตัวจาก INF โดยไม่บริหารจัดการความคาดหวังของทุกฝ่ายอย่างดีพอ
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า จีนคงจะใช้อิทธิพลกดดันประเทศต่างๆ ให้ปฏิเสธข้อเรียกร้องขอใช้สถานที่ติดตั้งขีปนาวุธของสหรัฐฯ
อบราฮัม เดนมาร์ก อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเพนตากอนในยุคโอบามา ชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ จะส่งขีปนาวุธเข้าไปติดตั้งที่เกาะกวม ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งออสเตรเลีย ทว่าอเมริกาจะต้องตอบคำถามสำคัญๆ จากประเทศพันธมิตรให้ได้ด้วย
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่อเมริกันทั้งในอดีตและปัจจุบันเห็นตรงกันว่า สหรัฐฯ มีเหตุอันควรที่จะหวั่นเกรงภัยคุกคามจากขีปนาวุธจีน
พล.ร.อ.แฮร์รี แฮร์ริส อดีตผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ภาคแปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงโซล แถลงต่อวุฒิสภาเมื่อเดือน มี.ค. ว่า กองทัพสหรัฐฯ ตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบ เนื่องจากไม่มีระบบขีปนาวุธภาคพื้นดินที่จะใช้ข่มขู่จีนได้ แต่ก็ไม่ได้เสนอให้รัฐบาลถอนตัวจาก INF
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียแถลงเตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มอสโกพร้อมที่จะใช้มาตรการตอบโต้หากถูกคุกคาม แต่ยืนยันว่าจะไม่เป็นฝ่ายเริ่มต้นสงครามนิวเคลียร์ก่อน
แผนถอนตัวจาก INF ของ ทรัมป์ สร้างความวิตกกังวลเป็นพิเศษในยุโรปซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์หลักจากสนธิสัญญานี้ โดยเกรงกันว่าวอชิงตันอาจนำขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางกลับมาติดตั้งอีกครั้ง และมอสโกก็จะตอบโต้ด้วยการส่งขีปนาวุธนิวเคลียร์เข้าไปยังแคว้นคาลินินกราด (Kaliningrad) ซึ่งเป็นดินแดนส่วนแยกของรัสเซียริมทะเลบอลติก ทำให้ยุโรปต้องกลายเป็นสนามรบนิวเคลียร์อีกหน