เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – ในวันจันทร์(22 ต.ค) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด ให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตทายาทของตัวเองว่า ไม่มีการรับรองให้โดยยกตัวอย่างไปถึงอดีตผู้นำ อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี ที่สร้างความผิดหวังให้ เป็นการให้สัมภาษณ์ก่อนที่ผู้นำแดนเสือเหลืองจะบินมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 วัน และมีการเข้าพบกับผู้นำไทย นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงค่ำวันนี้(24 ต.ค)
หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สของสิงคโปร์รายงานเมื่อวานนี้(23 ต.ค)ว่า ผู้นำมาเลเซียให้สัมภาษณ์อย่างเปิดอกในวันจันทร์(22)ถึงอนาคตทายาททางการเมืองของเขา ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า อันวาร์ อิบราฮิม ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งซ่อมเข้าสู่รัฐสภามาเลเซียได้สำเร็จนั้นเป็นทายาทสายตรง
แต่อย่างไรก็ตามพบว่า มหาเธร์ โมฮัมหมัด กลับกล่าวว่า เขาไม่สามารถให้คำรับรองใดๆแก่ทายาททางการเมืองได้
“ผมไม่สามารถให้การันตีได้ เพราะเมื่อครั้งผมเลือกอับดุลลาห์ (อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี) ผมคิดว่าเขาคงจะดีเพราะเขาเคร่งศาสนา แต่ดูในสิ่งที่เขาทำสิ” มหาเธร์กล่าวเหมือนส่งสัญญาณไปให้กับทายาททางการเมืองคนปัจจุบันรับรู้
และกล่าวต่อว่า “และเขาได้เลือกคนมาแทนคือ นาจิบ(อดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค) และบุตรชายของเขา(อับดุล ราซัค ฮุสเซน(Abdul Razak Hussein)) ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ แน่นอนที่สุด เขาจะต้องเป็นคนที่ดีแน่”
มหาเธร์กล่าวอีกว่า “และดูสิ่งที่ได้เกิดขึ้น”
หนังสือพิมพ์สิงคโปร์รายงานว่า ผู้นำแดนเสือเหลืองกล่าวให้สัมภาษณ์ระหว่างเข้าร่วมงานสัมนาไบคารา มินดา ซีนาร์ ฮาเรียน ฟอรัม( Bicara Minda Sinar Harian forum) ที่มีนักข่าวและอดีตประธานกรรมการสื่อมีเดีย พรีมา(Media Prima)โจฮาน จาฟฟาร์( Johan Jaaffar) ร่วมงานซึ่งเกิดขึ้นวันจันทร์(22) ก่อนวันที่ผู้นำแดนเสือเหลืองจะเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 วันโดยเริ่มตั้งแต่วันนี้(24)
ในการให้สัมภาษณ์ภายในงาน มหาเธร์ยอมรับว่า วันหนึ่งข้างหน้าเขาจะลงจากตำแหน่งผู้นำมาเลเซียอย่างแน่นอน และนั่นเป็นสิ่งที่ทางมหาเธร์กล่าวว่าสามารถให้คำมั่นได้ว่า "อันวาร์ อิบราฮิม" จะเป็นผู้ที่รับไม้ต่อหลังจากนั้น
“ผมจะไปในวันหนึ่งข้างหน้า และจะมีผู้เข้ามารับทำหน้าที่แทน และหากว่าประชาชนต้องการ อันวาร์ อิบราฮิม พวกเขามีสิทธิ์ที่จะได้อันวาร์” มหาเธร์กล่าว
และมหาเธร์ในวัย 93 ปีได้กล่าววาทะก้องโลกอีกครั้ง “ผมไม่สามารถการันตีได้...แต่ในสิ่งที่ผมจะทำได้คือผมสัญญาว่าหลังจากที่ผมลาออกแล้ว อันวาร์จะรับทำหน้าที่ต่อ แต่ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะเป็นผู้เลือกเท่านั้น”
ทั้งนี้สื่อมาเลเซีย สตาร์ออนไลน์ รายงานว่า ในวันนี้(24) ผู้นำมาเลเซียพร้อมกับภริยา ดร. ซิตี ฮาสมาห์ โมห์ด อาลี(Dr. Siti Hasmah Mohd Ali) ได้เดินทางมาถึงท่าอากาศยานดอนเมืองของในส่วนของกองทัพอากาศ เทอร์มินัล 2 ปีก 6 ตามเวลาท้องถิ่นมาเลเซียคือ 12.30 น.
และได้มีผู้รอต้อนรับคือรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ จากฝ่ายไทย หลังจากนั้นขบวนของผู้นำแดนเสือเหลืองได้เคลื่อนไปยังโรงแรมแชงกรี-ลา อันเป็นที่พักรับรองในระหว่างอยู่ในไทยเป็นเวลา 2 วัน
สื่อแดนเสือเหลืองรายงานว่า ในช่วงค่ำทางนายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีการพบปะหารือของผู้นำทั้งสองฝ่ายในระดับทวิภาคี และจะมีการแถลงข่าวร่วมหลังจากนั้น
โดยในรายงานจากสื่อไทยพบว่า เวลา 17.00 น. ตามเวลาในไทย ผู้นำไทยพร้อมภริยานายกฯให้การต้อนรับ โดยมีการร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศบริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า
สำหรับพลเอกประยุทธ์ได้กล่าวว่า ในนามรัฐบาลไทยยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ให้การต้อนรับมหาเธร์ และภริยาในการเดินทางไปเยี่ยมอย่างเป็นทางการ
มหาเธร์ถือเป็นผู้นำอาวุโสของภูมิภาคและของโลก ตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ตนและนายกฯ มาเลเซีย ได้หารือข้อราชการร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางและประเด็นในการสร้างทศวรรษใหม่แห่งความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า ท่ามกลางสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศมีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะจากการแข่งขันของชาติมหาอำนาจประเทศในภูมิภาคจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน
และทางผู้นำไทยยังย้ำว่า ทั้งไทยและมาเลเซียจะต้องร่วมมือกันเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและร่วมมือกันผลักดันความร่วมมือในกรอบอาเซียน
และสำหรับประเด็นหารือ นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่า ตนและนายกมาเลเซียได้หารือร่วมกันใน 3 ประเด็นสำคัญคือ
1.การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และความร่วมมือด้านความมั่นคง พบว่าฝ่ายไทยและมาเลเซียมีความเห็นตรงกันว่า เป็นผลประโยชน์ร่วมที่ปัญหาจังหวัดใช้แดนภาคใต้จะต้องได้รับการแก้ไข โดยประยุทธ์กล่าวว่า ได้แจกแจงให้ทางมหาเธร์ฟังถึง “แนวทางและนโยบาย” ของทางฝ่ายไทย รวมถึงความคืบหน้า
ผู้นำไทยย้ำกับผู้นำมาเลเซียว่า “ไทยถือว่าปัญหาจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาภายใน” แต่ยังเปิดช่อง โดยชี้ว่าทางไทยพร้อมต้องการร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาง่ายดายมากขึ้น
และในขณะเดียวกันทั้ง 2 ประเทศตกลงที่จะขยายความร่วมมือในการเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเศรษฐกิจ และประเด็นความมั่นคง โดยเฉพาะประเด็นการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด และการค้ามนุษย์
2.และสำหรับด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงกับแนวชายแดน ทางพลเอกประยุทธ์กล่าวว่า เป็นผู้เสนอต่อมหาเธร์ โมฮัมหมัด ให้ทั้ง 2 ชาติยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของสองประเทศ
โดยในการแถลงข่าวผู้นำไทยประกาศว่า ทั้ง 2 ชาติตกลงผลักดันโครงการความร่วมมือที่คั่งค้าง โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดน การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน และการส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน
โดยทางผู้นำไทยจะมอบให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีภายในต้นปีหน้าเพื่อดูงานที่คั่งค้างและผลักดันเรื่องต่างๆ ที่คืบหน้า
3.ความร่วมมือในกรอบอาเซียน พลเอกประยุทธ์รับว่า ทั้งตัวเขาและทางมหาเธร์ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยทุกฝ่ายได้ปวารณาที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในปี 2562 ซึ่งทางไทยรับทำหน้าที่ประธานอาเซียน
โดยทางฝ่ายผู้นำมาเลเซียเห็นพ้องว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนในวันนี้จะต้องร่วมมือกันบริหารจัดการความท้าทายต่างๆ สร้างความเป็นปึกแผ่น และสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือกับนานาประเทศ ให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรือง
สื่อไทยยังรายงานโดยชี้ว่า ฝ่ายผู้นำแดนเสือเหลืองเปิดใจถึงการมาเยือนไทยครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งว่า มาเยือนไทย เพราะอยากสร้างความคุ้นเคยกับอาเซียน หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งฝ่ายมาเลเซียต้องขอขอบคุณนายกฯ และรัฐบาลไทยสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น และการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา
ทางมหาเธร์ยังกล่าวต่อว่า ทางเราไม่มีปัญหาระหว่างกัน และเรามีประวัติศาสตร์ความร่วมมือในอดีต ซึ่งมาเลเซียเคยมีปัญหาและไทยได้ให้การสนับสนุนเพื่อยุติปัญหาดังกล่าว ก็ขอขอบคุณไทยในด้านนี้
และสำหรับปัญหาชายแดนใต้ ทางมหาเธร์ได้ตอบพลเอกประยุทธ์กลับไปว่า ทั้งนี้ปัจจุบันไทยมีปัญหาชายแดนใต้ เราก็ยินดีที่จะช่วยไทยในทุกด้านเพื่อแก้ไขความรุนแรง และตนก็มั่นใจว่า ด้วยว่าความร่วมมือของสองประเทศจะทำให้สามารถแก้ไขและลดปัญหานี้ได้
ซึ่งผู้นำแดนเสือเหลืองได้ย้ำในจุดนี้ว่า และเห็นว่าการแสดงมิตรภาพไม่ใช่แค่การพูดคุย แต่ต้องเป็นการปฏิบัติอย่างแท้จริงในฐานะมิตรที่ใกล้ชิด
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวเลยไปถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง 2 ชาติ การค้าระหว่างไทย-มาเลเซียใน ปี 2018 มีมูลค่าสูงขึ้น 17 % มูลการค้า 14,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเราสามารถเพิ่มมูลค้าการค้าได้ เมื่อแก้ด่านศุลกากร ที่ปัจจุบัน มีจุดผ่านแดน 4 ด่าน ที่รัฐกลันตัน 2 ด่าน และรัฐเคดาห์ และรัฐเปอร์ลิส
ซึ่งทางผู้นำแดนเสือเหลืองได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติว่า
เราควรพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกการไปมาหาสู่ของประชาชนทั้งสองฝ่าย เพื่อที่จะบรรลุตามเป้าหมายนี้ โดยเราจะเปิดด่านศุลกากร 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้า
และทางมหาเธร์ได้ย้ำว่า และเราพร้อมที่จะสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีอุปสรรค ในทุกทางที่เป็นไปได้ อย่างกรณีประชาชนถือ 2สัญชาติ ต้องมีความพยายามแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดการค้ามนุษย์และการขนส่งสินค้าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งดูเหมือนเป็นการตอบในภาพกว้างของผู้นำแดนเสือเหลืองเท่านั้น
ส่วนประเด็นประชาคมอาเซียนนั้น ทางมหาเธร์กล่าวว่า ทั้งนี้เราเห็นว่า ประชาคมอาเซียนมีความแข็งแกร่ง มีประชากรกว่า 600 ล้านคน ด้วยความต้องการทางทรัพยากรต่างๆ อาเซียนควรเป็นตลาดภายในของทุกประเทศ โดยเราจะหารือประเด็นดังกล่าวในการพูดคุยอาเซียนครั้งต่อไป
ทางผู้นำมาเลเซียได้ชี้แจงถึงวิธีการที่เชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ ก็ด้วยจากการที่ผู้นำควรร่วมกันหารือบ่อยครั้ง และในระดับผู้แทนควรจะหารือเพื่อแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างกัน เชื่อว่าเราจะสามารถยกระดับกระบวนการต่างๆในการข้ามพรมแดน
ในตอนท้ายผู้นำมาเลเซียได้กล่าวว่า ทั้งนี้ตนยินดีอย่างยิ่งที่จะสร้างมิตรภาพกับพล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่าผู้นำที่มีความใกล้ชิดระหว่างกันจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างสำเร็จ
ทั้งนี้สื่อมาเลเซียรายงานว่า มหาเธร์ โมฮัมหมัดจะเดินทางกลับมาเลเซียในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี(25)